ดีหน่อยก็ยังดี : เขตร ศรียาภัย

ผู้เขียน : เขตร ศรียาภัย
product

ดีหน่อยก็ยังดี

เขตร ศรียาภัย ใน อุโฆษสาร 1972 หน้า 29 - 31

 


 

       ผู้เขียนเดาเอาว่า ณรงค์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา คงท้อแท้ใจในการทวงเรื่องเพื่อลงพิมพ์ในอุโฆษสารซึ่งเป็นงานของคณะนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 อันที่จริง ความโอ้เอ้ศาลารายไม่ได้เกิดจากความรังเกียจ แต่ขอบอกตรง ๆ ตามนิสัยชื่อว่าขี้เกียจเขียนข้อความซึ่งไม่ค่อยจะเป็นโล้เป็นพาย เมื่อยังดื้อจะฟังสำเนียงใบตาลแห้ง (อย่าพิมพ์ว่าใบตองแห้ง) ต้องลมให้ได้ ผู้เขียนก็ขอโกรงกรางตามทำนองใบตาลเพื่อให้พ้นข้อผูกพันฑ์และขออภัย

 

       ธรรมดาของ “คน” เรานั้นย่อมถูก “คน” หรือ “กวน” ตั้งแต่ปฏิสนธิจนกว่าจะผ่านพ้นไปได้ตลอดรอดฝั่ง มิใช่เรื่องเล็กน้อยเพราะโลกนี้มิได้รังสฤษดิ์ด้วยสุขธาตุอย่างเดียว โลกได้แถมทุกข์ธาตุอย่างมากมายให้ด้วย ฉะนั้น การดำเนินชีวิตของคน - ไม่ว่านักเรียนหรือนักอะไร - จึงต้องเป็นไปตามแบบเดียวกับนักต่อสู้ ไม่เฉพาะสู้กับวัวอย่างชาวสเปญ แต่ต้องต่อสู้กับโรคาพญาธิและอุปสรรคนานาประการกว่าจะเอาตัวรอดได้

 

       สภาพการต่อสู้ของคน อีกนัยหนึ่งอาจเปรียบได้กับสำเภาที่แล่นไปกลางทะเล นอกจากต้องเสี่ยงกับหินโสโครกใต้น้ำ ยังต้องฟันฝ่าคลื่นลมพายุรุนแรงบนผิวน้ำด้วย ในบางโอกาสพื้นทะเลอาบเรียบ นายเรือและผู้โดยสารขนาดชื่นบานและนอนทอดหุ่นตามสบาย แต่คราวคลื่นลมแรงจัด เรือโคลงหน้าคว่ำ นายเรือขวัญอ่อนก็อาจเมาคลื่นซบเซาจนชีวิตแทบออกจากร่าง ผู้โดยสารก็พลอยปอดลอย แต่ถ้าเป็นนายเรือที่ได้ฝึกฝนตนกล้าแข็ง รู้จักหน้าที่ดีแล้ว จะไม่ยอมหมดหวังในโชคชะตาง่าย ๆ นายเรือคนหลังผู้มีลักษณะดังกล่าวย่อมได้ชื่อว่าเอกบุรุษหรือคนดี และคนดีมักจะพาตนและนำพวกพ้องหรือผู้โดยสารตลอดรอดฝั่งได้ไม่สู้ยากนัก

 

       ความเป็นอยู่ของมนุษย์เราแต่ละคน อาจเปรียบเสมือนลำสำเภากับนายเรือที่ได้สาธกมาแล้ว ไม่มีความราบรื่นเป็นเมืองสวรรค์ เพียบพร้อมด้วยเครื่องหอมหวลยวนใจให้เพลิดเพลินเสมอไป อัตภาพของคนอยู่ห่างไกลจากเทพบุตรและนางฟ้าในแดนสุขาวดีมากมายนัก ฉะนั้น หากคนเราขาดสติเคลิบเคลิ้มเมื่อใด นั่นคือความเผอเรออันจะนำตนไปเผชิญศัตรูแห่งความผาสุก ความในวรรคนี้เป็นผลลัพธ์จากประมวลสุนทรพจน์ของท่านบาจรีย์ ฟ.ฮีแลร์ ซึ่งได้กล่าวเป็นเชิงอบรมทุก ๆ วันเสาร์เมื่อประมาณ 45 ปีมาแล้ว แต่ไม่ล้าสมัย 

