LIBRARIA

About | Contact
en / th
  • Home
  • Timeline
  • Artifacts
  • Book
  • Contents
  • Navigation

  • Home
  • Timeline
  • Artifacts
  • Book
  • Contents
  • Home
  • Artifacts
  • ของสะสมที่ระลึก
  • เงินตรา
  • เหรียญกษาปณ์
  • เหรียญกษาปณ์ตราพระบรมรูป – ตราแผ่นดิน ชนิดราคาเฟื้อง

เหรียญกษาปณ์ตราพระบรมรูป – ตราแผ่นดิน ชนิดราคาเฟื้อง

อายุสมัย:
ร.ศ. 95 (พ.ศ. 2419/ค.ศ. 1876)
อ้างอิง:
1) กรมธนารักษ์. เหรียญกษาปณ์กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325 – 2525. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ยูไนเต็ดโปรดักชั่น, 2525 (จัดพิมพ์เพื่อร่วมเฉลิมฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี)
2) ไชยยศ พงศ์จารุสถิต. กษาปณ์เมืองสยาม. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2559.
3) สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง
ผู้ค้นคว้า:
สมศักดิ์ ฤทธิ์ภักดี
คำสำคัญ:
เหรียญกษาปณ์รุ่นแรกของไทยที่นำพระบรมรูปของพระมหากษัตริย์มาประทับบนหน้าเหรียญ มีลักษณะรูปแบบที่เป็นสากลนิยมแบบตะวันตก และเป็นเหรียญกษาปณ์ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชดำเนินมาทรงเปิดโรงกษาปณ์สิทธิการแห่งใหม่ในพระบรมมหาราชวัง และทรงเดินเครื่องผลิตเหรียญรุ่นนี้เป็นปฐมฤกษ์ อีกทั้งยังเหรียญกษาปณ์รุ่นที่มีการใช้ตราแผ่นดิน 2 แบบ

ด้านหน้า เป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครึ่งพระองค์ ผินพระพักตร์เบื้องซ้าย ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศพลเรือน ริมขอบเหรียญมีพระปรมาภิไธยว่า “สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”

ด้านหลัง เป็นรูปตราแผ่นดิน ประกอบด้วย พระมหาพิชัยมงกุฎเปล่งรัศมีรอบพระแสงจัก และพระแสงตรี ข้างใต้เป็นรูปอาร์ม แบ่งเป็น 3 ช่อง ช่องบนมีภาพช้างสามเศียร (ไอราพต) ช่องล่างซ้ายเป็นรูปช้างเผือกหันหน้าไปทางซ้าย ช่องล่างขวาเป็นรูปกริชไขว้ กระหนาบด้วยฉัตรสองข้าง ริมขอบซ้ายมีคำว่า “กรุงสยาม” ริมขอบขวามีคำว่า “รัชกาลที่ ๕” ริมขอบล่างมีข้อความบอกชนิดราคา “เฟื้องหนึ่ง” ไม่ปรากฎปีที่ผลิตออกใช้

        เหรียญกษาปณ์เงินชนิดนี้มีลักษณะเป็นเหรียญกลมแบน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 16 มิลลิเมตร มีส่วนผสมในอัตราส่วน เงิน 90 : ทองแดง 10 บริเวณหน้าเหรียญทั้งสองด้านมีภาพนูนต่ำ ขอบเหรียญมีเฟือง อยู่ในชุดเหรียญกษาปณ์เงินตราพระบรมรูป – ตราแผ่นดิน มี 3 ชนิดราคาขนาดต่างกัน ดังนี้

- ชนิดราคาบาท ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 31 มิลลิเมตร

- ชนิดราคาสลึง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 21 มิลลิเมตร

- ชนิดราคาเฟื้อง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 16 มิลลิเมตร

        ด้านหน้าเหรียญเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครึ่งพระองค์ ผินพระพักตร์เบื้องซ้าย ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศ มีพระปรมาภิไธย “สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ล้อมรอบอยู่บริเวณริมขอบเหรียญ ซึ่งมีลักษณะสอดคล้องกับพระบรมรูปของสมเด็จ พระราชินีนาถวิคตอเรีย บนเหรียญกษาปณ์ของประเทศอังกฤษในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งลักษณะการวางอักษรระบุพระนามไว้เป็นวงรอบเหรียญของในมีลักษณะเป็นฟันเลื่อย

