ห้องพักครู... ห้องสะท้อน "ชีวิต"

ผู้เขียน : สิทธิกานต์ ธีระวัฒนชัย
product

(เรื่องโดย นายสิทธิกานต์ ธีระวัฒนชัย อัสสัมชนิก 46295 
อดีตรองประธานสภานักเรียน ปีการศึกษา 2558)

           


 “นี่ เดี๋ยวให้หัวหน้าห้องเอางานไปส่ง
ที่หน้าห้องพักครูนะ”


“ไปพบมิส/มาสเตอร์ที่ห้องพักครูด้วย”


“เฮ้ยทำไมมิส/มาสเตอร์ยังไม่มา
อยู่ห้องพักครูหรือเปล่า”


“ไปเอาชีทมาหน่อยสิ
วางอยู่ที่โต๊ะในห้องพักครูนะ”


 

            หากพิจารณาเพียงผิวเผินก็คงเป็นเพียงประโยคสนทนาธรรมดา ๆ ทั่ว ๆ ไป แต่หากลองสังเกตให้ดี จะเห็นว่าในชีวิตของการเป็นนักเรียนอัสสัมชัญนั้น หนึ่งในสถานที่ที่เป็นที่คุ้นเคย และมีความผูกพันกับนักเรียนอัสสัมชัญ ก็คือ “ห้องพักครู” นั่นเอง

 

            “ห้องพักครู” ถือได้ว่า เป็นสถานที่ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนอย่างชัดเจน กิจกรรมหรือการกระทำทางสังคมต่าง ๆ เช่น การพบปะพูดคุยกันระหว่างครูกับนักเรียน การส่งงานของนักเรียน การอบรมของครูแก่นักเรียน การช่วยเหลืองานครูของนักเรียน เป็นต้น ล้วนแต่ใช้ “ห้องพักครู” เป็นสถานที่หนึ่งในการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน ซึ่งห้องพักครูนั้น ยังแสดงถึงรายละเอียดหลาย ๆ อย่างของชีวิตในรั้วอัสสัมชัญ ซึ่งสามารถยกตัวอย่างได้ดังนี้

 


“ห้องพักครู” บ่งบอก “Lifestyle” ของกลุ่มคุณครู


 

            หากสังเกตให้ดีจะพบว่า บรรยากาศในห้องพักครูแต่ละระดับชั้น จะมีความแตกต่างกันไป เช่น ในช่วงปีการศึกษา 2556-2558 (สมัยที่ผู้เขียนเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 - 6) ห้องพักครูในระดับชั้น ม.ปลายในระดับชั้นต่าง ๆ ก็จะมีลักษณะบรรยากาศที่แตกต่างกันออกไป ตัวอย่างเช่น ห้องพักครูระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จะมีบรรยากาศที่ค่อนข้างอบอุ่น ทุก ๆ กลางวันจะมีกลุ่มครู (เช่น มิสสุกัญญา มิสศิริลักษณ์ มิสธัญญาภรณ์ เป็นต้น) มานั่งกินข้าวกลางวันด้วยกัน และพูดคุยกันถึงเรื่องราวต่าง ๆ เช่น เรื่องราวที่เกิดขึ้นในโรงเรียน เรื่องราวสถานการณ์ในบ้านเมือง เป็นต้น

 

 

            ส่วนห้องพักครูระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ก็จะมีบรรยากาศที่สงบเงียบ เนื่องจากมีครูอาวุโสอยู่ (เช่น มิสสุภา มิสอมราพันธ์ เป็นต้น) ขณะที่ห้องพักครูระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก็จะมีบรรยากาศที่อบอุ่น คล้าย ๆ กับห้องพักครูระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 แต่จะเพิ่มเติมตรงที่ กลุ่มครูที่ชื่นชอบทำอาหาร (เช่น ม.ไพฑูรย์ มิสละออ เป็นต้น) ก็จะมารวมตัวกันทำอาหารต่าง ๆ บางวันเป็นอาหารอีสาน เช่น ส้มตำ บางวันเป็นขนมต่าง ๆ เช่น คุกกี้ เค้กกล้วยหอม เป็นต้น และเมื่อทำเสร็จก็แบ่งปันให้คุณครูท่านอื่น ๆ ในห้องพักครู หรือแบ่งปันให้นักเรียนที่มาติดต่อที่ห้องพักครู นอกจากนี้ ก็ยังมีห้องพักครูอื่น ๆ เช่น ห้องพักครูชีวะ ห้องพักครูเคมี ห้องพักครูคอมพิวเตอร์ ห้องพักครูศิลปะ ซึ่งในแต่ละห้องพักครู ก็จะมีลักษณะบรรยากาศที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งจากตัวบรรยากาศที่แตกต่างกันในแต่ละห้องพักครูนี้เอง

 


แสดงถึงความแตกต่างใน “Lifestyle”
ของกลุ่มครูแต่ละกลุ่ม


       

     

 

