LIBRARIA

About | Contact
en / th
  • Home
  • Timeline
  • Artifacts
  • Book
  • Contents
  • Navigation

  • Home
  • Timeline
  • Artifacts
  • Book
  • Contents
  • Home
  • Artifacts
  • ของสะสมที่ระลึก
  • เงินตรา
  • เหรียญกษาปณ์
  • เหรียญกษาปณ์ตราพระบรมรูป – ตราแผ่นดิน พ.ศ. 2493 ชนิดราคา 5 สตางค์ (สีทอง และสีเงิน)

เหรียญกษาปณ์ตราพระบรมรูป – ตราแผ่นดิน พ.ศ. 2493 ชนิดราคา 5 สตางค์ (สีทอง และสีเงิน)

อายุสมัย:
หรียญกษาปณ์ชนิดอะลูมิเนียมบรอนซ์หรือทองแดง (สีทอง) ออกใช้ในปี พ.ศ. 2497 (ค.ศ. 1954) และเหรียญกษาปณ์ชนิดดีบุก (สีเงิน) ออกใช้ในปี พ.ศ. 2494 (ค.ศ. 1951)
อ้างอิง:
1) กรมธนารักษ์. เหรียญกษาปณ์กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325 – 2525. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ยูไนเต็ดโปรดักชั่น, 2525 (จัดพิมพ์เพื่อร่วมเฉลิมฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี)
2) ไชยยศ พงศ์จารุสถิต. กษาปณ์เมืองสยาม. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2559.
3) สถาพร บุญเกตุ. กษาปณ์ไทย. กรุงเทพฯ: บริษัท ด่านสุทธาการพิมพ์ จำกัด, 2542.
4) สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง
ผู้ค้นคว้า:
สมศักดิ์ ฤทธิ์ภักดี
คำสำคัญ:
เหรียญกษาปณ์ตราพระบรมรูป – ตราแผ่นดิน พ.ศ. 2493 ชนิดราคา 5 สตางค์ ชนิดอะลูมิเนียมบรอนซ์หรือทองแดง และชนิดดีบุก จำนวน 2 เหรียญ เหรียญกษาปณ์ทั้งสอง

ด้านหน้า เป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ครึ่งพระองค์ ผินพระพักตร์เบื้องซ้าย ด้านซ้ายมีพระปรมาภิไธย “ภูมิพลอดุลยเดช” ด้านขวามีข้อความว่า “รัชกาลที่ ๙” เหมือนกันทั้งสองเหรียญ

ด้านหลัง เป็นรูปตราแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 5 ด้านบนมีข้อความว่า “รัฐบาลไทย” ด้านล่างมีอักษรและตัวเลขไทยบอกปีศักราช “พ.ศ. ๒๔๙๓” ด้านซ้ายมีเลขไทยบอกราคา “5” ด้านขวามีอักษรย่อบอกหน่วยราคา “สต.” เหมือนกันทั้งสองเหรียญ

         เหรียญกษาปณ์ตราพระบรมรูป – ตราแผ่นดิน พ.ศ. 2493 ชนิดราคา 5 สตางค์ ชนิดอะลูมิเนียมบรอนซ์หรือทองแดง และชนิดดีบุก จำนวน 2 เหรียญ เหรียญกษาปณ์ทั้งสองเป็นเหรียญกลมแบน ขอบเรียบ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15 มิลลิเมตร ผลิตจาก โรงกษาปณ์ไทย มีลักษณะทั่วไปเหมือนกัน ต่างกันที่ส่วนผสมและสีของเหรียญ เป็นเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนที่อยู่ในชุดเหรียญกษาปณ์ตราพระบรมรูป – ตราแผ่นดิน พ.ศ. 2493 ซึ่งผลิตออกใช้ในช่วงต้นรัชกาลที่ 9 มี 2 ชนิด ได้แก่

  1. เหรียญกษาปณ์ชนิดอะลูมิเนียมบรอนซ์หรือทองแดง (สีทอง) มีส่วนผสมทองแดงกับอะลูมิเนียมในอัตราส่วน 91 : 9 จำนวน 2 ชนิดราคา มีขนาดเหรียญลดหลั่นกันตามราคาหน้าเหรียญ ดังนี้

    1.1) ชนิดราคา 50 สตางค์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 23 มิลลิเมตร ขอบเฟือง

    1.2) ชนิดราคา 25 สตางค์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 20.5 มิลลิเมตร ขอบเฟือง

    1.3) ชนิดราคา 10 สตางค์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 17.5 มิลลิเมตร ขอบเรียบ

    1.4) ชนิดราคา 5 สตางค์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 15 มิลลิเมตร ขอบเรียบ

  1. เหรียญกษาปณ์ชนิดดีบุก (สีเงิน) มีส่วนผสมระหว่างดีบุกกับทองแดงในอัตราส่วน 91 : 9 จำนวน 2 ชนิดราคา มีขนาดเหรียญลดหลั่นกันตามราคาหน้าเหรียญ ดังนี้

