ผู้ปกครองและครูต้องแก้ไขปัญหาเด็กร่วมกัน : ม.ณรงค์ ปั้นทอง

ผู้เขียน : ม.ณรงค์ ปั้นทอง
product

ผู้ปกครองและครูต้องแก้ไขปัญหาเด็กร่วมกัน

ม.ณรงค์ ปั้นทอง ใน อุโฆษสาร 1972 หน้า 223 - 226

 


 

       สภาพสังคมของเราในปัจจุบันนี้ โดยทั่วไป มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร การเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างผิดหูผิดตา สภาพครอบครัวอยู่กันอย่างแออัด ทุก ๆ คนต้องดิ้นรนประกอบอาชีพเพื่อให้มีรายได้มาช่วยดำรงชีวิต แม้แต่ในครอบครัว ความสัมพันธ์กันในครอบครัวไม่เหมือนสมัยก่อน พ่อแม่ ต้องไปทำงานนอกบ้านเพื่อช่วยกันหารายได้ ไม่มีเวลาเลี้ยงดูหรืออบรมสั่งสอนบุตรธิดาของตน เด็กบางคนได้พบหน้าพ่อแม่เพียง 2 - 3 ชั่วโมงในตอนเย็นเท่านั้น บางคนหนักยิ่งไปกว่านั้น หนึ่งสัปดาห์อาจได้พบหน้าพ่อหรือแม่เพียงครั้งสองครั้ง เพราะพ่อไปทำงานแต่เช้าตรู่ ลูกยังไม่ตื่น ส่วนตอนเย็น กว่าพ่อ (หรือแม่) จะกลับถึงบ้านลูกก็นอนหลับไปหมดแล้ว นอกจากวันไหนพ่อก๊งหนัก อาจจะตื่นสายก็ได้พบหน้ากัน ดังนั้น ความอบอุ่นที่จะได้รับจากบิดามารดาจะไม่มี เด็กจะอยู่ในความรับผิดชอบของพี่เลี้ยงหรือคนใช้ตลอด ซึ่งคนใช้เหล่านั้นก็ไม่รู้สภาพความต้องการของเด็กได้ตลอด บางครั้งอาจทุบตีหรือทรมานจิตใจเด็กจนเกินควร ครั้นเด็กเติบโตขึ้นมา พ่อแม่ก็โยนความรับผิดชอบไปให้โรงเรียน - ครูที่ทำการสอน เพราะในแต่ละวัน เด็กต้องใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียนอย่างน้อยก็วันละ 8 ชั่วโมง เป็นการรับภาระของพ่อแม่ไปได้มาก ดังนั้น พ่อแม่อาจได้พบหรือพูดคุยกับลูกเพียงวันละ 1 - 2 ชั่วโมงในตอนค่ำเท่านั้น เพราะตอนเช้าก็เป็นหน้าที่ของพี่เลี้ยง กลางวันเป็นหน้าที่ของโรงเรียน บิดามารดาของเด็กบางคนถึงกับพูดว่า โรงเรียนก็คือสถานที่รับเลี้ยงเด็ก ขณะที่บิดามารดาของเด็กไม่อยู่บ้านนั่นเอง ดังนั้น ความรับผิดชอบเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเด็กจึงโยนมาให้โรงเรียนหมด เมื่อเกิดปัญหาใดใดขึ้นมาก็โทษทางโรงเรียนว่าไม่เอาใจใส่ไม่อบรมบุตรของตน ทำให้ความสัมพันธ์อันดีระหว่างบ้านกับโรงเรียนสลายไป

 

ผู้ปกครองของเด็กบางคน ไม่ทราบความเป็นไปของเด็กระหว่างที่อยู่โรงเรียนเลย ไม่รู้ว่า

  • การเรียนดีหรืออ่อน
  • ความประพฤติดีหรือไม่
  • มาโรงเรียน - เรียนทุกวัน, หรือหนีเรียน
  • การบ้านทำหรือเปล่า
  • อุปกรณ์การเรียน เครื่องแต่งกายครบหรือไม่
  • สุขภาพของเด็กปรกติดีหรือไม่
  • ฯลฯ

 

       มิหนำซ้ำ ผู้ปกครองบางคนยังถูกเด็กหลอกให้อีกในอีกหลาย ๆ ประการ บางครั้งอาจมีเรื่องราวต่าง ๆ ที่ทางโรงเรียนต้องติดต่อกับผู้ปกครอง แต่เด็กก็หาได้บอกผู้ปกครองไม่, มีการเซ็นลายมือปลอมในใบลา และใบรับทราบต่าง ๆ ที่ทางโรงเรียนรับไปให้ แม้แต่ในสมุดรายงานประจำตัวของนักเรียน ผู้ปกครองบางคนไม่เคยเห็นเลย

