ลูกศิษย์โรงเรียนอัสสัมชัญ ปัญหาเรื่องเด็กและโรงเรียน : พระยามไหสวรรย์

ลูกศิษย์โรงเรียนอัสสัมชัญ ปัญหาเรื่องเด็กและโรงเรียน
พระยามไหสวรรย์ ใน อุโฆษสาร 1971 หน้า 3 - 7
นักเรียนอัสสัมชัญเก่าแก่ผู้หนึ่ง ซึ่งอัสสัมชนิกหลายรุ่นหลัง ๆ ยังได้ยินชื่อเสียงเพราะผู้นั้นยังมีชีวิตอยู่ และปัจจุบันก็ยังมีบทบาทในสังคมมากบ้างน้อยบ้างทั้ง ๆ ที่อายุของเขาผู้นั้น อยู่ในวัยชรา คราวปู่ตา ของลูกหลานรุ่นหลัง ๆ ที่ยังเรียนอยู่ในโรงเรียนที่ปู่ตาของเขาเคยเรียน
ขอขอบคุณท่านภราดา อธิการโรงเรียนและอัสสัมชนิกร่วมโรงเรียนที่ระลึกและถามถึงข้าพเจ้า ในขณะเดียวกัน ขอให้ข้าพเจ้าเขียนชีวประวัติส่วนตัวเท่าที่จะเป็นประโยชน์ความรู้แก่นักเรียนรุ่นหลัง ๆ ข้าพเจ้าไม่ขัดข้อง เมื่อระลึกถึงโรงเรียนก็ใครจะเขียนถึงวันอยู่โรงเรียนเท่าที่จำได้มาเล่าสู่กันฟังพอเป็นบทนำสักเล็กน้อยก่อน คิดว่าจะพาชีวิตตัวเองกลับไปเข้าโรงเรียนอีกครั้ง ก็จะเป็นความสนุกสนานเบิกบานใจดีเหมือนกัน
เด็กชายผู้นั้นเป็นไทยมีเชื้อสายชั้นหลายเหลนจีน ถือกำเนิดเกิดเมื่อ พ.ศ. 2430 ที่บ้านเดิม ตำบลหัวลำโพง พระนคร บรรพบุรุษเรียกชื่อ “แตงกวย” อันมีความหมายถึงเด็กอ้วนเหมือนฝักเป็นชื่อเล่น เมื่อนำชื่อนี้ไปขึ้นทะเบียนเป็นนักเรียนอัสสัมชัญเพี้ยนเป็นชื่อ “ตันกวย” ซึ่งหมายเอาชื่อและแซ่เป็นนิมิตขนานรวมรวมกัน
เด็กชายแตงกวยหรือตันกวยเข้าเรียนเป็นนักเรียนอัสสัมชัญตั้งแต่ชั้นประถมที่เรียกว่า Elementary Class ในสมัยนั้น เมื่อสอบได้ก็ขึ้นชั้น Preparatory Class แล้วก็ขึ้นชั้น 1 ชั้น 2 ชั้น 3 ไปจนถึงชั้น 6 ข้าพเจ้าเรียนอยู่ชั้น 5 ขาดไป 2 ชั้น ต้องออกมาเรียนต่อพิเศษในเวลาทำงานอีกหลายปี จึงนับว่าภาษาอ่านพูดและเขียนพอใช้การได้ ในการมีอาชีพรับราชการและออกมาเป็นนักธุรกิจอยู่ในวงสังคมปัจจุบัน
ย้อนไประลึกถึงโรงเรียน สมัยข้าพเจ้าเรียนอยู่ชั้น Elementary Class นั้น, เรียนอยู่ก่อนแล้ว จึงปรากฏว่ามีท่านภราดาเข้ามามีบทบาทเป็นครูสอนในโรงเรียนอัสสัมชัญ เดิมมีแต่บาทหลวง และครูบุคคลสามัญทั้งไทย และฝรั่ง ท่านบาทหลวงสมัยข้าพเจ้าเรียนมีพ่อกอลมเบต์ พ่อกันตอง ฯลฯ เป็นต้น Brothers รุ่นแรกมี Brothers Hilaire Brother Gabriel ฯลฯ เท่าที่ข้าพเจ้าจำได้และท่านทั้งรุ่น 2 ที่ออกนามนี้เคยเป็นครูข้าพเจ้าส่วนภราดารุ่นต่อไปอีก 2 - 3 รุ่น ก็มาในสมัยที่ข้าพเจ้ายังเรียนอยู่ ซึ่งท่านรู้จักข้าพเจ้า ในสมัยนั้นเรามักเรียกท่านโดยนามสมมุติตามความคะนองของเด็ก ๆ และรู้จักในพวกนักเรียนเข้าใจว่านักเรียนในรุ่นต่อ ๆ มาแม้รักและนับถือเคารพครูบาอาจารย์ของตน ก็ยังอาศัยความหมายอ้างอิงถึงครูคนนั้น ๆ ในชื่อเล่น ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปนั่นเอง นี่เป็นความคะนองของเด็กนักเรียนรุ่นข้าพเจ้า พวกเรากลัวเกรงเคารพครูบาอาจารย์หาได้มีใครลบหลู่ดื้อดึงทำตนต่อต้าน ประพฤติผิดนอกเหนือระเบียบวินัยของโรงเรียนไม่ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่โรงเรียนอัสสัมชัญยังรักษาชื่อเสียงเหล่านี้ไว้เป็นเกียรติของโรงเรียนอยู่จนบัดนี้
ขณะที่ข้าพเจ้าเรียนอยู่ชั้น Standard 1 นั้น ครูประจำชั้นคือครูกาเดโรเป็นครูสอน ข้าพเจ้าเป็นเด็กนักเรียนดีพอสมควร สัปดาห์ไหนมีการสอบแข่งเขียนลายมือข้าพเจ้าได้ที่ 1 เสมอ ครูกาเดโรสุขภาพไม่สู้จะดีเนื่องด้วยอายุมาก บางวันต้องกลับบ้านปล่อยให้นักเรียนเขียนอ่านวิชาที่กำหนดให้ทำกันเองในระหว่างครูไม่อยู่ ในขณะเช่นนั้นมักจะทึกทักให้ข้าพเจ้าเป็น Top Boy มายืนเกาะโต๊ะครูเฝ้าดูนักเรียนเป็นยามเฝ้ามิให้หนูทั้งหลายระเริง ทำนองแมวไม่อยู่หนูคะนอง ประสบการณ์นี้คงจะเป็นที่สังเกตบ่อย ๆ แก่ท่าน ภราดาฮีแลร์ซึ่งขณะนั้นเป็นครูสอนชั้น Elementary Class ห้องอยู่ใกล้ชิดติดกันห้อง Standard 1 ผ่านไปมาเสมอ คงจะเห็นหน้าจำข้าพเจ้าได้ และรู้จักดีอย่างน้อยก็คงจะเดาว่าเป็นเด็กดีคนหนึ่ง รุ่งขึ้นอีกปีหนึ่ง ข้าพเจ้าเลื่อนชั้นเรียนขึ้น Standard 2 บังเอิญครูฮีแลร์ก็เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปสอนห้อง 2 กลับไปเป็นครูข้าพเจ้า เป็นที่รู้กันว่าครูฮีแลร์นั้นฉลาดหลักแหลมเรียนไว พยายามศึกษาความรู้เลื่อนวิทยฐานะ เป็นครูเลื่อนตำแหน่งได้รวดเร็ว ซึ่งข้าพเจ้ากับครูใหม่เคยคุ้นหน้ากันมาแล้ว จากสายตาที่ต้องกันจึงเป็นเครื่องอนุเคราะห์ให้ครูกับศิษย์หรือศิษย์กับครู ข้าพเจ้ากับครูฮีแลร์เริ่มต้นมีมิตรจิตอัธยาศัยตรงกัน ฐานครูก็ดีศิษย์ก็ดี เต็มใจสอนและเต็มใจเรียน ข้าพเจ้าเป็นศิษย์ของครูฮีแลร์อยู่ตลอดปี ท่านรักข้าพเจ้า และข้าพเจ้าก็รักท่าน และอัธยาศัยไมตรีที่ตรงกันนั้นได้ผนึกแน่นแฟ้น สืบตลอดมาตราบเท่าอายุและชีวิตของท่าน เมื่อข้าพเจ้าพ้นความเป็นนักเรียนแล้ว เราพบกันที่ไหน ท่านก็ยังถือว่าท่านเป็นครู ไม่ยอมให้ข้าพเจ้าโต ชีวิตตอนหลังของท่านกับข้าพเจ้าเป็นประหนึ่งมิตรสนิทกัน ความจริงข้าพเจ้ากับครูฮีแลร์อายุไล่เลี่ยกัน ท่านแก่กว่าข้าพเจ้าสามสี่ปีเท่านั้น ท่านเรียนเก่ง เรียนไว เรียนเป็นนักปราชญ์ ท่านจึงเป็นปราชญ์ในการประสิทธิ์ประสาทวิทยาการเป็นคุณประโยชน์แก่วงการศึกษาทั่วไป เป็นธวัชชัยและมิ่งขวัญของโรงเรียนอัสสัมชัญตราบเท่าทุกวันนี้ ชื่อเสียงของท่านยังติดอยู่กับโรงเรียน เมื่อข้าพเจ้าขึ้นชั้นเรียนชั้น 3 และชั้น 4 ภราดา Gabriel ก็เป็นครูข้าพเจ้าทั้ง 2 ชั้น เราเรียกท่านว่าบราเดอร์ “อั้น” เพราะท่านอ้วนท้องพลุ้ยและใจดี
ข้าพเจ้าออกจากโรงเรียนเมื่อปี พ.ศ. 2448 ได้เข้ารับราชการในกรมเจ้าท่า ในตำแหน่งนายเวรหนังสือ ได้เงินเดือนขั้นต้น 80 บาท นับเป็นโชคดีสำหรับผู้ออกจากโรงเรียนเริ่มเข้ารับราชการในสมัยนั้น ซึ่งอัตราเงินเดือนเสมียนเริ่มต้นด้วยอัตรา 20 บาท แต่ข้าพเจ้ามียี่ห้ออัสสัมชนิกและรู้ภาษาอังกฤษติดตัวจากโรงเรียน จึงได้เงินเดือนขั้นต้นพิเศษ
จากตำแหน่งนายเวรหนังสือ ได้เลื่อนขั้นเป็นนายทะเบียนกองทะเบียนเรือและเลื่อนเป็นเลขานุการกรม ได้รับเงินเดือนอัตรา 200 – 20 – 300 บาท รับราชการอยู่ในกรมเจ้าท่า 12 ปี ครั้นปี 2460 ทางราชการได้ขอโอนข้าพเจ้าจากกรมเจ้าท่า ซึ่งขณะนั้นสังกัดกระทรวงนครบาลไปรับราชการในกรมบัญชีกลาง กระทรวงพระคลังมหาสมบัติในตำแหน่งนายเวรชั้น 1 มีอัตราเงินเดือน 300 – 20 – 400 บาท รับตำแหน่งอยู่ 2 ปี ก็เลื่อนขึ้นรับตำแหน่งผู้ช่วยอธิบดีกรมบัญชีกลาง อัตราเงินเดือน 400 – 40 – 600 บาท รับอัตรานี้อยู่ 5 ปี จึงได้เพิ่มพิเศษเป็นเดือนละ 700 บาท ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดสำหรับข้าราชการพลเรือนสามัญ รองจากตำแหน่งอธิบดี และก็ได้ยศบรรดาศักดิ์ตามตำแหน่งและความดีความชอบตามสมัยนิยมในสมัยนั้น
ปี พ.ศ. 2469 เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้แต่งตั้งข้าพเจ้าให้รับตำแหน่งเป็นเลขานุการสภาการคลังอีกตำแหน่งหนึ่ง โดยยังเป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมบัญชีกลางยังดังเดิม สภาการคลังเป็นสภาที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นในสมัยนั้นมีเจ้านายชั้นสูงองค์อภิรัฐมนตรี ในขณะนั้นเป็นองค์กรรมการสภา มีพระเจ้าพี่ยาเธอกรมพระจันทบุรีนฤนาทเป็นประธานสภา ประกอบด้วยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานิวัติวงศ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศุภโยคเกษม เสนาบดีกระทรวงการคลังในสมัยนั้น และเจ้าพระยามหิธรฯ ราชเลขาธิการ เป็นองค์กรรมการสภาในสมัยต้น และมีการเปลี่ยนกรรมการบางพระองค์และบางท่านในสมัยต่อมา