            เช่น หากกลุ่มครูต้องการการพักผ่อน ความสงบเรียบร้อย ความเป็นส่วนตัว ต้องการพื้นที่ในการเคลียร์งานเอกสารของตนเอง ห้องพักครูก็จะมีลักษณะบรรยากาศที่สงบเงียบ และไม่ค่อยให้นักเรียน เข้า ๆ ออก ๆ ห้องพักครูเท่าไหร่นัก แต่หากกลุ่มครูต้องการพื้นที่ในการพบปะพูดคุยกับเพื่อนครู หรือทำกิจกรรมคลายความเครียดร่วมกัน  ห้องพักครูก็จะมีลักษณะบรรยากาศที่ค่อนข้างอบอุ่น เป็นกันเอง ไม่อึมครึม ซึ่งบรรยากาศห้องพักครูต่าง ๆ เหล่านี้ ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะและความต้องการในการใช้ชีวิตในรูปแบบต่าง ๆ ของกลุ่มคุณครูที่แตกต่างกันนั่นเอง

 


“ห้องพักครู” บ่งบอก “กฎระเบียบของโรงเรียน”
และ
“การปลูกฝังมารยาททางสังคมไทย”


 

            ในสมัยที่ผู้เขียนยังเป็นนักเรียนอัสสัมชัญ การที่จะเข้าห้องพักครูแต่ละครั้ง นักเรียนทุกๆคนจะต้องมีการปฏิบัติตามกฎระเบียบต่าง ๆ ของโรงเรียน เช่น ต้องแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยและถูกต้อง ตามกฎระเบียบของโรงเรียน ไม่พูดจาหยาบคาย เป็นต้น และต้องมีการปฏิบัติตามมารยาททางสังคมไทย เช่น ต้องมีการเคาะประตูและพูดขออนุญาตก่อนการเข้าห้องพักครูทุก ๆ ครั้ง เมื่อเข้ามาในห้องพักครูแล้วต้องไม่ส่งเสียงดังรบกวนคุณครูที่อยู่ในห้องพักครู ต้องมีการบอกจุดประสงค์ของการเข้าห้องพักครูต่อครูที่นักเรียนทำการขออนุญาต เป็นต้น ซึ่งถือได้ว่าการกระทำเหล่านี้

 


สะท้อนถึงการเคารพ ปฏิบัติตามกฎระเบียบของโรงเรียน และมารยาททางสังคม


 

            อีกทั้งการกระทำเหล่านี้ เช่นการขออนุญาตและบอกจุดประสงค์ของตนเอง ก่อนจะทำการใด ๆ การรู้จักเคารพความเป็นส่วนตัว (Privacy) ของผู้อื่น สามารถนำเอาไปประยุกต์ใช้กับการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ เช่น การติดต่อขอพบอาจารย์ที่ปรึกษาในมหาวิทยาลัย การเคารพสิทธิเสรีภาพทั้งในที่รโหฐาน และในที่สาธารณะ เป็นต้น

 

 


“ห้องพักครู” คือ “สถานที่เก็บความทรงจำและหล่อหลอมนักเรียน”


 

            ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด ห้องพักครูก็ยังคงเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยความทรงจำของครูและนักเรียนเสมอ นักเรียนหลาย ๆ คน เคยเข้าห้องพักครู เพราะถูกครูเรียกไปตักเตือน ทำโทษ หรือตัดคะแนนความประพฤติ นักเรียนหลาย ๆ คน เคยเข้าห้องพักครู เพราะมีปัญหาหรือเรื่องราวต่าง ๆ ที่ตนเองไม่สามารถแก้ไขได้หรือไม่สบายใจ และต้องการที่จะไปปรึกษาคุณครู นักเรียนหลาย ๆ คน เคยเข้าห้องพักครู เพราะตั้งใจหรือถูกเรียกให้ความช่วยเหลือในงานของคุณครู เป็นต้น ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นความทรงจำของคุณครู และนักเรียน ที่ถูกเก็บเอาไว้มาเรื่อย ๆ ในหลายยุคหลายสมัย

 

            หลาย ๆ คนเมื่อจบจากรั้วอัสสัมชัญไปแล้ว ก็มักจะกล่าวว่า

 


“ตนเองได้ดี เพราะการตักเตือนลงโทษของครูท่านนั้นท่านนี้”


“ตนเองประสบความสำเร็จได้ เพราะคำแนะนำของครูท่านนั้นท่านนี้”


 

            ซึ่งถือได้ว่าห้องพักครู เป็นสถานที่ที่เก็บความทรงจำในอดีต และทำการหล่อหลอมให้หลาย ๆ คนนั้น เป็นคนดีหรือประสบความสำเร็จในชีวิตได้

 

            

            ดังนั้น จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ชัดเจนว่า ห้องพักครูนั้น มิได้เป็นเพียงแค่สถานที่ที่เอาไว้ใช้ เพียงเฉพาะสำหรับการติดต่อสื่อสารระหว่างครูกับนักเรียนเท่านั้น หากแต่ยังเป็นสถานที่ที่แสดงถึงวิถีชีวิตของคุณครู แสดงถึงการเคารพกฎระเบียบโรงเรียน แสดงถึงการปลูกฝังมารยาททางสังคมไทย แสดงถึงความทรงจำอันมีค่าในวัยเรียนของนักเรียน แสดงถึงการเป็นสถานที่ที่เป็นเบ้าหลอมให้นักเรียนหลาย ๆ คนรู้ผิดชอบชั่วดี และประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่น่าประทับใจและเป็นสิ่งที่มีค่าของชีวิตในรั้วอัสสัมชัญทุก ๆ ยุคสมัย

 


Author: สิทธิกานต์ ธีระวัฒนชัย

อัสสัมชนิกรุ่น 130