 

       มนุษย์จะมาจากโลกไหน ? บรรพบุรุษจะเป็นวานรหรือมัศยา ตามที่นักวิทยาศาสตร์พยายามค้นคว้าพิสูจน์การถกเถียงกันก็ตามที แต่เป็นการดีอย่างหนึ่งที่ได้รู้ว่าภาวะของมนุษย์จะหาความเป็นอยู่คงที่หรือศุกร์เป็นนิจไม่ได้ สิ่งสดชื่นสวยงามที่ประสบรสอร่อยซาบซ่านชวนเสพเนือง ๆ แบบน้ำอัดลมนั้น จะมีสิ่งใดจีรังยั่งยืนก็หามิได้ ความรุ่งโรจน์ล้วนเป็นสิ่งมีขึ้นชั่วคราว ล่อตาล่อหูและล่อใจพอให้มีความลึกเกินลืมตัวชั่วขณะหนึ่ง ต่อจากนั้นสภาพหรืออารมณ์ทั้งหลายก็จะค่อย ๆ ละลายหายสูญไป มนุษย์ผู้ยังคงลุ่มหลงข้องใจจะพยายามติดตามเอาความไม่แน่นอนกลับคืน ก็จะทวีความลำบากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นจึงได้มีคำสั่งสอนให้คนไม่ประมาท และคนเรา เมื่อได้เล็งเห็นว่าชีวิตร่วงไปตามวันคืนอันรวดเร็วก็ต้องตั้งสติและระมัดระวังหน้าที่ นักเรียนก็ต้องตั้งหน้าตั้งตาเรียน พยายามปฏิบัติตนให้เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้นโดยประพฤติตนเฉพาะสิ่งที่ชอบดีงาม เป็นคุณแก่ผู้อื่น เป็นการแผ่กุศลบารมีเพื่อนร่วมชาติ แม้เพียงงดเว้นประพฤติชั่วเท่านั้น เพื่อน ๆ และคนอื่น ๆ ก็ไม่ต้องกระทบกระเทือนเดือดร้อนเพราะเราเป็นเหตุ จะป่วยกล่าวไปไยถึงความดีงามที่เราสามารถกระทำแต่ไม่ทำ เช่น เพื่อน ๆ ที่ชอบเอะอะ เราควรปลอบให้นิ่ง ๆ เพื่อนเกียจคร้านก็คอยเตือนให้ขยันขึ้น คนใดใจเร็วควรพยายามเหนี่ยวรั้งไว้บ้าง เพื่อนคนใดพูดมากปากเสีย เราต้องอดใจฟัง ฯลฯ ปฏิบัติได้เท่าที่กล่าวมานี้ ศรัทธาของเพื่อนหรือของครูบาอาจารย์ก็จะเกิดติดตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย

 

