คุณรู้สึกไหมว่าพัฒนาการทางการศึกษาของเรา ”ช้า” เหลือเกิน : ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

คุณรู้สึกไหมว่าพัฒนาการทางการศึกษาของเรา ”ช้า” เหลือเกิน
ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ใน อุโฆษสาร 1972 หน้า 227 - 230
ถ้าบังเอิญคุณกำลังคิดว่า การศึกษามีเพื่อเศรษฐฐานะอันมั่งคั่งของผู้ศึกษา ผมว่าคุณคิดไม่ผิด ถ้าคุณเชื่อว่าที่คุณเรียนมา สามารถรองรับมรดกแห่งความรู้ของมนุษย์อย่างน้อยของบรรพบุรุษในสังคมขนาดหนึ่งที่คุณเข้าเกี่ยวข้องโดยไม่ยากนักได้เกือบหมด ผมเชื่อว่าคุณทำได้ ถ้าคุณบอกว่าคนที่ได้รับการศึกษาไม่เกียจคร้านนัก ก็คงมีโอกาสอยู่ดี กินดีได้ผมว่าก็คงไม่ยากเกินไปนัก
แต่ที่ต้องถามเช่นนั้น เพราะถ้าบังเอิญสมองอันกระฉับกระเฉงของคุณคิดเพียงเท่านี้ ผมว่ามันแคบเกินไป แต่จะบอกว่าที่คุณคิดน่ะ มันไม่ถูก ก็ไม่ได้ เพราะที่คุณบอกมานั้น ผมเห็นมันจริง ยังมีพยานหลักฐานด้วย
แต่บังเอิญไปเปิดหนังสือเรียนของชั้นมัธยมศึกษาในขณะนี้ดู เกิดความรู้สึกคล้ายกลัว ๆ อะไรสักอย่าง เพราะพบว่าเป็นหนังสือซึ่งมีเนื้อหาเหมือนกับเมื่อตอนสิบปีก่อน ความจริงวิชาจำพวกที่เราเรียกว่า ศิลปะ (Arts) ก็คงไม่เป็นไรมากนักเพราะความรู้สึกโดยส่วนตัว วิชาทางสาขานี้ เป็นการเรียนรู้สิ่งที่ได้ผ่านการพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ต้องเรียนรู้กะทันหันเพื่อจะได้เสาะแสวงหาอีกสิ่งหนึ่งต่อไป แต่ถึงกระนั้นก็ดี มักจะสังเกตเห็นว่าวรรณกรรมในยุคใหม่ไม่ค่อยได้รับการบรรจุเข้ากระบวนการให้นักเรียนของเราได้เรียนรู้มากนัก หันกลับมาดูตำราและกระบวนการเรียนรู้ทางด้านที่เราเรียกว่า วิทยาศาสตร์ (Science) ถ้าจะพิจารณาทางด้านหลักสูตรแล้ว จะเห็นว่า นักเรียนหลายคนจะต้องเรียนสิ่งหนึ่งสิ่งใดซ้ำอยู่หลาย ๆ ปี นักเรียนในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นเรียนเนื้อเรื่องคล้ายนักเรียนในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เหตุแต่อธิบายไม่ละเอียดเท่า นักเรียนคนหนึ่งต้องเรียนรู้เรื่อง ลมบก ลมทะเล ตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 4 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เช่นนี้เป็นต้น ถ้าจะเปรียบเทียบกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่กำลังเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วแล้วก็ทำให้เกิดความรู้สึกกลัว ๆ ดังกล่าวว่า ความรู้ที่เด็กนักเรียนเหล่านี้จะพึงได้รับนั้นจะสามารถตอบสนองความต้องการทางด้านอื่น ๆ และการท้าทายของสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งยิ่งที่จะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ได้ทันหรือไม่