มีเรื่องน่าเล่าแทรกตรงนี้ซึ่งข้าพเจ้าถือว่าเป็นเกียรติภูมิของโรงเรียนกล่าวคือ ตำแหน่งเลขานุการสภาการคลัง ขณะนั้นมีความสำคัญมากเพราะเป็นตำแหน่งอยู่ใกล้ชิดเจ้านายชั้นสูง โดยพระอิสริยยศและตำแหน่ง เมื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งสภาขึ้นเพื่อทำหน้าที่ตรวจพิจารณางบประมาณแผ่นดิน และโปรดเกล้าฯ ตั้งเสด็จในกรมพระจันทบุรีนฤนาทเป็นประธานพร้อมด้วยองค์กรรมการดังกล่าวแล้วก็จะต้องมีเลขานุการทำหน้าที่ของสภา ซึ่งจะต้องใช้บุคคลที่มีคุณวุฒิเป็นผู้รู้งาน เคยทำงบประมาณตามระเบียบการคลัง ซึ่งปฏิบัติอยู่ในสมัยนั้น ข้าพเจ้าเป็น Candidate ถูกเลือกคนหนึ่งในหลายคนที่เป็นนักเรียนนอกก็มี เพื่อจะได้รับตำแหน่ง เมื่อเสนาบดีคลังและผู้ใกล้ชิดเสนอชื่อข้าพเจ้ากราบทูลว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้มีการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญก็รับสั่งว่า “ใช้ได้” เพราะเกียรติและชื่อเสียงของโรงเรียนอัสสัมชัญในสมัยนั้นนิยมกันว่า นักเรียนที่ออกมารับราชการรู้ภาษาต่างประเทศใช้การได้ เป็นที่เห็นได้ว่าชื่อเสียงของโรงเรียนเป็นธงชัยนำชัยชนะให้ข้าพเจ้าได้ตำแหน่งอันมีเกียรตินั้น
ข้าพเจ้ารับตำแหน่งเลขานุการสภาการคลังอันเป็นตำแหน่งพิเศษขณะที่ยังรับตำแหน่งผู้ช่วยอธิบดีกรมบัญชีกลางอยู่หลายปี จนถึงสมัยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ. 2475 แล้วต่อมาในปี พ.ศ. 2476 จึงได้ลาออกจากราชการรับพระราชทานเบี้ยบำนาญ ในปี 2478 ระหว่างที่ไปเที่ยงพักผ่อนอยู่ในประเทศญี่ปุ่นเพื่อเยี่ยมลูกซึ่งศึกษาวิชาอยู่ที่โตเกียว ข้าพเจ้าได้รับคำสั่งจากรัฐบาลสมัยพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ให้กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังฯ นัยว่าท่านให้เข้ามาช่วยทำงานงบประจำปี 2479 ข้าพเจ้าได้ช่วยราชการอยู่ตลอดเวลานั้น และได้ลาออกรับพระราชทานเบี้ยบำนาญอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2480
ในปี พ.ศ. 2480 นั้นเอง ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งให้ข้าพเจ้าเป็นนายกเทศมนตรีนครธนบุรี ช่วยวางระเบียบรูปงานสมัยเริ่มตั้งเทศบาล ชีวิตข้าพเจ้าเริ่มเปลี่ยนจากใช้วิชาการคลังมาทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองท้องถิ่น ซึ่งหลังจากการเปลี่ยนปกครองตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว รัฐบาลก็ได้นำระบอบเทศบาลปกครองท้องถิ่นมาใช้ในปีนั้น
