LIBRARIA

About | Contact
en / th
  • Home
  • Timeline
  • Artifacts
  • Book
  • Contents
  • Navigation

  • Home
  • Timeline
  • Artifacts
  • Book
  • Contents
  • Home
  • Artifacts
  • โสตวัสดุ อุปกรณ์
  • อุปกรณ์อื่นๆ
  • พิมพ์ดีด Smith Premier No. 4

พิมพ์ดีด Smith Premier No. 4

อายุสมัย:
พ.ศ. 2440 – 2457 (ค.ศ. 1896 - 1914)
อ้างอิง:
1) สุทธิโชค จรรยาอังกูร, มิวเซียมสยาม. 2561. “แป้นพิมพ์ดีดภาษาไทย” ใครคิด ? เข้าผ่าน https://www.museumsiam.org/m/da-detail.php?MID=3&CID=177&CONID=2685&SCID=
242 เข้าถึงเมื่อ 21 เม.ย. 61
2) http://xahlee.info/kbd/smith_premier_typewriter.html เข้าถึงเมื่อ 21 เม.ย. 61
3) พิพิธภัณฑ์ ธงชาติไทย. “พิมพ์ดีดไทยรุ่นแรกในสยาม” แหล่งที่มา https://www.youtube.com/watch?v=wg1z0s3wkII เข้าถึงเมื่อ 21 เม.ย. 61
ผู้ค้นคว้า:
ณรัณฐ์ อัครนิธิพิรกุล
คำสำคัญ:
เครื่องพิมพ์ดีด, ภราดาโรเกชั่น, ภราดาโรกาเซียง, Smith Premier, อัสสัมชัญพาณิชยการ, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, Smith Premier, หลักสูตรพิมพ์ดีด, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

          พิมพ์ดีด Smith Premier No. 4 ประกอบด้วยสองส่วนหลักคือ ส่วนแป้นพิมพ์ซึ่งอยู่ด้านหน้ามีหน้าที่เพื่อใช้กดตัวอักษร และ ส่วนของกลไกการพิมพ์ซึ่งรับแรงกดจากส่วนของแป้นพิมพ์เพื่อกดพิมพ์ไปบนแผ่นกระดาษที่รองด้วยแถบผ้าหมึก ส่วนของกลไลยังประกอบไปด้วยส่วนประกอบย่อยอื่น ๆ อีก เช่น ก้านดีดตัวอักษร แถบผ้าหมึก แถบรองลบ และ กระดิ่ง เป็นต้น 

          ข้อความที่ปรากฏอยู่ใต้แป้นพิมพ์ว่า “Smith Premier” เป็นชื่อยี่ห้อเครื่องพิมพ์ดีดของบริษัท Smith Premier Typewriter เครื่องพิมพ์ดีดยี่ห้อดังกล่าวถือได้ว่าเป็นเครื่องพิพม์ดีดยี่ห้อแรกในโลกที่คิดค้นแป้นพิมพ์อักษรไทยได้สำเร็จอันเป็นผลมาจากเอ็ดวิน ฮันเตอร์ แมคฟาร์แลนด์ (Edwin Hunter McFarland) เลขานุการในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมัยที่ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) ขอลาราชการกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่สหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2434 และมีโอกาสได้เห็นอุปกรณ์ช่วยทำงานเอกสารที่เรียกว่า “เครื่องพิมพ์ดีด” ในขณะนั้นเอง บริษัท Smith Premier Typewriter ได้ประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ดีดรุ่น Smith Premier รุ่นที่ 1 สำเร็จเมื่อปีก่อน ซึ่งเครื่องพิมพ์ดีดรุ่นนี้มีขนาดแป้นพิมพ์ที่ใหญ่กว่ายี่ห้ออื่น ๆ เอ็ดวินเห็นว่าสามารถบรรจุ พยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ต่าง ๆ ของไทย ซึ่งมีมากกว่าอักษรของภาษาอังกฤษถึงสองเท่าได้ครบถ้วนสมบูรณ์ เขาจึงตัดสินใจประสานงานไปยังบริษัทดังกล่าวเพื่อช่วยคิดค้นเครื่องพิมพ์ดีดที่มีแป้นพิมพ์เป็นอักษรไทย

 

ตัวอย่างเครื่องพิมพ์ดีด The Smith Premier No. 1 ที่เอ็ดวิน ฮันเตอร์ แมคฟาร์แลนด์ พบ ขณะเดินทางกลับไปยังสหรัฐอเมริกา สมบัติส่วนบุคคล

 

          ในปี พ.ศ. 2435 เครื่องพิมพ์ดีดเครื่องแรกที่มีแป้นพิมพ์ดีดอักษรไทยได้สร้างสำเร็จ แต่เนื่องจากจำนวนแป้นพิมพ์ที่จำกัด อักษร “ฃ” และ “ฅ” จึงถูกตัดออกหลังจากพยายามหาหนทางแก้ไข โดยสาเหตุที่เลือกอักษรสองตัวนี้เนื่องจากเป็นอักษรที่มีการใช้งานน้อยจนกระทั่งแทบไม่มีการใช้งานแล้ว หลังจากนั้น เอ็ดวิน ได้เดินทางกลับมายังประเทศไทยและได้นำเครื่องพิมพ์ดีดดังกล่าวนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อให้ทดลองใช้เป็นพระองค์แรก ผลปรากฏว่าทรงพอพระราชหฤทัยอย่างมาก จึงรับสั่งให้นำเข้าเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยเพิ่มเติมอีก 17 เครื่อง สำหรับใช้ในงานราชการต่าง ๆ ของประเทศ จากการค้นคว้าไม่ทราบแน่ชัดว่าเครื่องพิมพ์ดีดที่รัชกาลที่ 5 รับสั่งให้นำเข้ามานั้นเป็นรุ่นอะไร แต่รุ่นที่เก่าแก่สุดซึ่งมีแป้นพิมพ์อักษรไทยที่ผู้ค้นคว้าพบคือ Smith Premier No. 2 ซึ่งเป็นไปได้ว่ารุ่นดังกล่าวอาจเป็นเครื่องพิมพ์ดีดที่รัชกาลที่ 5 รับสั่งให้ เอ็ดวิน นำเข้ามาก็เป็นได้

          สำหรับเครื่องพิมพ์ดีดแป้นพิมพ์เป็นอักษรไทยรุ่นที่ 4 เครื่องนี้ เนื่องจากพบรุ่นดังกล่าวเป็นจำนวนมากกว่าทุกรุ่นที่มีแป้นอักษรไทยรวมถึงรุ่นที่ 2 ผนวกกับมีรายงานว่า เครื่องพิมพ์ดีดยี่ห้อ Smith Premier ที่ขายใน “ห้างสมิทพรีเมียร์” (ตั้งอยู่บริเวณมุมถนนระหว่างถนนวังบูรพากับถนนเจริญกรุงซึ่งเปิดทำการในปี พ.ศ. 2440) โดย อำมาตย์เอก พระอาจวิทยาคม (นพ.ยอร์ช แบรดเลย์ แมคฟาร์แลนด์ - George Bradley McFarland) ผู้เป็นเจ้าของห้างแห่งนี้ และได้รับกรรมสิทธิ์เครื่องพิมพ์ดีดจากพี่ชายซึ่งก็คือ เอ็ดวิน ที่ได้ถึงแก่กรรม สามารถขายเครื่องพิมพ์ดีดยี่ห้อดังกล่าวเป็นจำนวนกว่าพันเครื่อง ดังนั้นจึงเชื่อว่าเครื่องพิมพ์ดีดรุ่นที่ 4 ซึ่งรวมถึงเครื่องพิมพ์ดีดเครื่องนี้คงถูกนำเข้าจากประเทศอเมริกาหลังรุ่นที่ 2 ที่ได้นำเข้ามาก่อนหน้านั้นโดยกระแสรับสั่งจากรัชกาลที่ 5 และถูกนำมาขายใน “ห้างสมิทพรีเมียร์”

 

พิมพ์ดีด Smith Premier No. 5 แบบแป้นพิมพ์อักษรไทย สมบัติส่วนบุคคล

 

          เป็นที่น่าเสียดายว่ากล่องเก็บเครื่องพิมพ์ดีด ซึ่งมีหมายเลขประจำเครื่องอยู่บริเวณด้านบนทางขวาของกล่อง ซึ่งสามารถบอกได้ถึงปีที่ผลิตได้สูญหายไปแล้ว ดังนั้นเราคงทราบแต่เพียงคร่าวๆ ว่าเครื่องพิมพ์ดีดดังกล่าวคงถูกผลิตขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2440 – 2457 ตามล็อตการผลิตเครื่องพิมพ์ดีด Smith Premier รุ่นที่ 4

          แม้ว่าจะไม่ทราบแน่ชัดว่าเครื่องพิมพ์ดีดดังกล่าวเป็นของผู้ใดในโรงเรียนอัสสัมชัญ แต่ถือได้ว่าเป็นวัตถุซึ่งทำให้เราระลึกถึงว่าในอดีตโรงเรียนอัสสัมชัญถือได้ว่าเป็นโรงเรียนอันดับแรก ๆ ของประเทศไทยที่มีหลักสูตรสอนพิมพ์ดีดให้แก่นักเรียน ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบของนักเรียนในสมัยนั้นที่จบจากโรงเรียนไปแล้วเป็นที่ต้องการของบริษัทต่าง ๆ นอกจากนี้หลักสูตรการพิมพ์ดีดนี้เองถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ เนื่องจาก ภราดาโรเกชั่น (Bro. Rogation) หรือ โรกาเซียง ขณะเป็นอาจารย์อยู่ที่โรงเรียนอัสสัมชัญมีความคิดที่จะฝึกเด็กให้มีความรู้ทางด้านวิชา พิมพ์ดีดและวิชาคณิต เพื่อที่ว่าเมื่อจบการศึกษาแล้ว เด็กนักเรียนซึ่งไม่ประสงค์จะศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย จะสามารถเข้าทำงานในบริษัทของชาวยุโรปได้ ท่านจึงก่อตั้ง โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ ขึ้นในปี พ.ศ. 2481


Related

Tag

×
  • Home
  • Timeline
  • Artifacts
  • Book
  • Contents
  • About
  • Contact

© 2017 Assumption. All right reserved.