หลายท่านคงยอมรับว่า การศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์นั้น จำเป็นต้องอาศัยทั้งการศึกษาทางทฤษฎีและการค้นคว้าในห้องทดลอง ถ้าจะมีการให้น้ำหนักความสำคัญระหว่างภาคทฤษฎีและภาคทดลอง นักเรียนเองคงเลือกเอาข้างทฤษฎี เพราะไม่แน่ใจว่าทางโรงเรียนจะมีเครื่องมือ เครื่องใช้ ในห้องทดลองเพียงพอและมีคุณภาพที่ดีสำหรับการศึกษาในภาคทดลองหรือไม่ ความคิดของนักเรียนเหล่านี้มีเหตุผลน่าสนับสนุน
ทีนี้ถ้าจะพิจารณาตัดสินความสามารถของนักเรียน การวัดความรู้หรือสติปัญญาออกจะยุ่งยากกว่าการวัดรูปธรรม ซึ่งสามารถดูได้จากรูปร่างหน้าตา การวัดระดับสติ ปัญญาชนิดที่พอจะยอมรับกันในสังคมปัจจุบันคือ การสอบ การออกข้อสอบก็มีลักษณะเอื้ออำนวยต่อความรู้สึกของเด็กนักเรียนดังกล่าวอีกด้วย ทั้งครูผู้สอนและนักเรียนเองรู้ดีว่า ข้อสอบที่ออกมา แม้จะเป็นวิชาปฏิบัติการ ก็จะนำมาจากเนื้อหาในตำราภาคทฤษฎี ตัวอย่างเช่น สมมุติเป็นเรื่องว่ามีคนกำลังการทดลองในห้องปฏิบัติการ แล้วตั้งปัญหาต่าง ๆ ให้นักเรียนผู้ทำข้อสอบแก้ปัญหานี้ ครูผู้สอนก็เลยเตรียมการสอนเพื่อจะให้นักเรียนสอบได้ เพื่อแสดงออกให้เห็นว่านักเรียนมีความรู้ความสามารถในภาคปฏิบัติการของสาขาวิทยาศาสตร์ด้วย
ถ้าจะถามว่า ผมเห็นด้วยกับระบบการสอบอย่างนี้หรือไม่ ก็ต้องขอความกรุณาจากท่านให้อ่านบทความนี้ทวนใหม่
ในโรงเรียนอัสสัมชัญของเรานี้เอง ครูและนักเรียนก็ให้น้ำหนักภาคทฤษฎีมากกว่าภาคทดลองมากนัก ผมเองเห็นใจ เพราะข้อสอบไล่มีลักษณะดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราเกิดความรู้สึกว่ามีทรัพยากรพอที่จะสนองจุดประสงค์ของการศึกษาอย่างแท้จริงแล้วก็ขอให้จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาการทางด้านความรู้อย่างแท้จริง จะดีกว่ามาก
ถ้าพิจารณาระบบการศึกษาในประเทศไทยเรานี้ เราต้องยอมรับว่าหลายอย่างเราเอาแบบมาจากทางตะวันตก ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องน่าอายอะไรมากนัก เพราะดูเหมือนความเจริญทางด้านวัตถุซึ่งหมายรวมถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ นั้นเริ่มต้นขึ้นทางตะวันตกเสียส่วนใหญ่จนทำให้เกิดอิทธิพลครอบงำไปถึงทางวัฒนธรรม ตลอดจนการศึกษาด้วย ในสมัยที่การศึกษาในประเทศไทยเริ่มตื่นตัว มีนักการศึกษาของไทยหลายคนที่ได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ เห็นหลักการที่เขาพูดไว้เป็นสิ่งดีงามทั้งนั้น น่านำมาทดลองใช้เพื่อกลับมายังประเทศ ก็เปลี่ยนระบบการศึกษาโดยรอบแบบจากเขามาทุกอย่าง เวลาผ่านไปจึงมาพบว่าบางอย่างยังไม่เหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองของเรา ก็มีการเปลี่ยนแปลงกันมาหลายครั้ง
นักการศึกษาต่างชาติและนักการศึกษาของไทย เราเองบางคน เคยตั้งเป็นข้อสังเกตที่ไม่ค่อยน่ายินดีนักสำหรับระบบการศึกษาของเรา และอาจจะรวมถึงในบางประเทศที่อยู่ในภูมิภาคนี้ว่า การศึกษายังเน้นที่การจำมากกว่าการสร้างศักยภาพทางด้านความคิดและให้เกิดขึ้นในตัวนักเรียน สาเหตุประการหนึ่งอาจเป็นเพราะหลักสูตรวิชาของเรามีมากจนทำให้นักเรียนย่อยไม่ทัน ครูเองก็เห็นว่าเป็นการยุ่งยากแก่นักเรียนจนเกินไปที่จะอธิบายปัญหาต่าง