ฝันเฟื่องเรื่องเอ.ซี. : นวล ปาลิกะภัฎ

ผู้เขียน : นวล ปาลิกะภัฎ
product

ฝันเฟื่องเรื่องเอ.ซี.

นวล ปาลิกะภัฎ ใน อุโฆษสาร 1972 หน้า 73 - 76

 


 

       เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2515 ผู้เขียนได้รับหนังสือจากท่านอธิการโรงเรียนอัสสัมชัญขอบทความเพื่อลงในหนังสือ “อุโฆษสาร” ซึ่งทางโรงเรียนได้จัดทำเป็นประจำทุกปี โดยมอบหน้าที่ให้แก่คณะนักเรียนชั้น ม.ศ. 5 เป็นผู้ดำเนินงานในเรื่องนี้ ท่านอธิการเคยมาขอแทบทุกครั้ง และผู้เขียนก็ได้สนองตอบแทบทุกครั้งเหมือนกัน มาครั้งนี้เมื่อได้รับหนังสือจากท่านอธิการแล้วก็เริ่มคิดว่าจะเขียนอะไรให้ท่านดี เพราะบทความที่จะนำไปลงในอุโฆษสารนั้นเป็นมีดสองคม ถ้าดี ก็เป็นประโยชน์แก่นักเรียนและท่านผู้อ่านทุกท่าน ถ้าไม่ดีก็เป็นโทษ หรืออาจจะถูกท่านอธิการนำต้นฉบับฉีกลงตะกร้าเสียก็ได้ จึงได้พยายามคิดหาเรื่องที่เหมาะสมมาเขียนเพื่อโรงเรียนที่รักของผู้เขียน

 

       ค่ำวันหนึ่ง นั่งคิดนอนคิดว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี ก็พอดีเคลิ้ม ๆ หลับ ๆ ตื่น ๆ เห็นท่านเจ้าคุณพ่อของผู้เขียน (พระยาพลกายกรีธา) แต่งตัวนุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงิน ใส่เสื้อราชปะแตน กระดุมห้าเม็ด สวมถุงน่องรองเท้า ใส่หมวกสักหลาด (บอสซลิโนของห้างฮกจ๋วนในสมัยนั้น) ถือไม้เท้า (ไม้แก้วเลี่ยมถม) จูงมือผู้เขียนไปยังตึกใหญ่ในตรอกโอเรียลเต็ล ฝั่งซ้ายมือ ผู้เขียนแต่งกายเรียบร้อยผ่านประตูมีตัวอักษรฝรั่งเศสที่ผู้เขียนอ่านไม่ออก และอักษรไทยงามชัดเจนว่า “โรงเรียนอัสสัมชัญ” พาผู้เขียนขึ้นไปบนตึกชั้นสองพบท่านอาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ แต่งตัวกระโปรงดำสูบยากล้องหน้าตาน่ากลัวเกรงขาม แต่มีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ท่านเจ้าคุณของคุณพ่อของผู้เขียนได้มอบตัวผู้เขียนแก่ท่าน เมื่อลงทะเบียนเรียบร้อยแล้วจำได้ว่าเลขประจำตัว 6101 ผู้เขียนก็ถูกพาไปห้อง “ปรีแปร์ บี” อันมีท่านมาสเตอร์ยอน (อาจารย์ขจร มังคลานนท์) เป็นครูประจำชั้น ผู้เขียนเคยเรียนอยู่ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์มาก่อน เมื่อมาอยู่ที่อัสสัมชัญนี้มีมาสเตอร์ยอนเป็นครูคนแรก อาจารย์ท่านนี้ดุน่าชมดี ฟาดก้นตีมือนักเรียนที่เกเรเสียจนเป็นที่เกรงขาม ทั้ง ๆ ที่ตัวท่านเล็ก ๆ ผอมบางมีหนวดเรียวบนริมฝีปาก ผู้เขียนเรียนอยู่ที่อัสสัมชัญหลายปี ผ่านอาจารย์มาหลายท่านอาทิเช่น มาสเตอร์ฮอลเกอร์ ปีเตอร์ซัน มาสเตอร์เนาว์ มาสเตอร์ฮวด มาสเตอร์วงศ์ (หลวงมิตรธรรมพิทักษ์) มาสเตอร์ยูซุป ภราดาอาลอยซิส (จิ้งจก) ภราดาซิมิออล (แก้มแดง) ภราดาหลุย (แตร) และจอมปราชญ์ ภราดาฮีแลร์ (สอนแปลไทย - อังกฤษ, อังกฤษ - ไทย) ส่วนอาจารย์ภาษาไทยก็มีมาสเตอร์เจือ มาสเตอร์เจริญ มาสเตอร์ฟุ้ง ท่านมหาแปลก และท่านมหาสุข ผู้เขียนเรียนอยู่ในโรงเรียนอัสสัมชัญจนสำเร็จ ม.6 ในสมัยนั้นพอขึ้น ม.7 ได้ประมาณเดือนหนึ่ง ท่านภราดาฮีแลร์ก็นำตัวไปมอบให้ทำงานที่บริษัท บอร์เนียว จำกัด ในแผนกประกันภัย ซึ่งผู้เขียนก็ได้ยึดถือเป็นอาชีพมาจนทุกวันนี้