 

       เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของสังคมในด้านต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว อาจทำให้เด็กบางคนไม่สามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้ ตัดสินใจไม่ถูก เพราะขาดผู้แนะนำทางบ้าน เด็กบางคนประพฤติตัวไม่เหมาะสมหรือมีความประพฤติแปลก ๆ มีปัญหาทางการเรียน ขาดเรียนบ่อย หนีเรียน สอบตก สุขภาพไม่ดี ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้ย่อมจะเกิดขึ้นได้บ่อและหนักยิ่งขึ้น ถ้าทางบ้านและโรงเรียนไม่ร่วมมือกันแก้ไข หรือทางบ้านไม่ร่วมมือกับทางโรงเรียน ก็จะทำให้การสอนของครูไม่บรรลุตามเป้าหมาย ผลเสียก็ตกอยู่กับเด็กซึ่งต้องรับกรรมต่อไป

 

       มีปัญหามากมายหลายประการที่ทางโรงเรียนและทางบ้าน ควรจะได้ร่วมมือกันแก้ไข เพื่อให้เด็กได้มีชีวิตอยู่ในสังคมด้วยความสุข ข้าพเจ้าอยากจะขอยกปัญหาที่สำคัญบางประการมาร่วมมือกันแก้ไข

 

1.ปัญหาเรื่องการเรียน เด็กบางคนได้คะแนนต่ำ เรียนไม่ทันเพื่อน อ่านหนังสือช้า ทำเลขไม่ค่อยได้ ไม่ชอบทำการบ้าน ภาษาอังกฤษไม่ไหวเลย ฯลฯ ปัญหาเล่านี้ที่เห็นกันอยู่ทั่วไป ครูก็มักจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยกวดขันการเรียนให้หนักยิ่งขึ้น ถ้าขี้เกียจก็ทำโทษ ทางผู้ปกครองก็ดุว่า เฆี่ยนตี หรือให้เรียนพิเศษตอนเย็น หรือวันหยุด ซึ่งจะไม่เกิดผลขึ้นมาเลยนอกจากจะทำให้เด็กได้เบื่อการเรียนขึ้นไปอีก ผู้ปกครองและครูควรร่วมมือกันแก้ไข รู้ปัญหาและหาทางแก้ไขทั้งสองฝ่าย เด็กจะทำงานมากไปโดยไม่มีเวลาดูหนังสือ หรือดูทีวีมากไป สุขภาพไม่ดี ไม่ใช่จู่ ๆ ทางบ้านก็หาว่าครูสอนไม่ดี หรือทางโรงเรียนก็ว่า เด็กขี้เกียจ ควรจะเข้าใจถึงปัญหาส่วนประกอบต่าง ๆ ด้วย

 

2.ปัญหาสิ่งแวดล้อมทางบ้าน ในโรงเรียนหลายแห่งจะพบเด็กบางคนที่มาจากครอบครัวไม่มั่นคง บิดามารดาแยกกันอยู่ ทะเลาะวิวาทกัน ขี้เมา ชอบเล่นการพนัน หรือพ่อแม่มีธุรกิจการงานมากเกินไป ไม่มีเวลาที่จะมาสนใจลูก เด็กขาดพ่อ หรือ แม่ พวกนี้จะไม่ค่อยได้รับความรักความอบอุ่นจากทางบ้าน เมื่อมาโรงเรียน ถ้าโชคดีก็อาจจะได้รับความช่วยเหลือจากครู ก็อาจจะแนะแนวทางให้เด็กได้บ้าง แต่ถ้าเจอครูที่ไม่สนในเด็ก เด็กก็อาจเบื่อโรงเรียน หนีไปเที่ยว คบเพื่อนเกเรพาให้เสียคนไปเลย บิดามารดาควรเอาใจใส่เด็กพวกนี้ให้มาก ครูก็ควรที่จะได้ทำความเข้าใจกับบิดามารดาของเด็ด เพื่อที่จะได้แก้ไขให้ถูกจุดก่อนที่จะสายเกินไป

 