ปี พ.ศ. 2484 ขณะที่เป็นนายกเทศมนตรีอยู่นั้น ข้าพเจ้าได้ถูกเรียกกลับให้เข้ารับราชการอีกในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทำหน้าที่อยู่จนถึงปี พ.ศ. 2489 จึงได้ออกรับพระราชทานบำนาญครั้งที่ 3 และกลับเข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีอีกเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งอยู่ในตำแหน่งท้องถิ่นได้ปีเดียวก็ได้ถูกเรียกกลับเข้ารับราชการอีกครั้ง เมื่อ พ.ศ. 2490 ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
หลังจากข้าพเจ้าพ้นหน้าที่ราชการโดยเด็ดขาดแล้ว ก็มาเกี่ยวข้องอยู่ในวงการธุรกิจการค้า ได้ตั้งบริษัทขึ้นเองบ้าง ช่วยคนอื่นตั้งบ้างหลายบริษัท จนบัดนี้ก็ยังเป็นประธานและกรรมการอาชีพอยู่หลายบริษัทหลายแห่ง เมื่อเขายังเชื่อถือไว้ใจว่าข้าพเจ้ายังช่วยงานเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นประโยชน์ให้เขาได้ เขาก็ให้สิ่งตอบแทนเป็นเครื่องเลี้ยงชีพ เห็นว่าพอจะมีสุข พอสมควรต่อไปได้ถึงปลายชีวิต
ในสังคมบางทีเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันที่ยังมีชีวิตอยู่ก็แสดงความเป็นห่วงถึงการงานที่ข้าพเจ้ายังทำอยู่ในวัยที่เป็นคนแก่ บางคนก็ให้กำลังใจว่า คนเราถ้ายังมี activity อยู่ก็ดีเหมือนกัน อายุจะได้ยืน
ข้าพเจ้ามีนิสัยเป็นคนอยู่ไม่สุข ชอบทำงานทุกอย่างที่ตนทำได้เพื่อความเจริญก้าวหน้าของตนและบ้านเมือง สิ่งใดที่ไม่รู้จัก ข้าพเจ้าเรียนและศึกษาหาความรู้ให้ตนสามารถทำได้ ตำแหน่งที่เขามอบหมายให้ทำ ถ้าเราทำด้วยมีความรู้ ผลงานก็ดี สิ่งทั้งหลายทั้งปวงจึงอยู่ที่ความพยายามและความขยันหมั่นเพียร ขอให้ท่านทั้งหลายเมื่อยังเป็นนักเรียนก็จงใช้ความเพียรอุตสาห์เล่าเรียน เรียนแล้วออกไปทำงานอาชีพ ก็จงขยันเพียรพยายามสร้างตนเองต่อไปอย่าลดละให้มีชื่อเสียงต่อ ๆ ไป เหมือนดั่งศิษย์โรงเรียนอัสสัมชัญคนนี้ที่เล่าประวัตินี้ให้เท่าฟัง
ประวัติข้าพเจ้าเห็นจะมีมากกว่านี้ที่เป็นสาระสำคัญควรเขียน แต่ข้าพเจ้าขอยกไว้ให้คนข้างหลังเขาเขียน จะพรรณนากันอย่างไร ข้าพเจ้าคงจะไม่ได้อ่าน เพราะคนเราอยู่ในวัฏฏะ เกิด แก่ เจ็บ ตาย พ้นด่านสุดท้ายไปแล้วก็ปิดฉาก
ข้าพเจ้าขอส่งความระลึกถึงท่านภราดา ครูบาอาจารย์ และอัสสัมชนิกทั้งหลายมา ณ โอกาสนี้ด้วย
ปัญหาเรื่องเด็กและโรงเรียน