 

       เมื่อผู้เขียนเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ ท่านอธิการคนปัจจุบันจะเกิดหรือยังก็ไม่รู้ โดยได้เลขประจำตัวดังกล่าวแล้ว ได้ร่ำเรียนมาด้วยดีตลอด โรงเรียนอัสสัมชัญเราอาภัพ ไม่มีสนามหญ้าสำหรับวิ่งเล่นในโรงเรียนเพื่อเล่นกีฬาต่าง ๆ เช่นโรงเรียนคริสเตียน สวนกุหลาบ หรือเทพศิรินทร์ แม้โรงเรียนปทุมคงคาในสมัยนั้นเขาก็ยังมีสนามของเขาเองแต่เล็กไปหน่อย แต่ของเรามีลานเล่นกว้างใหญ่ มีต้นจามจุรีต้นใหญ่ขนาดหลายคนโอบแผ่กิ่งก้านสาขาร่มเย็น ลานเล่นของเราเป็นดินชนิดที่มีอิฐปนทรายกีฬาที่เล่นกันก็มี ลูกหิน พูดถึงลูกหินนักเรียนอัสสัมชัญในสมัยนั้นยิงลูกหินได้แม่นยำมาก จับลูกหินด้วยมือซ้าย แล้วยิงด้วยนิ้วกลาง บางคนยิงได้แม่นยำราวกับจับวางระยะ 3 - 5 เมตรยังงี้ละก็สบายมาก ลูกหินเป็นก้อนเล็ก ๆ ประมาณคล้ายลูกกระสุนที่เขายิงกับคันกระสุนนอกจานี้มีเล่น วิ่งเปี้ยว ขี่ม้าส่งเมือง ตี่จับ โมรา ชักคะเย่อ ฯลฯ (การกีฬาพวกนี้ไม่รู้ว่าหายไปไหนหมด) สนุกไปตามประสา กล่าวมาแล้วว่าเราไม่มีสนามฟุตบอลในโรงเรียน แต่เรามีลานเล่นอันกว้างใหญ่ ทีนี้นักฟุตบอลเราก็มีมากทั้งพวกฝรั่งเศสและอังกฤษ จะทำอย่างไรเลยเล่นกันแบบแบ่งเขต เล่นกันดังนี้ พวกฝรั่งเศสเล่นแถวหน้าตึกอำนวยการ (ตึก ฟ.ฮีแลร์เดี๋ยวนี้) พวกอังกฤษมีมากกว่าฝรั่งเศสหลายเท่า แบ่งเล่นกันดังนี้สนามหน้าส้วม (ความจริงผู้เขียนไม่อยากเขียนแต่ความจริงมันเป็นดังนั้น) สนามหน้าตึกขวางชั้นเดียว (เดี๋ยวนี้เป็นโรงอาหาร) สนามเรือนไม้สามชั้น (เดี๋ยวนี้เป็นตึก) สนามใต้ต้นจามจุรี นอกจากนั้นเรายังมีโรงเล่นลักษณะเป็นโรงไม้โปร่งมีหลังคามีที่นั่งรอบ ๆ ใช้เป็นที่ประชุมเวลาสิ้นปี