LIBRARIA

About | Contact
en / th
  • Home
  • Timeline
  • Artifacts
  • Book
  • Contents
  • Navigation

  • Home
  • Timeline
  • Artifacts
  • Book
  • Contents
  • Home
  • Artifacts
  • โสตวัสดุ อุปกรณ์
  • อุปกรณ์อื่นๆ
  • พิมพ์ดีด Olympia รุ่น SG3 แป้นพิมพ์ปัตตะโชติ

พิมพ์ดีด Olympia รุ่น SG3 แป้นพิมพ์ปัตตะโชติ

อายุสมัย:
พ.ศ. 2513 - 2521 (ค.ศ. 1970 - 1978)
อ้างอิง:
1) สมุดภาพ โรงเรียนอัสสัมชัญ อัสสัมชัญรวมรุ่นสมานมิตร 23 พฤศจิกายน 2556
2) http://typewriterdatabase.com/1972-olympia-sg3.3571.typewriter เข้าถึงเมื่อ 5 พ.ค. 61
3) http://typewriterdatabase.com/1979-olympia-sg3.7759.typewriter เข้าถึงเมื่อ 5 พ.ค. 61
4) https://www.olympiathai.com/about-us/ เข้าถึงเมื่อ 5 พ.ค. 61
5) http://oknation.nationtv.tv/blog/print.php?id=146681 เข้าถึงเมื่อ 5 พ.ค. 61
6) http://info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=5424&fbclid=IwAR3bYF2npHIUaThddtZzYYLBFGHb-oZtc19sYCSIfu3xn0z_COWEnxWjhkU เข้าถึงเมื่อ 30 ต.ค. 61
ผู้ค้นคว้า:
ณรัณฐ์ อัครนิธิพิรกุล
คำสำคัญ:
เครื่องพิมพ์ดีด, Olympia, หลักสูตรพิมพ์ดีด

          พิมพ์ดีด Olympia รุ่น SG3 แป้นพิมพ์ปัตตะโชติ เครื่องนี้ ประกอบด้วยสองส่วนหลักคือ 1. ส่วนแป้นพิมพ์อักษรไทยซึ่งอยู่ด้านหน้ามีหน้าที่เป็นแท่นเพื่อใช้กดตัวอักษร และ 2. ส่วนของกลไกพิมพ์ซึ่งรับแรงกดจากส่วนของแป้นพิมพ์เพื่อกดพิมพ์ไปบนแผ่นกระดาษที่รองด้วยแถบผ้าหมึก ส่วนของกลไลยังประกอบไปด้วยส่วนประกอบย่อยอื่นๆ อีก เช่น ก้านดีดตัวอักษร แถบผ้าหมึก แถบรองและลบ เป็นต้น โดยส่วนของกลไกทั้งหมดถูกครอบด้วยฝาโลหะ

          แป้นพิมพ์อักษรของเครื่องพิมพ์ดีดเครื่องนี้มีลักษณะพิเศษไม่เหมือนแป้นพิมพ์โดยทั่วไป หากเปรียบเทียบกับแป้นพิมพ์อักษรไทยทั่วไปบริเวณแป้นเหย้า (แป้นหลักที่ใช้ในการวางนิ้วก่อนการพิมพ์) จะขึ้นต้นด้วย ฟ ห ก ด...(แป้นพิมพ์เกษมณี) แต่สำหรับเครื่องพิมพ์ดีดเครื่องนี้ขึ้นต้นด้วย –้ ท ง ก... ซึ่งลักษณะแป้นพิมพ์เช่นนี้เรียกว่า “แป้นพิมพ์ปัตตะโชติ” คิดค้นโดยสฤษดิ์ ปัตตะโชติ เนื่องจากสฤษดิ์ได้ทำวิจัยแป้นพิมพ์เกษมณีที่คิดค้นโดยสุวรรณประเสริฐ เกษมณี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2474  พบว่ามีการใช้งานมือขวามากกว่ามือซ้าย และนิ้วก้อยขวาจะถูกใช้งานหนัก ด้วยเหตุนี้จึงได้ประดิษฐ์แป้นพิมพ์ปัตตะโชติขึ้น สำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2508 โดยเฉลี่ยให้ทั้งสองมือใช้งานเท่า ๆ กัน และให้ลำดับนิ้วที่ใช้บ่อยคือนิ้วชี้ แล้วไล่ลงไปที่นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อยที่ใช้งานน้อยที่สุด นอกจากนี้การวิจัยของสภาวิจัยแห่งชาติชี้ให้เห็นว่า แป้นพิมพ์ปัตตะโชติสามารถพิมพ์ได้เร็วกว่าแป้นพิมพ์เกษมณีถึง 25.8% และยังช่วยลดอาการปวดนิ้วมือจากการพิมพ์ได้ แต่เนื่องจากความเคยชินในการใช้แป้นพิมพ์เกษมณีที่แพร่หลายก่อนหน้านั้นแล้วจึงทำให้แป้นพิมพ์ปัตตะโชติไม่เป็นที่นิยมใช้

