ดรุณศึกษามีกี่เล่มกันแน่ ?

ผู้เขียน : วัฒภูมิ ทวีกุล
product

            ในปัจจุบัน “อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา” ที่ใช้เป็นแบบเรียนภาษาไทยให้กับนักเรียนเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิช จำกัด จัดพิมพ์ในชื่อ “ดรุณศึกษา” โดยตัดคำว่า อัสสัมชัญ ออกไป และแบ่งพิมพ์ทั้งหมดเป็น 5 เล่มด้วยกัน คือ “ดรุณศึกษา ปฐมวัย”, “ดรุณศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1”, “ดรุณศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2”, "ดรุณศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3” และ "ดรุณศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4”

 

            หลายต่อหลายคนได้เข้าใจว่า ฟ.ฮีแลร์แต่ง “อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา” ขึ้นมา 5 เล่มตั้งแต่ในครั้งแรกที่ได้จัดทำขึ้น ซึ่งความเข้าใจนี้มีมานานกว่า 50 ปีแล้ว จากบทความในอนุสรณ์งานสมโภชรับขวัญเจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์[1] และข้อเขียนของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ใน “อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย ฉบับที่ระฤกวันมรณภาพครบ 1 ปี”[2]

 

อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตีพิมพ์โดยโรงพิมพ์อัสสัมชัญ กรุงเทพฯ ฉบับปี พ.ศ.2479 (ค.ศ. 1936)
ที่มา : หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

 

            ในที่นี้จะขอเรียกแบบเรียนที่เป็นหัวใจหลักของเรื่องนี้ ในยุคที่จัดพิมพ์โดยโรงพิมพ์อัสสัมชัญว่า “อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา” และในยุคที่ลิขสิทธิ์ตกเป็นของไทยวัฒนาพาณิชแล้วว่า “ดรุณศึกษา”

 

            อย่างไรก็ตามแบบเรียนทั้ง 2 ชื่อนี้ คือแบบเรียนที่มีพัฒนาการต่อเนื่องมาร่วมกัน การที่ในปัจจุบันแบบเรียนนี้ได้รับการตีพิมพ์ชุดละ 5 เล่ม อาจสร้างความสับสน เข้าใจผิดไปด้วยว่า แบบเรียนชุดนี้ได้ประกอบไปด้วย 5 เล่มมาตั้งแต่แรกตีพิมพ์ เพราะแม้แต่ในคำนำของ “ดรุณศึกษา” ในปัจจุบันยังระบุไว้ว่า   ฟ.ฮีแลร์ได้แต่งแบบเรียน “ดรุณศึกษา” ขึ้นมา 5 เล่ม ทั้งยังระบุไว้ด้วยว่าเพื่อใช้สำหรับนักเรียนตั้งแต่ชั้นเตรียมประถม (ปฐมวัย) จนถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 4[3] ซึ่งได้ละเลยประวัติศาสตร์ของ “อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา” ตั้งแต่ต้น

 

            เมื่อเราย้อนกลับไปดูหลักฐานชั้นต้นก็จะพบว่า ความในจดหมายฉบับหนึ่งที่ ฟ.ฮีแลร์มีไปถึงสมเด็จฯ กรมพระดำรงราชานุภาพ[4] ลงวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 1910 บ่งบอกว่า ฟ.ฮีแลร์ตั้งใจจะจัดทำ “อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา” ขึ้นมา 2 เล่มด้วยกัน เล่มแรกนั้นใกล้ที่จะเสร็จแล้ว

 


“…แต่เล่มสองนั้นจะตัดแก้ไขอีกมาก ตามความที่ปรากฏในพงศาวดารต่าง ๆ ซึ่งพระองค์ทรงพระเมตตาพระราชทาน”[5]


 

            ส่วนเหตุที่แบ่งพิมพ์เล่มที่สอง เป็นอีกสองเล่มนั้น สันนิษฐานได้ว่า เนื้อหาที่ ฟ.ฮีแลร์ได้รวบรวมจัดทำไว้มีความหนามาก จึงต้องแบ่งเนื้อหาออกมาจัดพิมพ์เป็นอีกเล่ม เพื่อลดภาระให้กับนักเรียน ผลคือ “อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กลาง” ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2463 (ค.ศ. 1921)[6] และ “อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน ปลาย” ได้รับการตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2464 (ค.ศ. 1922)[7]

 

            ในขณะที่ “อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ” ต่อมาก็ได้รับการแบ่งตีพิมพ์เป็นอีกสองเล่มด้วยเช่นกัน เนื่องจากขนาดของรูปเล่มที่หนาเกินไปสำหรับเด็กเล็ก กว่าจะใช้เรียนจบหนังสืออาจชำรุดเสียหายไปมาก[8] ในการพิมพ์ครั้งที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2463 (ค.ศ. 1921)[9] จึงได้แบ่งพิมพ์ออกเป็น “อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ” และ “อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน ต้น” จึงอาจกล่าวได้ว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2464 (ค.ศ. 1922) นักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญมีแบบเรียน “อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา” ให้ใช้ด้วยกันทั้งหมด 4 เล่ม จวบจนกระทั่งลิขสิทธิ์ของ “อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา” ได้ตกเป็นของไทยวัฒนาพาณิชในภายหลัง และแบ่งพิมพ์เป็น 5 เล่ม เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดหลักสูตรการสอนในเวลาต่อมา และใช้มาจนถึงปัจจุบัน

 

บรรณานุกรม

[1]บทความเรื่อง ประวัติท่านเจษฏาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ จากหนังสือ อนุสรณ์งานสมโภชรับขวัญเจษฏาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ เขียนโดย เฉลิมวงษ์ ปีตรังสี, หน้า 1

[2]บทความเรื่อง ประวัติเจษฏาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ จากหนังสือ อัสสัมชัญอุโฆษสมัย ฉบับที่ระฤกวันมรณภาพครบ 1 ปี เขียนโดย สุลักษณ์ ศิวรักษ์, ไม่ปรากฏเลขหน้า

[3]ดรุณศึกษา ปฐมวัย. 2558. โดย ฟ.ฮีแลร์, คำนำ

[4] บรรดาศักดิ์ขณะนั้น.

[5]สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สบ.2.50/616 เอฟ ฮิลเลอร์ (F.Hilaire ) (21 กุมภาพันธ์ 2461 – 6 ตุลาคม 2473)

[6]เนื่องจากอัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กลาง ตีพิมพ์ในเดือนมีนาคม และประเทศไทยยังคงใช้ปีปฏิทินแบบเก่าอยู่ ซึ่งนับวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทิน

[7]ตีพิมพ์ในเดือนกุมภาพันธ์

[8]อัสสัมชัญประวัติ. 2541. โดย โรงเรียนอัสสัมชัญ, หน้า 129

[9]ตีพิมพ์ในเดือนมีนาคม


Author: วัฒภูมิ ทวีกุล

อัสสัมชนิกเลขที่ 47985 รุ่น 126