พวกนักหนอนหนังสือไม่เล่นกีฬาก็ไปนั่งพักดูตำรากันเป็นทิวแถว พวกที่เรียนดีได้ที่ดี ๆ ก็พวกนี้แหละ เขตที่แบ่งเล่นฟุตบอลกันนั้นใครจะล้ำเขตใครไม่ได้ ขืนล้ำเข้าไปเป็นฉะกันหน้าตาแหก สนุกสนานกันอย่างมหาวินาศ พอระฆังดังให้เขาเรียน ปกติต้องมีนักเรียนพวกหนึ่งพากันเดินขึ้นไปห้องหมอเป็นทิวแถว เพราะมีอาการนิ้วฉีก เท้าฉีก แข้งโป ขาแตก คิ้วแตก ฯลฯ เพราะเล่นฟุตบอล ท่านผู้อ่านคงแปลกใจว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้นเพราะว่าฟุตบอลที่ใช้เล่นส่วนมากเป็นฟุตบอลยาง ใหญ่กว่าลูกเทนนิสนิดหน่อย และถ้าไม่ใช่ลูกยางก็เป็นลูกเทนนิส นักฟุตบอลข้างหนึ่ง ๆ ก็มีประมาณ 30 - 40 คน ลูกฟุตบอลมันก็เล็ก เตะกันไปเตะกันมาก็มักไม่ถูกฟุตบอลมันไปถูกเท้าเอา แข้งขา กันเองเสียแหล่ะมาก เลยเกิดเป็นบาดแผลขึ้น (เข้าใจว่าเดี๋ยวนี้ไม่มีการเล่นเช่นนี้อีกแล้วแน่ ๆ ) ทำให้พยาบาลประจำห้องหมอมีงานทำกันเป็นชั่วโมง ๆ นักฟุตบอลอัสสัมชัญอาภัพมาแต่แรกที่ไม่มีสนามของเราเองในบริเวณโรงเรียน เย็น ๆ ลงก็ได้อาศัยสนามหญ้าหน้าห้างสิงห์โตเล่นกันเมื่อเวลาโรงเรียนเลิกเพราะพวกนี้ “บ้า” ฟุตบอลกันจริง ๆ สนามหญ้าห้างสิงห์โตไม่ใช่เขตของโรงเรียน (ห้างสิงห์โต คือ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล อินยิเนียริ่ง เดี๋ยวนี้) เล่นกันไปเล่นกันมาก็มีการชกต่อยกันตามเรื่อง ต่อยกันแล้วพอฟันหักปากเจ่อก็เลิกกันไป ไม่มีการอาฆาตจองเวรพยาบาทกันอย่างสมัยนี้ ใครต่อยกันหนักก็เป็นเพื่อนสนิทกันยิ่งขึ้น ผู้เขียนเคยเห็นพี่เขตรกับพี่มาลัยต่อยกันนับไม่ถ้วนหนในโรงเรียนก็ไม่เห็นเขามีอะไรกัน จนเดี๋ยวนี้เจอกันเขากอดรัดฟัดกันด้วยความรักอย่างสุดซึ้ง น่าชื่นใจ