          บุคคลสำคัญท่านหนึ่งผู้ที่สนับสนุน สฤษดิ์ ปัตตะโชติ ในการคิดค้นแป้นพิมพ์ปัตตะโชติ คือ "อุดม อุดมผล" ราชาแห่งพิมพ์ดีดไทย ผู้ก่อตั้งบริษัทโอลิมเปียไทยและโรงเรียนสอนพิมพ์ดีดอุดมวิทยา นอกจากนี้ "รังสี อุดมผล" บุตรชายคนโตของ อุดม อุดมผล ซึ่งเป็นผู้บริหารบริษัทโอลิมเปียไทย ยังเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญ(อัสสัมชนิกเลขที่ 15023) อีกด้วย ราชาแห่งพิมพ์ดีดไทยผู้นี้เป็นผู้ขอให้บริษัทโอลิมเปียเยอรมนีทำเครื่องพิมพ์ดีดใหม่ โดยมี 2 แบบ ทั้งแบบแป้นพิมพ์เก่าคือ ฟ-ห-ก-ด-(ไม้เอก-ไม่สามารถพิมพ์ได้)-า-ส-ว และแป้นพิมพ์ "ปัตตะโชติ" คือ (ไม้โท)-ท-ง-ก-(สระอำ)-น-เ-ไ ให้อยู่รวมกับแป้นอักษรภาษาอังกฤษส่งผลให้สามารถพิมพ์สัมผัสทั้งสองภาษาได้ โดยในปี 2523 โรงงานโอลิมเปียจึงสร้างสำเร็จและผลิตออกขาย โดยกรมทะเบียนการค้าได้ให้สิทธิบัตรเมื่อปี 2525 แต่สำหรับเครื่องพิมพ์ดีดเครื่องนี้คงเป็นรุ่นก่อนที่โรงงานโอลิมเปียจะผลิตรุ่นสองภาษาออกขาย

