ทำสภานักเรียน... "ได้อะไร?"

ผู้เขียน : สิทธิกานต์ ธีระวัฒนชัย
product

(เรื่องโดย นายสิทธิกานต์ ธีระวัฒนชัย อัสสัมชนิก 46295  อดีตรองประธานสภานักเรียน ปีการศึกษา 2558)

           


สังคมโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงระดับมัธยมศึกษา
คือสังคมการศึกษาระหว่างช่วงการเปลี่ยนผ่าน จากเด็กไปสู่ผู้ใหญ่


 

            ซึ่งสำหรับการที่โรงเรียนในฐานะสถาบันทางการศึกษา ให้นักเรียนได้เรียนรู้ในทักษะที่รอบด้าน ควบคู่ไปกับประสบการณ์ชีวิตนั้น ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นในหลายๆสถานศึกษาจึงได้มีการก่อตั้ง “สภานักเรียน” ขึ้น เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ ถึงหลักการทำงานอย่างเป็นระบบ ควบคู่ไปกับการเก็บเกี่ยวประสบการณ์เรื่องของการทำงานในระดับองค์กร เพื่อให้นักเรียนสามารถนำไปปรับใช้กับการทำงานในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 


ในส่วนของโรงเรียนอัสสัมชัญนั้น ได้มีการจัดตั้งสภานักเรียนขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2517


 

            ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนรูปแบบเป็นคณะกรรมการนักเรียน และปัจจุบัน คณะกรรมการสภานักเรียนก็ยังคงมีอยู่ โดยเป็นระบบคณะกรรมการที่ได้รับเลือกเข้าไปโดยนักเรียนอัสสัมชัญ เพื่อเป็นตัวแทนแสดงเจตจำนงความต้องการของนักเรียนอัสสัมชัญผ่านโครงการต่างๆ มีวาระทั้งสิ้น 1 ปีการศึกษา ต่อชุดคณะกรรมการ

 

            สำหรับตัวผู้เขียนเอง ได้เคยมีโอกาสทำงานสภานักเรียน ในฐานะ “รองประธานสภานักเรียน” ในช่วงปีการศึกษา 2558 ดังนั้นในบทความนี้ จะขอเล่าถึงโครงการต่าง ๆ ที่เป็นผลมาจากการทำงานของคณะกรรมการสภานักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ ปีการศึกษา 2558 และมุมมองของตนเองที่มีโอกาสในการทำงาน คณะกรรมการสภานักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ

 

            ตัวผู้เขียนลงสมัครเป็นหนึ่งในสามผู้สมัครประธานสภานักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ ในปีการศึกษา 2558 และได้คะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นลำดับที่ 3 ได้รับความไว้วางใจจากประธานสภานักเรียนในขณะนั้น ให้ดำรงตำแหน่ง “รองประธานสภานักเรียน” และให้มีอำนาจควบคุมดูแลโครงการที่เกี่ยวข้องกับสายงานวิชาการโดยตรง และควบคุมดูแลเรื่องการประสานงานกับคณะครูในเรื่องต่าง ๆ

 

            โดยปกติแล้วคณะกรรมการสภานักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ จะมีโครงการหนึ่งซึ่งถือว่าเป็น

 


“ตัววัดศักยภาพของคณะกรรมการสภานักเรียน” ในสมัยนั้นๆ ว่ามีความสามารถและศักยภาพมากน้อยเพียงใด นั่นก็คือ  “AC Christmas Fair”


          

ภาพบรรยากาศภายในงาน AC Christmas Fair 2015

ขอบคุณภาพจาก Facebook -- Varitz Virangkur

 

            ซึ่งงานนี้ เป็นนโยบายของทางโรงเรียนอัสสัมชัญที่ให้จัดขึ้นทุก ๆ ปีอยู่แล้ว เพื่อเป็นการหารายได้เข้ากองทุนสวัสดิการครูโรงเรียนอัสสัมชัญ ภายในงานก็จะมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย โดยส่วนงานที่คณะกรรมการสภานักเรียนอัสสัมชัญเป็นผู้รับผิดชอบคือ “การแสดงคอนเสิร์ต” ทุก ๆ ปี คณะกรรมการสภานักเรียนจะเป็นผู้จัดหาและติดต่อวงดนตรีที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ ให้มาแสดงในงาน AC Christmas Fair และเป็นผู้ควบคุมดูแลความเรียบร้อยในช่วงงานการแสดงคอนเสิร์ต ตัวอย่างเช่น งาน AC Christmas Fair 2015 ในปีการศึกษา 2558 คณะกรรมการสภานักเรียนชุดที่ตัวผู้เขียนดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานสภานักเรียน สามารถติดต่อวงดนตรีมาแสดงคอนเสิร์ตได้ทั้งสิ้น 4 วง ประกอบด้วยศิลปินจากวง SWEET MULLET, SEASONFIVE, TATOO COLOUR และ MODERN DOG เป็นต้น ซึ่งก็ถือว่าเป็นโครงการที่วัดศักยภาพคณะกรรมการสภานักเรียนในหลาย ๆ ด้าน เช่น การบริหารจัดการวางแผนงบประมาณเกี่ยวกับส่วนของศิลปิน และส่วนของระบบรักษาความปลอดภัยในงาน การติดต่อกับตัวผู้จัดการหรือบริษัทต้นสังกัดของศิลปิน การดูแลความเรียบร้อยภายในงาน เป็นต้น

