ระลึกถึงโรงเรียนที่รักของข้าพเจ้า : วิจิตร ลุลิตานนท์

ระลึกถึงโรงเรียนที่รักของข้าพเจ้า
ศ.จ.วิจิตร ลุลิตานนท์ ใน อุโฆษสาร 1972 หน้า 25 - 27
ท่านอธิการโรงเรียนอัสสัมชัญแจ้งมายังข้าพเจ้าว่า ทางโรงเรียนจะได้จัดพิมพ์หนังสือ “อุโฆษสาร” ประจำปี 2515 ขอให้ข้าพเจ้าเขียนบทความลงในหนังสือนั้นเช่นปีก่อน ๆ
ข้าพเจ้าขอขอบพระคุณท่านอธิการอย่างยิ่งที่ให้เกียรติ และในฐานะอัสสัมชนิกต้องสนองรับด้วยความยินดี และเต็มใจยิ่งเช่นเคย
ท่านอธิการได้อ้างว่าบทความที่ข้าพเจ้าได้เคยเขียน เป็นบทความที่มีคุณค่าในทางแนะแนว โดยเฉพาะแก่นักเรียนรุ่นหลังเป็นอย่างดี
ข้อนี้เป็นการสรรเสริญของท่านผู้ใหญ่ตามปกติวิสัย ซึ่งข้าพเจ้าต้องมีอัธยาศัยรับฟังท่านไว้ และขณะเดียวกันสำหรับการเขียนครั้งนี้ ก็พยายามจะให้เป็นผลตามสมควรดังที่ท่านมุ่งหวัง
ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนอัสสัมชัญเลขประจำตัว 3533 เรียนอยู่ระหว่างปี 2457 - 2467 เรียนภาษาฝรั่งเศสจบชั้นสูงสุด แล้วเรียนภาษาอังกฤษต่อชั่วระยะเวลาเล็กน้อยก็ออก
ที่รีบออกจากโรงเรียน เพื่อไม่เสียเวลาไปเรียนกฎหมายต่อ ซึ่งเรียนสำเร็จสอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตใน พ.ศ. 2470 ส่วนภาษาอังกฤษก็ใช้เวลาว่างเรียนเพิ่มเติม ซึ่งส่วนใหญ่ฝึกฝนตนเอง
สมัยที่ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนและสมัยต่อ ๆ มา โรงเรียนอัสสัมชัญเป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับการยกย่องโดยทั่วไปว่า เป็นโรงเรียนชั้นเยี่ยม คนที่เรียนสำเร็จ ดีทั้งความรู้และความประพฤติ
ข้าพเจ้าขอยืนยันรับรองความดีนี้ ข้าพเจ้าเรียนกฎหมายต่อสำเร็จด้วยดี และภายในระยะเวลาอันสั้น ก็เพราะได้รับความรู้พื้นฐานอย่างดีจากโรงเรียนอัสสัมชัญ
กล่าวโดยทั่วไปผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า ไม่ว่าจะไปเรียนต่อทางใดในประเทศหรือต่างประเทศ ก็เล่าเรียนสำเร็จได้ด้วยดีทั้งนั้นยังกล่าวได้ว่า นักเรียนเก่าอัสสัมชัญนั้น ในทางการงานทุกด้าน ทางราชการไม่ว่าฝ่ายใด ทางธุรกิจใด ๆ อัสสัมชนิกมีอยูทั่วไป ในหน้าที่สำคัญ ๆ ทุกระดับทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นที่น่าภาคภูมิและชื่นชมยิ่งนัก
ข้าพเจ้าเองมิได้มีโอกาสไปศึกษาในต่างประเทศ เพียงแต่ได้ไปดูและฝึกงาน ก็ได้อาศัยพื้นความรู้ต่างประเทศทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสที่ได้จากโรงเรียนอัสสัมชัญ ช่วยให้สามารถเรียนรู้ได้รับผลเป็นอย่างดีทั้งด้านวิชาการและด้านปฏิบัติการ จนในชั้นหลังจังได้รับปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เมื่อข้าพเจ้าเข้าเรียนกฎหมายนั้น เป็นขณะที่รัฐบาลมีนโยบายรับระบบประมวลกฎหมายเข้ามาใช้ จึงต้องจ้างศาสตราจารย์ผู้รู้กฎหมายชาวฝรั่งเศสเข้ามาทำหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้สอนกฎหมายหลายคน อาจารย์เหล่านั้นไม่รู้ภาษาไทย ทำการสอนเป็นภาษาฝรั่งเศส ข้าพเจ้าผู้หนึ่งที่สมัครเข้าฟังการสอน และต่อมาได้ทำหน้าที่ล่ามแปลคำสอนให้แก่อาจารย์เหล่านั้น ก็ปฏิบัติหน้าที่ได้ดี