       ศรัทธากับสติปัญญาควรจะได้ฝึกฝนให้เกิดขึ้นเท่าเทียมกันจึงจะยังประโยชน์ให้สมบูรณ์ ข้อสำคัญสุดยอดของนักเรียนต้องงดเว้นการโป้ปดมดเท็จโดยเด็ดขาด เพราะศีลข้อนี้ย่อมก่อความระแวงติดต่อไม่สิ้นสุด ให้โทษถึงพินาศดังอุทาหรณ์เรื่องเด็กเลี้ยงแกะนั่นแล้วอะ 1 ครอบครัวที่ต้องแตกแยกร้าวฉานกับวงศาคณาญาติหรือเพื่อน ๆ ก็เพราะมุสาวาทอีกเหมือนกัน และในทางกลับกัน เราไม่ควรเป็นคน “หูเบา” ซึ่งอาจทำให้เกิดความปั่นป่วน และถ้าหากเป็นเรื่องร้ายแรงก็อาจเสียผู้เสียคน แต่โรค “หูเบา” นั้น มีคาถาศักดิ์สิทธิ์อยู่บทหนึ่งพอป้องกันได้คือ “ฟังหูไว้หู ฟังหูไว้หู” เพราะคนมี 2 หู และเพื่อความมั่นคงแห่งศรัทธาหรือความเชื่อถือ ควรจำหลักใหญ่ไว้ว่าต้องใช้สติปัญญาสอดส่อง จึงจะเป็นที่นิยมร่มเย็นด้วยกันทุกฝ่าย คนที่มีความละอายต่อบาปย่อมได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ แต่คนที่มิใช่มนุษย์ก็มิใช่จะเลวทราบโดยสิ้นเชิง ท่านเจษฎาจารย์ฮิวเบิร์ด เคยอบรมผู้เขียนเมื่อครั้งเป็นนักเรียนที่น่าเอือมระอาว่า “Khetr, You are not bad only naughty. Try to be a good boy. And if you fail, try to be a good man.” ผู้เขียนขอแปลลวก ๆ ว่า “เขตร เธอมิใช่เด็กชั่วร้ายเพียงแต่สัปดล จงพยายามเป็นเด็กดีเถิด ถ้าหากไม่สำเร็จก็เพียรพยายามเป็นคนดีต่อไป” สุนโทรวาทอันมีค่าอนรรฆ (Invaluable) นี้ ได้ฝังแน่นอยู่ในสมองผู้เขียนตั้งแต่บัดนั้นมาจนบัดนี้ ขึ้นชื่อว่าเป็นคนจึงมีประโยชน์ซึ่งมีสติปัญญาอาจเลือกไว้ใช้ได้ เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีโพรงภายในและผุตายแห้ง แม้ไม่มีสาขาสุมทุมบังร่ม ก็ยังอาจใช้เป็นฟืนหุงข้าวหรือสุมไฟไล่ยุงให้ควายหรือใช้เป็นฟืนไม่ได้เพราะไฟไม่แรงก็ยังอาจเผาเป็นขี้เถ้าทำปุ๋ยได้ โบราณจึงเตือนให้เลือกเฟ้นคบคน ส่วนเสียก็ต้องพิเคราะห์ดูสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้ว พยายามมองหาสารประโยชน์เท่าที่พึงหาได้ ดังตัวอย่างที่ท่านเจษฎาจารย์ฮิวเบิร์ด ได้พิจารณากระทำมาแล้ว ไม่ใช่ปักใจไล่ฆ่าแกง

 