3.ปัญหาเรื่องอารมณ์ เด็กบางคนมีอารมณ์ที่รุนแรงจนแทบไม่น่าเชื่อ บางคนก็เฉื่อยชา บางคนก็มีความเกลียด ความกลัว หงุดหงิด โมโหง่าย พูดคำหยาบ ความอายฉุนเฉียว บางคนนั่งซึม ซักถามอะไรก็ไม่พูด ไม่เล่นหัวกับเพื่อน เด็กพวกนี้มีมาก ควรจะเข้าใจด้วยว่าการที่เด็กเรียนได้ไม่ดี เพราะเด็กอาจจะมีอารมณ์ต่าง ๆ แอบแฝงอยู่ในใจก็ได้ จึงควรหาทางที่จะให้เด็กได้คลายความอึดอัดเพื่อขจัดอารมณ์เหล่านั้นให้หมดไป ปัญหาเรื่องอารมณ์นี้เกิดขึ้นได้ทั้งที่บ้านและโรงเรียน เด็กอาจจะได้รับการตามใจมากเกินไปจากพ่อแม่ ต้องการสิ่งใดเป็นต้องได้ และนำนิสัยนั้นมาใช้ที่โรงเรียน เมื่อไม่ได้ดังใจก็อาจแสดงอะไรออกมาให้เห็น พ่อแม่ที่ขาดความรัก ทะเลาะกันบ่อยเด็กจะนำนิสัยมาใช้กับเพื่อนที่โรงเรียนได้ ความโกรธที่เด็กแสดงออก มักเกิดจากการที่ไม่ได้รับความยุติธรรมจากบิดามารดา ครู เพื่อนฝูง ทางบ้านและทางโรงเรียนใช้วิธีการปกครองที่ไม่ถูกไม่ควร

 

4.ปัญหาทางสุขภาพ มีเด็กหลายคนเรียนหนังสือได้ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากสุขภาพของร่างกายไม่ดี เช่น ปวดศีรษะบ่อย สายตาสั้น เป็นลมบ่อย ๆ เด็กบางคนหลับในห้องเรียน ไม่ตั้งใจเรียน ครูบางคนไม่เข้าใจเด็กก็ลงโทษ เฆี่ยนตี หรือดุด่า ทำให้เด็กหวาดกลัว หนีโรงเรียนในที่สุด ผู้ปกครองบางคนก็ทราบว่าบุตรของตนมีสิ่งใดผิดปรกติในร่างกายบ้าง เมื่อครูรายงานมาว่าเด็กขี้เกียจ ชอบแกล้งไม่สบายเมื่อทำงานไม่เสร็จ ก็ลงโทษเด็กซ้ำไปอีก ผู้ปกครองบางคนก็ทราบว่าบุตรของตนสุขภาพไม่ดี แต่ก็ไม่เคยพาไปให้หมอตรวจ หรือไม่เคยให้ทางโรงเรียนทราบเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ จะเห็นได้ชัดว่า เด็กอยู่ในภาวะที่ต้องถูกกดดันทั้งภายในบ้านและทางโรงเรียน การเรียนของเด็กจะดีขึ้นได้อย่างไร ครูและผู้ปกครองจำเป็นต้องร่วมมือกันศึกษาและให้ความสนใจเด็กร่วมกัน

 

       จากปัญหาต่าง ๆ ที่ยกมาพอเป็นตัวอย่างนี้พอที่จะเป็นแนวคิดและปฏิบัติสำหรับบิดามารดา ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ที่ติดต่อใกล้ชิดกับเด็ก การเข้าใจถึงปัญหาและความต้องการของเด็กย่อมจะช่วยให้การดำเนินชีวิตหรือการเรียนของเด็กได้ผลดียิ่งขึ้น ทางโรงเรียนก็อย่าโทษบ้าน ว่าทำให้เด็กมีปัญหา ทางบ้านก็อย่าหวังไว้จนสูงสุดว่า เด็กจะดีหรือไม่ย่อมอยู่ที่โรงเรียนฝ่ายเดียว เพราะสภาพของสังคมในปัจจุบันนี้มีอิทธิพลที่จะทำให้เด็กเสียไปได้ง่าย ๆ จึงควรที่ครู, โรงเรียน, ผู้ปกครอง, ทางบ้าน ควรจะได้ติดต่อใกล้ชิดกันให้มากขึ้น สมาคมผู้ปกครองและครูของโรงเรียนอัสสัมชัญ ที่จะถือกำเนิดขึ้นในไม่ช้านี้ก็คงมีจุดมุ่งหมายตรงกันในอันที่จะร่วมมือกันสร้างสรรค์ให้เด็กได้เจริญขึ้นทุกทาง และร่วมกันสร้างสรรค์สัมพันธภาพระหว่างบ้านและโรงเรียนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น .

 


Author: ม.ณรงค์ ปั้นทอง