เมื่อไม่นานมานี้ โรงเรียนการประชาสัมพันธ์ได้เชิญให้ข้าพเจ้าไปร่วมการอภิปรายด้วยข้อปัญหาเรื่องเด็กกับโรงเรียน ในหัวข้อ “บทบาทของโรงเรียนและการพัฒนาสังคม” ข้าพเจ้ายังเก็บสำเนาข้ออภิปรายนั้นไว้ พอดีเด็ก ๆ รุ่นหนุ่มชั้นมัธยมปลายแห่งโรงเรียนอัสสัมชัญหลายคนมาหาข้าพเจ้าที่บ้าน แจ้งว่ามีหน้าที่ได้รับมอบหมายจากโรงเรียนให้มาขอบทความข้อเขียนและชีวประวัติส่วนตัวจากข้าพเจ้า เพื่อพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์ของโรงเรียน เดิมแจ้งมาว่า ขอชีวประวัติย่อ ๆ ของข้าพเจ้า ก็ได้เล่าเรื่องย่อ ๆ สมัยอยู่โรงเรียนให้ไปแล้ว พ่อหนุ่ม ๆ ได้ย้อนกลับมาหาข้าพเจ้าอีก แจ้งเพิ่มเติมว่าอยากได้ข้อเขียนเกี่ยวกับความรู้สึกของข้าพเจ้าในด้านส่งเสริมเยาวชน หรือบทความเกี่ยวกับความรู้ด้านอื่น ๆ เช่น เศรษฐกิจการค้าเบื้องต้น เท่าที่ข้าพเจ้าพอใจจะเขียนเรื่องใดร่วมในหนังสือที่จะจัดพิมพ์
ข้าพเจ้าได้เคยพูดเรื่องเด็ก ๆ และโรงเรียนและบทบาทในสังคมไว้ดังกล่าวข้างต้น จึงได้เรียบเรียงขึ้นใหม่ตามเค้าโครงที่เคยเขียนไว้ดังต่อไปนี้
ความสนใจต่อเด็ก ๆ และยุวชน ข้าพเจ้าคิดว่าผู้ใหญ่ทุกคนจะเป็นบิดามารดาหรือผู้ปกครองโดยตรงหรือไม่ก็ตาม ย่อมมีความสนใจกับภาวะความเป็นอยู่ และความเคลื่อนไหวของเด็กทุกวัยทุกระยะอยู่ด้วยกันทุกคนที่สนใจและห่วงใยมาก ก็ได้แก่บิดามารดา เป็นธรรมดาอยากเห็นลูกเติบโตเป็นคนดี
การอบรมให้การศึกษาเล่าเรียนและฝึกอบรมนิสัยความประพฤติแก่เด็ก ทางโรงเรียนและทางบ้านมักจะมีทรรศนะแตกต่างไม่ตรงกัน และในหลาย ๆ กรณีโยนความผิดไปในทำนองซัดกัน ทางบ้านปัดหน้าที่ไปให้โรงเรียน อ้างว่าลูกหลานของตนส่งเข้าโรงเรียนแล้ว ครูควรอบรมสั่งสอนรับผิดชอบให้การศึกษาและให้การอบรมแก่เด็ก ฝ่ายทางโรงเรียนยอมรับว่ามีหน้าที่รับผิดชอบในการสั่งสอนให้วิชาความรู้ แต่การอบรมนิสัยใจคอและความประพฤติดีชอบของเด็กนั้น ชอบที่ทางบ้านจะต้องดูแลว่ากล่าวตักเตือนอบรมไปจากทางบ้าน จะเหมาให้ทางโรงเรียนทำหน้าที่ทุกอย่างนั้นไม่ได้ ทั้ง 2 ฝ่ายมักจะมีทรรศนะไปคนละทาง ซึ่งทางที่ถูกนั้นต่างก็มีหน้าที่ด้วยกันทั้งทางบ้าน และทางโรงเรียน หนีความรับผิดชอบจากกันไม่ได้ เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองก็อยู่ใกล้ชิดกับลูกหลานของตนเมื่อเด็กอยู่บ้าน และโรงเรียนก็ต้องอบรมเมื่อเด็กอยู่โรงเรียนต้องรับผิดชอบช่วยเหลือกันด้วยความหวังดีร่วมกัน
ผู้ใหญ่เมื่อพูดถึงเด็ก มักจะปลอบใจ ด้วยคำขวัญใน ทำนองยกย่องว่า “เด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า” ซึ่งมุ่งหมายจะให้สำนึกรู้สึกว่า ถ้าเป็นเด็กดีในวันนี้ ก็จะเป็นผู้ใหญ่ดี เป็นพลเมืองดีในวันหน้า แต่วิธีการที่จะช่วยกันอบรมสั่งสอนให้เด็กเป็นเด็กดีนั้น ถ้ามันซัดกันอยู่ว่าไม่เป็นความรับผิดชอบของใคร เด็กก็จะเป็นเด็กดีไม่ได้