        ด้านหลังเหรียญเป็นรูปตราประจำแผ่นดิน ซึ่งเป็นตราที่หม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย ผูกขึ้นในปี พ.ศ. 2416 เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงใช้เป็นตราประจำแผ่นดิน เป็นการจำเอาสิ่งสำคัญที่มีความหมายเกี่ยวกับ ชาติ ศาสนา แลพระมหากษัตริย์ มาประยุกต์เข้าไว้ ในตราเดียวกันได้อย่างลงตัว ซึ่งน่าจะประยุกต์มาจากตราประจำพระองค์ของพระเจ้า วิลเลี่ยมที่ 4 แห่งอังกฤษ มาประทับด้านหลังของเหรียญกษาปณ์เงินรุ่นนี้ สันนิษฐานว่า เป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่จะเสริมภาพลักษณ์ของประเทศสยามว่า มีอารยธรรมความเจริญทัดเทียมกับชาวตะวันตก ตราแผ่นดินดังกล่าวมีรายละเอียดมาก จึงใช้ในเหรียญกษาปณ์เงินชนิดราคาบาทเท่านั้น ด้านบนเป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎเปล่งรัศมีครอบพระแสงจักรตรี เบื้องล่างเป็นรูปอาร์ม แบ่งออกเป็น 3 ช่อง ได้แก่ช่องบนเป็นรูปช้างสามเศียร (ไอราพต) ช่องล่างซ้ายเป็นรูปช้างเผือกยืนแท่นหันไปทางซ้าย และช่องล่างขวาเป็นรูปกริชคดและกริชตรงสองอันไขว้กัน มีคชสีห์ และราชสีห์ ถือฉัตรกระหนาบสองข้าง ใต้รูปอาร์มมีพระสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์ พระสังวาลจุลจอมเกล้า และมีแถบจารึกคาถาสำหรับดวงตราอยู่ตอนล่างสุด เบื้องหลังเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ประกอบด้วย พระแสงขรรค์ชัยศรี พัดวาลวิชนีอยู่ข้างขวา ธารพระกรชัยพฤกษ์กับพระแส้จามรีอยู่ข้างซ้าย ฉลองพระบาทเชิงงอนอยู่ที่ฐานฉัตรทั้งสองข้าง ริมขอบซ้ายมีคำว่า “กรุงสยาม” ริมขอบขวามีคำว่า “รัชกาลที่ ๕” ริมขอบล่างบอกชนิดราคา “บาทหนึ่ง” และปีศักราชที่ผลิตตั้งแต่ ร.ศ. 120 เป็นต้นไป โดยแฝงความหมายไว้ดังนี้

  1. พระมหาพิชัยมงกุฎ พร้อมด้วยรัศมีและฉัตรเครื่องสูงสองข้าง หมายถึง ราชาธิปไตย

  2. พระแสงจักรและพระแสงตรี หมายถึง ราชวงศ์จักรี

  3. กรอบสี่เหลี่ยมคล้ายโล่ แบ่งออกเป็น 3 ช่อง ภายในมีภาพสัญลักษณ์สื่อความหมายถึง แผ่นดินหรือดินแดนสยามและประเทศราช ได้แก่ ช่องบนเป็นรูปช้างสามเศียร (ไอราพต) หมายถึง สยามเหนือ สยามกลาง และสยามใต้ รวมกันเป็นสยามประเทศ ช่องล่างซ้ายเป็นรูปช้างเผือกยืนแทน หมายถึง ประเทศราชล้านช้าง (ลาว) และช่องล่างขวาเป็นรูปกริชคดและกริชตรงสองอันไขว้กัน หมายถึง ประเทศราชมลายู

  4. ตราราชสีห์และคชสีถือฉัตรสองข้าง หมายถึง มหาไทยผู้เป็นไทยฝ่ายพลเรือน และกลาโหมผู้เป็นใหญ่ฝ่ายทหาร โดยทั้งสองฝ่ายเป็นเจ้าพนักงานคอยป้องกันราชอาณาจักร

  5. พระสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์ หมายถึง การนับถือพระพุทธศาสนา เพราะผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ต้องเป็นผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา และพระสังวาลจุลจอมเกล้า หมายถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำรุงสกุลวงศ์ ผู้มีบำเหน็จความชอบในบ้านเมือง