          บริษัทโอลิมเปีย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2446 ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน ภายใต้การดูแลของ European General Electric (AEG) ในช่วงแรกบริษัทพยายามพัฒนาเครื่องพิมพ์ดีด แต่มีราคาแพงทำให้ขายไม่ดีนัก อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2455 บริษัทประสบความสำเร็จในการออกแบบเครื่องพิมพ์ดีดที่มีราคาไม่แพงนัก สองปีต่อมาบริษัทจึงได้ตั้งร้านค้าในเมืองเอียร์ฟอร์ต (Erfurt) ประเทศเยอรมนี ในปี พ.ศ. 2486 สงครามโลกครั้งที่สองส่งผลให้โรงงานในเมืองเอียร์ฟอร์ตถูกทิ้งระเบิดได้รับความเสียหายอย่างหนักผนวกกับกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรยึดเมืองไว้ได้ บริษัทจึงย้ายไปยังเยอรมนีตะวันตกและได้ตั้งโรงงานขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ. 2491 ในเมือง Wilhelmshaven หลังสงครามโลกผ่านไป เครื่องพิมพ์ดีด Olympia ประสบความสำเร็จอย่างมาก พบว่าในปี พ.ศ. 2504 ของเครื่องพิมพ์ดีดที่ใช้ในประเทศเยอรมนีประมาณครึ่งหนึ่งเป็นยี่ห้อ Olympia ช่วง พ.ศ. 2515 บริษัท Olympia เริ่มตระหนักถึงภัยคุกคามจากคอมพิวเตอร์ที่เริ่มเป็นที่นิยมในตลาด ส่งผลให้บริษัทเริ่มผลิตเครื่องคิดเลขและคอมพิวเตอร์ แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามปรับปรุงผลิตภัณฑ์เครื่องพิมพ์ดีดที่มีอยู่ จนกระทั้งในปี พ.ศ. 2535 บริษัท Olympia จึงยุติผลิตเครื่องพิมพ์ดีด สำหรับประเทศไทยพบว่าเครื่องพิมพ์ดีดยี่ห้อ Olympia มีบริษัท โอลิมเปียไทย จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 ในปัจจุบัน บริษัท โอลิมเปียไทย จำกัด ยังคงเปิดทำการและเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องใช้สำนักงานโดยเฉพาะ เครื่องคิดเลข เครื่องทำลายเอกสาร และเครื่องตอกบัตร เป็นต้น 

          จากการตรวจสอบเครื่องพิมพ์ดีดเครื่องนี้ ไม่พบว่ามีการระบุถึงรุ่นและปีที่ผลิต แต่เมื่อเปรียบเทียบลักษณะภายนอก ได้แก่ หน้ากากครอบเครื่อง และสีของวัสดุ กับเครื่องพิมพ์ดีดอื่น ๆ ที่มีการระบุรุ่น พบว่ามีลักษณะคล้ายกับรุ่น Olympia SG3 ซึ่งผลิตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 จนถึง พ.ศ. 2521 ต่างจากพิมพ์ดีดรุ่นเดียวกันซึ่งผลิตในปี พ.ศ. 2511 ที่บริเวณฟรีบรรทัดและลูกบิดมีสีครีม ดังนั้นแล้วเครื่องพิมพ์ดีดเครื่องนี้ควรเป็นรุ่น Olympia SG3 ผลิตในช่วงปี พ.ศ. 2513 จนถึง พ.ศ. 2521 เครื่องพิมพ์ดีดเครื่องนี้เชื่อว่าเดิมคงถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการเรียนพิมพ์ดีด ในโรงเรียนอัสสัมชัญกรุงเทพฯ เนื่องจากพบภาพถ่ายใน “หนังสือสมุดภาพ โรงเรียนอัสสัมชัญ อัสสัมชัญรวมรุ่นสมานมิตร 23 พฤศจิกายน 2556” ขณะนักเรียนฝึกพิมพ์ดีด ซึ่งเครื่องพิมพ์ดีดในภาพมีลักษณะคล้ายกับเครื่องพิมพ์ดีดเครื่องนี้ผนวกกับพบข้อความใต้ภาพระบุว่า “ห้องพิมพ์ดีดชั้น 3 ตึกเก่า...พิมพ์ดีดยี่ห้อ Olympia (แป้นปัฐโชติ)...”

ภาพถ่ายในหนังสือสมุดภาพ โรงเรียนอัสสัมชัญ อัสสัมชัญรวมรุ่นสมานมิตร 23 พฤศจิกายน 2556
ระบุว่า “ห้องพิมพ์ดีดชั้น 3 ตึกเก่า...พิมพ์ดีดยี่ห้อ Olympia (แป้นปัฐโชติ)...”


Related

Tag

×
  • Home
  • Timeline
  • Artifacts
  • Book
  • Contents
  • About
  • Contact

© 2017 Assumption. All right reserved.