การอบรมและให้การศึกษาแก่เด็กนั้นหนีไม่พ้น จะต้องเป็นหน้าที่ของครูหรือโรงเรียนด้วย ครูจะต้องให้ความสนใจรักใคร่เด็ก ทุ่มเทกำลังใจกำลังเวลาให้การศึกษาแก่ศิษย์ของตนเต็มเวลาเต็มหน้าที่ ขณะนี้ได้ทำเช่นนั้นอยู่แล้วหรือหาไม่ ถ้ามิได้ทำมีอะไรเป็นอุปสรรค เช่นครูมีรยได้น้อยต้องกระเสือกกระสนใช้เวลาไปหารายได้ทางอื่นเป็นอาชีพ ครูหรือเจ้าของโรงเรียนก็น่าจะได้พิจารณารายได้ และสมรรถภาพของครูทางโรงเรียนให้ดีขึ้น
ทางบ้านก็มีปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่ไม่น้อย ซึ่งปล่อยปละละเลยมิได้ ให้ความอุปการะความอบอุ่น และ ความเหลียวแลแก่เด็กอย่างเพียงพอ ด้วยอุปสรรคความจำเป็นและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในหลายกรณี ถ้าจะได้มีการสำรวจหาข้อเท็จจริงถึงพฤติการณ์อันเป็นต้นเหตุของความยากลำบากของเด็กและครอบครัวของเด็ก จากทางการและจากสถาบันการกุศล ซึ่งเวลานี้ก็มีอยู่มากมาย ช่วยกันปรับปรุงให้ความช่วยเหลือเด็กทั้งทางบ้านและทางโรงเรียนให้เหตุการณ์ดีขึ้น เด็ก ๆ และ เยาวชนวัยรุ่นที่ประพฤติตนนอกลู่ทางอยู่ขณะนี้ ก็อาจกลับตัวได้ อย่าด่วนสิ้นหวังและเอาโทษแก่เด็กฝ่ายเดียว
หลักการอบรมเด็กเยาวชนมีความเห็นกันว่า ควรส่งเสริมให้เด็กใช้เวลาว่างทำประโยชน์ ทำหน้าที่ช่วยผู้ใหญ่ให้ใกล้ชิดเท่าที่จะใกล้ชิดได้ เช่น ให้มีโอกาสทำหน้าที่งานบริการรู้จักช่วยเหลือผู้ใหญ่ในกิจกรรมที่เด็กพึงทำได้ ทั้งที่บ้านที่โรงเรียนและสังคม เช่นตั้งสโมสรน้อย ๆ ขึ้นในโรงเรียนของตน รับปฏิบัติงานตามแนวแนะเป็นการร่วมมือกันในเวลาว่างเรียน อยู่ในความควบคุมดูแลของครูบาอาจารย์ที่ตนเรียนอยู่ ซึ่งปัจจุบันนี้มีสมาคมโรตารี่ในท้องที่ที่โรงเรียนตั้งภูมิลำเนาอยู่ได้ดำเนินเข้าช่วยเหลือแนะนำให้มีการตั้งสโมสรเยาวชนแพร่หลายอย่างกว้างขวางได้ผลดี
งานบริการที่ว่านี้ มีหลักการข้อแนะอบรมให้เยาวชนรุ่น ๆ รู้จักปฏิบัติหน้าที่ รู้จักการสงเคราะห์ ให้บริการซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือชุมชน และสังคม และค่อย ๆ ขยายขอบเขตเป็นวงกว้างออกไปถึงบริการระหว่างชาติด้วย หาทางอบรมให้เด็กเพลิดเพลินกับการทำดีประพฤติดี ช่วยงานทางบ้าน ทางครอบครัวทางโรงเรียนและสังคม โดยมีระเบียบข้อบังคับให้ปฏิบัติ ดังเช่นตัวอย่างวัตถุประสงค์โดยย่อต่อไปนี้