 

            สำหรับตัวผู้เขียนเอง ในฐานะ “รองประธานสภานักเรียน” ที่ควบคุมดูแลสายงานวิชาการเป็นหลัก  ได้มีโอกาสรับผิดชอบโครงการหนึ่ง ของคณะกรรมการสภานักเรียน ในปีการศึกษา 2558 นั่นก็คือ

 


“โครงการ AC พิชิต 9 วิชาสามัญ” ซึ่งถือได้ว่า เป็นโครงการจัดติวทางวิชาการ ที่ใหญ่ที่สุดของอัสสัมชัญในรอบหลายปี


       

  

ภาพบรรยากาศภายในงาน AC พิชิต 9 วิชาสามัญ (ภาษาอังกฤษ)

ขอบคุณภาพจาก Page Facebook -- คุณครูสมศรี ธรรมสารโสภณ

 

            โดยทำการเชิญชวนให้ติวเตอร์สอนพิเศษ ที่มีชื่อเสียงหลายๆท่าน อาทิ อ.ศุภฤกษ์ สกุลชัยพรเลิศ (ครู Sup’K) อ.สมศรี ธรรมสารโสภณ (ครูสมศรี) อ.ปิง เจริญศิริวัฒน์ (อ.ปิง Da’vance) มาร่วมกันให้ความรู้เสริมทางวิชาการแก่นักเรียนอัสสัมชัญระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการสอบ 9 วิชาสามัญ ซึ่งโครงการดังกล่าว ก็ถือว่าได้รับเสียงตอบรับจากนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในระดับที่ดีพอสมควร

 

            ซึ่งหากพิจารณาจากตัวอย่างโครงการที่ได้ยกตัวอย่างให้เห็นนั้น ในสายตาของคนภายในองค์กรที่โครงการ สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่า ทุกๆโครงการนั้น ล้วนแต่มีปัญหาและอุปสรรคในกระบวนการดำเนินการทั้งสิ้น ไม่ว่าจะในเชิงงบประมาณ เชิงกระบวนการดำเนินงาน เป็นต้น แต่หากทุกๆคน ทุกๆฝ่ายในคณะกรรมการสภานักเรียน ร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไขปัญหา ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ และทำให้โครงการนั้นสำเร็จ บรรลุผลไปได้ด้วยดี

 

            สำหรับตัวผู้เขียนเอง สามารถให้นิยามของคำว่า “คณะกรรมการสภานักเรียน” อย่างง่ายต่อการทำความเข้าใจได้ว่า เป็น “ผู้แทนของนักเรียนอัสสัมชัญ เสมือนที่ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ สส. เป็นผู้แทนของประชาชน โดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง” เป็น “คณะกรรมการที่มีหน้าที่ในการทำให้โรงเรียนอัสสัมชัญ สามารถพัฒนา เปลี่ยนแปลง ก้าวหน้าต่อไปในเรื่องต่าง ๆ ได้ ทั้งในด้านวิชาการ และกิจกรรม” และเป็น “แบบอย่างที่ก้าวหน้าแก่นักเรียนอัสสัมชัญ ในเรื่องต่างๆ เช่น พฤติกรรม ความคิด ทัศนคติ  เป็นต้น”

 

 


ดังนั้น หากจะถามว่า “สภานักเรียนคืออะไร”


 

            คำตอบที่ชัดเจนที่สุดก็คือ “คณะกรรมการที่เป็นตัวแทนของนักเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการใดๆ อันก่อให้เกิดประโยชน์และความก้าวหน้าของโรงเรียนอัสสัมชัญ และเป็นแบบอย่างที่เหมาะสมแก่นักเรียนอัสสัมชัญ” ซึ่งการทำงานในฐานะคณะกรรมการสภานักเรียนนั้นให้ประโยชน์ในหลาย ๆ เรื่อง มิใช่เพียงแค่ได้ profile ดี ๆ หรือได้เกียรติบัตรเชิดชูคุณงามความดีอย่างแน่นอน


Author: สิทธิกานต์ ธีระวัฒนชัย

อัสสัมชนิกรุ่น 130