       ผู้เขียนเคยผ่านพบนิยายปรัมปรามีความว่า ครั้งหนึ่งพวกตนเองว่าฤๅษีพากันประพฤติเหลวไหลเลอะเทอะเพราะเอาอย่างกันทั้ง ๆ ที่เที่ยวจาริกสั่งสอนให้ชาวบ้านกระทำความดี วันหนึ่งพระราชาธิบดีมีพระราชประสงค์จะทรงบำเพ็ญพระกุศล จึงโปรดเกล้าฯ ให้อำมาตย์ผู้ซื่อสัตย์เที่ยวแสวงหาฤาษีที่ดี ๆ และนำเข้าเฝ้าเป็นปฏิคาหก คือ ผู้รับทาน อำมาตย์รับพระบรมราชโองการแล้วก็เที่ยวเดิน (เพราะไม่มีรถหลวงใช้) แสวงหาฤๅษีทั่วเมืองจนน่องร้อนอ่อนใจจวนเป็นลมก็หาฤๅษีไม่ได้ เท่าที่ผ่านพบมาแล้วล้วนเป็นฤๅษีชีกะล๊อกทำชั่วมัวเมาโดยเปิดเผยในที่สุดเมื่อเกือบ ๆ จะพาความล้มเหลว กลับไปกราบบังคมทูลพระราชาธิบดีก็บังเอิญมองเหม่อไปข้างหน้า เห็นฤๅษีรูปหนึ่งลิบ ๆ อยู่ใกล้ฝั่งน้ำ อำมาตย์ผู้ซื่อสัตย์จึงพยายามแข็งใจเดินตรงไปสังเกตเห็นฤๅษีกำลังโก้งโค้ง “ล้อเบ็ด” เพลินอยู่ทีเดียว แต่พอเหลือบเห็นคนเดินทอดน่องตรงมาทางตน นักพรตซังกะบ๊วยกระวีกระวาดเก็บเบ็ดว่อนแล้วแสร้งสำรวมอิริยาบทนั่งขัดสมาธิหลับตาภาวนา (ทำนองพระสังข์ทองเรียกปลา) อย่างเคร่งขรึม เมื่ออำมาตย์ได้สังเกตเห็นกิริยาการของอลัชชีประจักษ์ถี่ถ้วนแล้วก็ฝืนเก็บความรู้สึกไว้ในใจ ประนมหัตถ์นมัสการแล้วปราศรัยไต่ถามชื่อเสียงพร้อมทั้งอาศรมที่พำนัก ได้ความแล้วก็ลากลับไปกราบบังคมทูลพระราชาธิบดีตามที่ได้พบเห็นด้วยตาที่ไม่มีโรคถั่วทั้ง 2 ข้างทุกประการ แต่ไม่ลืมเสริมท้ายตามนิสัยซื่อสัตย์ว่า “ขอเดชะ ! ข้าพระพุทธเจ้าหาฤๅษีดีไม่ได้ เพยะค่ะ” พระราชาธิบดีจึงทรงพระสรวลแล้วตรัสว่า “เออ ! เออ ! ฤๅษีรูปสุดท้ายก็เป็นปฏิคาหกเหมาะดีที่สุดแล้วในขณะนี้ เพราะท่านยังมีหิริโอตตัปปะ หรือความละอายต่อบาปอยู่บ้าง อำมาตย์เอ๋ย จงรีบไปเผดียงท่านมารับทักษิณาทานของเราเถิด ดีหน่อยก็ยังดี”

 

       น้อง ๆ นักเรียนที่รักทั้งหลาย ผู้เขียนใคร่ขอสะกิดความจำไว้ด้วยว่า สถาบันที่มีชื่อว่า “อัสสัมชัญ” เป็นมรดกของผู้เสียสละใหญ่หลวงซึ่งควรแก่การหวงแหน ครูบาอาจารย์ควรแก่การคารวะทุกโอกาส เพื่อนฝูงมิตรสหายควรแก่การทะนุถนอมโดยไม่เห็นแก่ตัวและก่อความแตกร้าว ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นย่อมตัดเหตุร้ายทั้งปวง ฉะนั้น จงพยายามประกอบกรรมดีกันเถิด หากทำดีที่สุดไม่ได้ ขอเพียง “ดีหน่อยก็ยังดี”

 

       ผู้เขียนขอเทอดทูนเรื่อง “ดีหน่อยก็ยังดี” เป็นเครื่องบูชาคุณานุคุณบรรดาท่านเจษฎาจารย์แห่งเซนต์คาเบรียลและบุพการีผู้สร้างเยาวชนในแผ่นดินสยาม ตลอดจนท่านอัสสัมชนิกอาวุโส ผู้ได้อุตส่าห์ประคับประคองชื่อเสียง “อัสสัมชัญ” ให้โด่งดังมาโดยลำดับจนลุยุคปัจจุบัน

 

ใบตาลแห้งก็พลันระงับเพราะอับลม.

 


Author: เขตร ศรียาภัย