1.เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กรุ่นหนุ่มมีโอกาสได้ร่วมกันทำงานรับใช้สังคม ตั้งแต่วัยที่เขาควรจะให้ความสนใจที่จะทำหน้าที่เช่นนั้นได้ คือ การให้บริการสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตัวของเขาแก่ครอบครัว แก่โรงเรียน และสังคมสงเคราะห์ที่เขาพึงทำได้ และส่งเสริมงานบริการนั้น ๆ ให้กว้างขวางออกไป จนถึงการผูกปลูกมิตรภาพระหว่างกันระหว่างประเทศ
2.เพาะนิสัยในพวกเด็ก ๆ ด้วยกันเอง ให้รู้จักความกตัญญูกตเวทีต่อผู้หลักผู้ใหญ่ที่ควรเคารพนับถือยกย่อง มีความซื่อสัตย์สุจริต
3.ส่งเสริมให้ประพฤติและปฎิบัติตนในคติให้คนเรารู้จักเห็นอกเห็นใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
4.ส่งเสริมให้สังคมตระหนักในความสำคัญของครอบครัวของโรงเรียน และชาติบ้านเมืองของตน
5.ให้รู้จักเคารพในสิทธิของผู้อื่น โดยให้เข้าใจในคุณค่าของคนแต่ละคน
6.ช่วยเหลือประชาคม และหมู่คณะบุคคลที่ประกอบกิจงานสาธารณูปการที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชน ด้วยความสนใจว่า เป็นหน้าที่ของตนพึงให้บริการ
7.ช่วยเหลือกิจการงานที่เป็นประโยชน์ให้ความเจริญทางบ้าน ทางโรงเรียน และทางสังคมเคราะห์
เด็กเยาวชนที่เขาเสนอแนะ ให้รวมกันตั้ง เป็นสโมสรที่เรียกว่า “Rotaract” นั้น เขาแนะให้เลือกเด็กรุ่นชั้น ม.ศ. 3 - 4 - 5 ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย อบรมทางศีลธรรม และให้รู้หน้าที่การให้บริการแก่สังคมไปแต่ยังเยาว์
ข้าพเจ้าเห็นว่า การพัฒนาเด็กและเยาวชน นอกจากอาศัยพัฒนาตามโครงการของรัฐบาลแล้ว ในด้านประชาชนสมาคมและหน่วยงานสังคมสงเคราะห์ต่าง ๆ ควรร่วมมือให้ความสำคัญช่วยกันพัฒนาด้วย ก็จะเป็นผลดีแก่สังคมเยาวชนเป็นอันมาก
จากปรากฏการณ์หรือประสบการณ์ที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ เรายังขาดเครื่องส่งเสริม ขาดความร่วมมือร่วมใจทางบ้าน ทางโรงเรียน และจากเจ้าหน้าที่ทางการที่จะส่งเสริมอบรม ต่างคนต่างมองข้ามความสำคัญที่จะดูแลอบรมให้เยาวชนมีจรรยามารยาท ประพฤติดี รู้ศีลธรรม รู้จักคิด รู้จักทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ รู้จักการบริการ ซึ่งจักทำให้เกิดความเจริญแก่ตัวเอง สิ่งเหล่านี้ผู้ใหญ่จะต้องเป็นผู้นำ
การตั้งหน่วยบริการในรูปสโมสรดังกล่าวนี้ เวลานี้สโมสรโรตารี่ประเทศไทยกำลังดำเนินปฏิบัติได้ผลดีถ้าโรงเรียนกับโรตารี่แห่งท้องถิ่นที่ตั้งจะร่วมมือกันส่งเสริมก็จะเป็นทางดีมาก
พระยามไหสวรรย์
วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2514