 

       แต่นักฟุตบอลอัสสัมชัญยังโชคดีที่มีสนามของโรงเรียนเองเรียกกันว่าสนาม “วิลลามงฟอร์ต” สนามนี้อยู่ที่เซนต์หลุยส์ 2 เวลาจะไปเล่นฟุตบอลก็เดินกันไปแทบแย่ ได้ผลิตนักกีฬายอดเยี่ยมไว้มาก อาทิ แบ๊คเขตร-มาลัย พี่อมรนัด (ถั่วมัน ๆ ) หลุยฮอก เป็นต้น ถ้าจะให้กล่าวนามกันให้ทั่วแล้ว ผู้เขียนว่าอีกชั่วโมงก็ไม่หมด ชื่อนักฟุตบอลขั้นดาราของอัสสัมชัญสมัยโน้น คู่แข่งของอัสสัมชัญก็มีโรงเรียนคริสเตียน และอีกโรงเรียนหนึ่งซึ่งเรียกว่าโรงเรียนบางขวาง (ร.ร.ราชวิทยา นนทบุรีซึ่งต่อมาล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ทรงรวมเข้ากับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ใช้ชื่อว่า ร.ร.วชิราวุธวิทยาลัย) เราแข่งกันแบบ “เหย้า” กับ “เยือน” เราไปแข่งกันเขา ๆ ก็ต้อนรับอย่างแข็งแรง เขามาแข่งกับเรา ๆ ก็ทำหน้าที่เจ้าของเหย้า รับรองผู้มาเยือนอย่างแข็งแรงเช่นกัน นักฟุตบอลมีชื่อของ “บางขวาง” สมัยโน้นถ้าผู้เขียนจำไม่ผิดก็มี กองหน้าขั้นดาราเช่น คุณเสนาะ สนิท สนั่น เข้าใจว่ามีนามสกุลว่า “วรรณางกูร” ฝ่ายคริสเตียนก็มีคุณครูสมศักดิ์ (เหลียง) กฤษณสุวรรณ พี่แถม (ประตูมีชื่อ) พล.ต.ต. โมรา (ซุ่นฮวด) ดุลละลัมภะ เป็นต้น ฟุตบอลอัสสัมชัญในสมัยโน้นมีชื่อดังโด่งกระเดื่อง บางปีชนะเลิศได้ถ้วยได้โล่มาตั้งหลายรุ่น และที่ดังที่สุดก็คือแบ๊คเขตร กับแบ๊คมาลัย มีผู้กล่าวขวัญกันทั้งเมือง ส่วนกองหน้านั้นที่ดังจริง ๆ ในสมัยโน้นก็ฒีฝ่ายตรงข้ามคือ “ต่วน (หาญวงศ์) สาย (กำไรนาค) ชาย (บุนนาค)” เรียกกันย่อ ๆ ว่า “ต่วน สาย ชาย” ท่านทั้งสามเป็นกองหน้าก็ย่อมต้องปะทะกับฝ่ายป้องกันของอัสสัมชัญ คือ พี่เขตร กับพี่มาลัย กล่าวกันว่าถ้าเจอะกันเมื่อไรเป็น “ไฟแลบ” เพราะเปรียบเสมือนขมิ้นกับปูนเจอะกันเข้าเมื่อไรเป็นแดงแจ๋เมื่อนั้น เลิกเล่นแล้วหน้าก็ไม่อยากจะมองกัน ขืนมองกันเดี๋ยวมีเรื่อง แต่เป็นที่น่าประหลาดที่ท่านเหล่านี้แก่ตัวลงกลับรักใคร่สนิทสนมกันเป็นที่สุด อาทิเช่น อาจารย์ชาย บุนนาค คู่ปรับของพี่เขตร ศรียาภัย บัดนี้ก็ได้ทำงานการกุศลร่วมกันโดยฝึก “ไท้กิ๊บ” บริหารร่างกายให้กับผู้สูงอายุ ณ บริเวณวัดราชนัดดาราม ให้มีอายุวัฒนะร่วมกัน และรักกันเหมือนพี่น้อง เรื่องเก่า ๆ แก่ ๆ ลืมไปหมด นี่คือสปิริตของนักกีฬา อาจารย์ชายเคยคุยให้ผู้เขียนฟังเสมอว่า เมื่อหนุ่ม ๆ ครั้งเป็นนักฟุตบอลด้วยกันนั้นหน้าพี่เขตรท่านก็ไม่อยากจะมอง มาเดี๋ยวนี้รักกันยิ่งพี่ยิ่งน้องเสียอีก นักกีฬาสมัยก่อนกับสมัยนี้มีสปิริตผิดกันมากจริง ผู้เขียนขอสวดอ้อนวอนให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลกจงช่วยดลบันดาลให้เด็กไทยของเราจงมีสปิริตแบบนี้ทั่วไปทุก ๆ คน ประเทศชาติของไทยเราคงจะเจริญขึ้นมากกว่านี้เป็นแน่ 

 

       เคลิ้มฝันมาถึงแค่นี้ก็พอดีตกใจตื่นอย่างแสนเสียดาย ตั้งใจว่าจะฝันต่อเรื่องของ เอ.ซี. ในสมัยโน้นอีก หากโอกาสอำนวย คราวนี้เอาแค่นี้ก่อนแล้วฝันต่อเอามาเขียนให้อ่านอีกนะครับ เข้าใจว่าถ้าทางโรงเรียนขอเรื่องมาผู้เขียนก็จะขอฝันต่อ สำหรับตอนนี้ขอจบเพียงแค่นี้ก่อน

สวัสดี.

 

นวล ปาลิกะภัฎ 15. 9. 15


Author: นวล ปาลิกะภัฎ