ด้วยความรู้ภาษาฝรั่งเศและอังกฤษจากโรงเรียนอัสสัมชัญนั้นเอง ข้าพเจ้าจึงมีพื้นฐานพอสมควรอ่านตำรากฎหมายและอื่น ๆ ภาษาต่างประเทศพอเข้าใจได้ และได้ความรู้เพิ่มเติมในทางวิชาการเป็นอันมาก
ต่อมาเมื่อรัฐบาลเปิดมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองใน พ.ศ. 2476 และมหาวิทยาลัยมีความต้องการจ้างเนติบัณฑิตที่มีความรู้ดีทั้งภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสเพื่อเป็นผู้ช่วยจัดทำตำรา ก็มีนักเรียนอัสสัมชัญส่วนใหญ่สมัครเข้าสอบ และผู้ที่สอบแข่งขันได้รับบรรจุ 4 คนนั้น ก็เป็นนักเรียนอัสสัมชัญทุกคน รวมทั้งข้าพเจ้าด้วยคนหนึ่ง
ตลอดเวลาที่ข้าพเจ้าปฏิบัติงานในหน้าที่ต่าง ๆ ทางมหาวิทยาลัย เริ่มตั้งแต่ พ.ศ 2477 มาจนบัดนี้ ทางด้านวิชาการในการทำหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้บรรยายก็ดี ในด้านงานบริหาร ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการมหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการจัดทำและพิมพ์ตำรา คณบดีคณะนิติศาสตร์ ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการของอธิการบดี ประธานคณะอาจารย์ฝ่ายปกครอง ฯลฯ ก็ได้อาศัยพื้นความรู้ที่ได้เล่าเรียนจากโรงเรียนอัสสัมชัญอยู่เป็นสำคัญ
ข้าพเจ้ากล่าวอ้างอิงมาทางนี้เป็นพยานหลักฐานการเป็นนักเรียนอัสสัมชัญของข้าพเจ้านั้น ได้รับประโยชน์เหลือล้นและได้ไต่เต้าขึ้นรับหน้าที่สำคัญ ๆ ก็ด้วยบุญคุณอันยิ่งใหญ่ของโรงเรียน ที่ได้ให้การศึกษาพื้นฐานไว้ ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่าอัสสัมชนิกทุกคนจะต้องรับรองความจริงข้อนี้
มีอีกประการหนึ่งที่สำคัญยิ่งนัก คือ โรงเรียนอัสสัมชัญมิได้ให้เฉพาะความรู้ทางวิชาการเป็นอย่างดีเท่านั้น แต่ทางระเบียบวินัยก็ดีเยี่ยม นักเรียนอัสสัมชัญจึงได้ชื่อว่ามีความรู้ดีและความประพฤติดี รักษาชื่อเสียงของโรงเรียนไว้ให้สูงเด่นเสมอ
ที่กล่าวมาทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นข้อระลึกของนักเรียนปัจจุบันว่า โชคดีของตนแล้วที่ได้เข้ามาเรียนในโรงเรียนอัสสัมชัญ ทางโรงเรียนได้ทำหน้าที่เป็นอย่างดีในการให้บริการแก่นักเรียนทุกคนแล้ว นักเรียนทุกคนจึงต้องสนองรับด้วยดี เพื่อประโยชน์ของตนในอนาคต
นักเรียนอัสสัมชัญปัจจุบันทุกคนจะได้รับเกียรติของโรงเรียน และนึกถึงรุ่นพี่ที่ผดุงชื่อเสียงให้แก่โรงเรียนมาแล้ว และถือเป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องสงวนรักษาชื่อเสียงของโรงเรียนไว้ให้สมบูรณ์ดีตลอดไป
และท้ายที่สุด ขอนักเรียนทุกคนจงรักโรงเรียนอัสสัมชัญของเรา .