ๆ ให้เห็นผล ว่ากันไปแล้ว ผมเองมีความรู้สึกว่าการเรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างจนทำให้นักเรียนไม่แน่ใจในสิ่งเหล่านั้น ดูไม่เหมาะเลยสำหรับประเทศด้อยพัฒนาอย่างประเทศไทย แต่ก็ยังมีอีกสาเหตุหนึ่งที่ดูจะสนับสนุนสาเหตุของการกระทำดังกล่าว ก็คือ ความไม่แน่ใจในทรัพยากรด้านกำลังคนของประเทศว่า จะให้ประโยชน์ทางด้านไหน จนทำให้ทุกคนต้องเรียนทุกเรื่องเผื่อไว้สำหรับการตัดสินใจในอนาคต ถ้าเป็นเพราะเหตุผลนี้ก็ทำให้เกิดความรู้สึกว่า พัฒนาการเพื่อความเจริญทางด้านปัญญาจะเป็นไปได้ช้ามากจนน่าวิตก
คงจะแปลกไม่น้อย ถ้าเด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่ 4 จะถามครูของตนว่าทำไม 2 + 2 ถึงเป็น 4 คำตอบที่ครูคนนั้นตอบออกมานั้น มีส่วนชี้ชะตากรรมของการศึกษา ของประเทศ ผมเองไม่สนับสนุนการจะบอกเพียงให้เด็กรับสิ่งนั้นไว้ก่อนโดยไม่บอกอะไรอีก แต่ถ้าจะอธิบายในลักษณะอื่น เช่นเรื่องการกำหนดตัวเลข ที่มา เหตุผล หรือประโยชน์หรืออาจจะบอกว่าเป็นการกำหนดเพื่อเปรียบเทียบดีกว่าจะบอกว่าเขาใช้กันมาตั้งนานแล้วก่อประโยชน์ ให้แก่ผู้เชื่อฟังมากมายมาแล้ว แม้แต่ทฤษฎีอนุภาคของแสง ก็ควรจะได้รับการกล่าวถึงบ้าง เมื่อตอนที่เรียนถึงคุณสมบัติของแสง ว่าเป็นพลังงานชนิดหนึ่งซึ่งจะเหมาว่า แสงน่ะ ไม่มีมวลตลอดไป ดังที่ปรากฏในตำราเรียนของชั้น ม.ศ. 4 - 5 ตลอดไปไม่ได้ สิบปีของความเจริญทางวิทยาศาสตร์ จะต้องมีอะไรใหม่ๆเป็นแน่เพราะฉะนั้นเรื่องของการศึกษาจึงไม่ควรถูกจำกัดในวงแคบ ๆ ของตำราเรียนเท่านั้น
ผมเชื่ออย่างยิ่งว่า การบุกเบิก แสวงหาต่อไปเป็นสิ่งที่การศึกษาควรปลูกฝังให้มีขึ้นในผู้ศึกษา เคยมีผู้กล่าวไว้ “ครู คือ แม่พิมพ์ของชาติ” ถ้าจะพูดกันต่อไป เราคงไม่หยุดยั้งเพียงเท่านั้น แต่เราจะต้องหวังต่อไปว่าสิ่งที่พิมพ์ออกมานั้นจะต้องมีชีวิตเจริญเติบโตต่อไปได้ และเพื่อความเป็นเลิศ เราคงหวังต่อไปอีกว่า สิ่งนั้นควรจะมีลวดลายที่คมชัดกว่าแม่พิมพ์เดิมด้วย เพราะฉะนั้นถ้าจะมีเด็กนักเรียนที่มีความเห็นที่แตกต่างออกไปจากที่ครูสอน และมีเหตุผลพอสมควร ก็ขอให้คุณครูจงดีใจเถิดว่า สิ่งที่คุณครูพิมพ์ออกมานั้นน่ะมันมีชีวิต มันจะเจริญเติบโตต่อไปเป็นร่มเงาที่ใหญ่กว่าเดิมของประเทศต่อไป จงอย่าได้ตัดโค่นมันล้มตั้งแต่เยาว์วัยแต่จงช่วยกันประคับประคองให้ถูกทาง
(ที่พูดมาจนยืดยาวนี้ ใช่ว่าผู้เขียนจะแสดงตัวมาเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาเพราะผู้เขียนเป็นเพียง “นักศึกษา” ยังมิใช่ “นักการศึกษา” ไฉนเลยจะอาจหาญไปเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ก่อประโยชน์แก่คนจำวนมากตั้งแต่เป็นเด็กจนผมหงอกเต็มหัว จนปลูกฝังว่าสิ่งที่ถูก สิ่งนี้ควร เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้เขียนถึงได้เขียนชื่อเรื่องเสียยาว ออกจะผิดตำราการใช้ภาษาว่าการตั้งชื่อเรื่องควรจะสั้น มีคำไม่เกินเท่านั้น ๆ คำ ไม่เช่นนั้นตัด 2 คะแนน)