2.1) ชนิดราคา 10 สตางค์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 17.5 มิลลิเมตร ขอบเรียบ

2.2) ชนิดราคา 5 สตางค์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 15 มิลลิเมตร ขอบเรียบ

         รูปที่ปรากฏบนหน้าเหรียญทั้งสองด้านเหมือนกันทุกชนิด ด้านหน้าเหรียญ ได้อัญเชิญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ครึ่งพระองค์ด้านซ้ายมีพระปรมาภิไธย “ภูมิพลอดุลยเดช” ด้านขวามีข้อความว่า “รัชกาลที่ ๙” ส่วนด้านหลังเหรียญ เป็นรูปตราแผ่นดิน (State Coat of Arms) สมัยรัชกาลที่ 5 ด้านบนมีข้อความว่า “รัฐบาลไทย” ด้านล่างมีอักษรและตัวเลขไทยบอกปีศักราช “พ.ศ. ๒๔๙๓” ด้านซ้ายมีเลขไทยบอกราคา ด้านขวามีอักษรย่อบอกหน่วยราคา “สต.”

         นับว่าเหรียญกษาปณ์ทั้งสองเป็นเหรียญกษาปณ์ชุดแรกในรัชกาลที่ 9 รัฐบาลประกาศออกใช้ครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2494 เนื่องจากในช่วงต้นรัชกาล รัฐบาลอนุญาตให้ใช้เหรียญกษาปณ์ที่ผลิตขึ้นในรัชกาลที่ 8 ที่มีมูลค่าต่ำและมีหมุนเวียนในระบบในจำนวนไม่มาก ภายหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในปี พ.ศ. 2493 เป็นช่วงเวลาบ้านเมืองสงบ รัฐบาลจึงดำริที่จะผลิตเหรียญกษาปณ์อะลูมิเนียมบรอนซ์หรือทองแดงขึ้น โดยใช้ทองแดง 91 %และอะลูมิเนียม 9% แต่เนื่องจากทองแดงยังมีราคาสูง จึงนำใช้ผลิดเฉพาะเหรียญกษาปณ์ชนิดราคา 50 สตางค์ และ 25 สตางค์ ส่วนเหรียญกษาปณ์ชนิดราคา 10 สตางค์ และ 5 สตางค์ ยังทำด้วยแร่ดีบุก โดยประกาศออกใช้ในปี พ.ศ. 2494 ต่อมาราคาแร่ทองแดงในตลาดโลกลดลง ประกอบกับ เหรียญกษาปณ์ดีบุกไม่เป็นที่นิยมของประชาชน รัฐบาลจึงยุติการผลิตเหรียญกษาปณ์ชนิดราคา 10 สตางค์ และ 5 สตางค์ จากดีบุก และเปลี่ยนมาผลิตด้วยทองแดง (อะลูมิเนียมบรอนซ์) มีอัตราส่วนผสมเดียวกับเหรียญกษาปณ์ชนิดราคา 50 สตางค์ และ 25 สตางค์ โดยรัฐบาลประกาศออกใช้เหรียญกษาปณ์อะลูมิเนียมบรอนซ์หรือทองแดง ชนิดราคา 5 สตางค์ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2497 และประกาศออกเหรียญกษาปณ์อะลูมิเนียมบรอนซ์หรือทองแดง ชนิดราคา 10 สตางค์ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2497 อนึ่ง ลักษณะของเหรียญกษาปณ์อะลูมิเนียมบรอนซ์หรือทองแดงนั้นมีสีทอง เนื่องจากส่วนผสมของทองแดงกับอะลูมิเนียมในอัตราส่วนนี้ ทำให้เห็นสีของเหรียญออกเป็นสีทองเหลืองแทนที่จะเป็นสีทองแดง

 


หมายเหตุ ในช่วงต้นรัชกาลที่ 9 รัฐบาลเตรียมการผลิตเหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (คิวโปรนิกเกิล) ชนิดราคา 1 บาท แต่ไม่อนุมัติให้ออกใช้ เนื่องจากในขณะนั้นยังใช้ธนบัตรราคาหนึ่งบาทในระบบอยู่แล้ว นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2497 รัฐบาลได้ผลิตและประกาศออกใช้ เหรียญกษาปณ์อะลูมิเนียมบรอนซ์หรือทองแดง ชนิดราคา 10 สตางค์และ 5 สตางค์ ภายหลังเหรียญกษาปณ์ดีบุกรุ่นแรก 4 ปี แต่ยังคงใช้ระบุปีศักราชบน หน้าเหรียญ “พ.ศ. ๒๔๙๓” ตามแบบเดิม จึงจัดเป็นเหรียญกษาปณ์ชุดเดียวกัน


Related

Tag

×
  • Home
  • Timeline
  • Artifacts
  • Book
  • Contents
  • About
  • Contact

© 2017 Assumption. All right reserved.