  6. พระคาถาภาษาบาลีที่อยู่ริมขอบเหรียญ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราช (สา) แห่งวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามทรงผูกไว้ แปลว่า “ความพร้อมเพรียงของชนผู้เป็นหมู่ ยังความเจริญให้สำเร็จ”

  7. เครื่องประดับตกแต่งเบื้องหลังเป็นเครื่องราชูปโภค มีฉลองพระองค์ครุยเป็นพื้นอย่างม่าน เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์วางอยู่โดยรอบ หมายถึง อำนาจของพระมหากษัตริย์

        สำหรับด้านหลังเหรียญกษาปณ์ชนิดราคาสลึงและชนิดราคาเฟื้องได้ใช้ ตราแผ่นดินที่ลดทอนรายละเอียดบางอย่างและใช้เฉพาะเหรียญกษาปณ์สองชนิดราคา รุ่นนี้เท่านั้น เรียกว่า “ตราแผ่นดินน้อย” โดยด้านบนเป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎเปล่งรัศมีครอบพระแสงจักร และพระแสงตรี ข้างใต้เป็นรูปอาร์ม แบ่งเป็น 3 ช่อง ประกอบด้วยช่องบนเป็นรูปช้างสามเศียร ช่องล่างเป็นรูปช้างเผือกหันหน้าไปทางซ้าย ช่องล่างขวาเป็นรูปกริชคด และกริชตรงไว้กัน เช่นเดียวกับตราแผ่นดินที่ใช้บนด้านหลังเหรียญกษาปณ์เงินชนิดราคาบาทกระหนาบด้วยฉัตรสองข้าง ริมขอบซ้ายมีคำว่า “กรุงสยาม” ริมขอบขวามีคำว่า “รัชกาลที่ ๕” ริมขอบล่างมีข้อความบอกชนิดราคา และปีที่ผลิตออกใช้

        มีข้อสังเกตว่า ตราแผ่นดินที่ใช้ในเหรียญกษาปณ์ชนิดราคาสลึงและเฟื้อง ถูกลดทอนให้มีเพียงพระมหาพิชัยมงกุฎเปล่งรัศมีและฉัตรกระหนาบสองข้างมีพระแสงจักรตรี และกรอบตราแผ่นดินมี 3 ช่องบรรจุรูปสัญลักษณ์ความเป็นพระมหากษัตริย์และพระบรมเดชานุภาพไว้ได้อย่างครบถ้วน ลักษณะของภาพบนหน้าเหรียญรับอิทธิพลทางคติจากตะวันตก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้แสดงให้เห็นว่าสยามประเทศเป็นประเทศที่เจริญแล้ว และมีประเทศราชที่อยู่ในการปกครองดูแลทัดเทียมกับชาติตะวันตก สันนิษฐานว่า เหรียญกษาปณ์เงินชนิดราคาเฟื้องเหรียญนี้เป็นที่ผลิตรุ่นแรกในปี พ.ศ. 2419 เนื่องจากที่ด้านหลังเหรียญไม่ปรากฏศักราชปีที่ผลิตออกใช้

 


หมายเหตุ เหรียญกษาปณ์เงินตราพระบรมรูป – ตราแผ่นดิน เริ่มผลิตครั้งแรกในปี พ.ศ. 2419 (ร.ศ. 95) โดยด้านหลังเหรียญที่ผลิตรุ่นแรกที่ผลิตจากโรงกษาปณ์สิทธิการแห่งใหม่ในพระบรมมหาราชวัง ไม่มีการระบุปีศักราชที่ผลิตออกใช้ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2444 (ร.ศ. 120) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการเติมเลขศักราช “รัตนโกสินทรศก” บนเหรียญตามอย่างสากล เพื่อให้ทราบปีที่ผลิตเหรียญออกใช้ โดยเหรียญกษาปณ์เงินตราพระบรมรูป – ตราแผ่นดิน เริ่มปรากฏปีศักราชที่ผลิตออกใช้ตั้งแต่ ร.ศ. 120 - 127


Related

Tag

×
  • Home
  • Timeline
  • Artifacts
  • Book
  • Contents
  • About
  • Contact

© 2017 Assumption. All right reserved.