เตรียมตัวออกทำงาน : ขจร สุขพานิช

ผู้เขียน : ขจร สุขพานิช
product

เตรียมตัวออกทำงาน

ขจร สุขพานิช ใน อุโฆษสาร 1972 หน้า 57 - 61

 


 

       เมื่อบิดานำข้าพเจ้ามาฝากเข้าโรงเรียนที่กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2463 ข้าพเจ้าเชื่อว่านี่เป็นเหตุการณ์สำคัญในชีวิตข้าพเจ้า ชีวิตที่จะเริ่มในนครหลวงเมื่อกว่าห้าสิบปีมาแล้ว

 

       กรุงเทพฯ ในสมัยนั้นเล็กกว่าปัจจุบันมาก ถนนน้อย รถน้อย ความจอแจก็น้อยตามไปด้วย แต่สำหรับเด็กเจ็ดขวบจากอำเภอ เมื่อเข้ามาสู่พระนครก็ย่อมเห็นว่าใหญ่โตยิ่งนัก แต่นั่นเป็นการเห็นอย่างผ่าน ๆ เพราะข้าพเจ้าเข้ามาเรียนในฐานะเด็กประจำ หรือเรียกว่าเด็กในไม่มีโอกาสออกไปชมพระนครบ่อยนัก

 

       จากการศึกษาชั้นประถม 1 - 2 - 3 ผ่านชั้น Elementary 1 - 2, Prepareatory แล้วขึ้นชั้น Standard I ก็กินเวลาหลายปี จะกี่ปีแน่ต้องคิดย้อนหลัง คือจาก Standard VII ถอยหลังไปถึง Standard I 7 ปี ปีละ Standard จึงคิดได้ว่า ก่อนขึ้นชั้น Standard I ข้าพเจ้าย้ำอยู่ในชั้นเล็ก ๆ 3 ปี

 

       ทำไมข้าพเจ้าจึงแบ่งชั้นประถมเป็น 1 - 2 - 3 แบ่งชั้น Elementary เป็น 1 - 2 แล้วจึงถึงชั้น Preparatory ก่อนที่จะขึ้นชั้น Standard I ?

 

       นี่เป็นเหตุการณ์จริง แต่เหตุที่จะแสดง ณ ที่นี้ เป็นเหตุผลที่หามาได้ในชั้นหลัง เป็นเหตุผลของข้าพเจ้าเอง ไม่ทราบว่าจะตรงกับเหตุผลของโรงเรียนหรือไม่ คือ ประถม 1 - 2 - 3 เป็นการเรียนภาษาไทยให้อ่านออก, เขียนได้ จนนับว่าใช้ได้ เป็นการเรียนประถมละครึ่งปีแล้วขึ้นชั้น เด็ก 7 ขวบมาเข้าชั้นประถม 1 อย่างข้าพเจ้า พออ่านออกเขียนได้มาบ้างแล้ว ถึงแม้จะเรียนมาจากโรงเรียนระดับอำเภอ จึงใช้เวลาเพียงปีครึ่งที่ผ่านได้ตลอด 3 ชั้น

 

       ส่วน Elementary และ Preparatory นั้น เป็นการเรียนเน้นหนักในภาษาอังกฤษใช้เวลา 1 ปีสำหรับ Elementary 1 - 2 และอีก ½ ปี สำหรับ Preparatory จึงพร้อมที่จะขึ้นชั้น Standard I การเรียนภาษาอังกฤษให้พื้นฐานแน่นพอสมควรจึงใช้เวลาอีกปีครึ่ง รวมเป็น 3 ปี ก่อนจะขั้นชั้น Standard I

 

       ตลอดเวลา 3 ปีในชั้นประถมและชั้นเตรียมภาษาอังกฤษ ข้าพเจ้าจำได้ว่าภาษาอังกฤษนั้น สะกดอย่างหนึ่ง แต่อ่านอีกอย่างหนึ่ง นี่ควรเป็นประเภทยกเว้นของกฎ แต่ข้าพเจ้ากลับไปจำข้อยกเว้นเป็นสำคัญไปเสีย เพราะในการเขียนตามคำบอก Dictation ครั้งหนึ่ง ครูออกเสียงเป็น “คูด” ข้าพเจ้าก็งง เขียนไม่ได้ทันที ครูก็ออกเสียงซ้ำอีกหลายหน เสียงก็เป็น “คูด ๆ” ทุกที ข้าพเจ้าจึงเขียนไปว่า “kude” แล้วฆ่าออก เขียนแก้เป็น “cude” เมื่อมีการตรวจแก้คำผิด ครูก็เขียนคำนี้บนกระดานดำว่า เขียน “coul - d” ควรจะออกเสียงว่า “คูล - ด์” แต่ทำไมจึงออกเสียงว่า “คูด” แต่เมื่อออกเสียงเป็นเช่นนี้แล้วใครจะไปเขียนถูก

 

       เมื่อนำปัญหานี้ไปถามครู ครูก็จ้องหน้าแล้วกล่าวเสียงดุ ๆ ว่า “จำเอาไปก็แล้วกัน” ข้าพเจ้าก็ต้องจำไว้ แล้วเลยบอกกับตัวเองว่า ภาษาอังกฤษสะกดอย่างหนึ่ง ออกเสียงอีกอย่างหนึ่ง จำมาจนทุกวันนี้ ยังหาเหตุผลคำอธิบายไม่ได้

 

       อีกคำหนึ่งที่ยังเจ็บใจอยู่ คือ ครูบอกให้เขียนตาม ออกเสียงเป็น “เซ็ป-เปอร์-เร็ต” ข้าพเจ้าก็เขียน “seperate” ครูบอกว่าไม่ถูก ต้องเขียนเป็น “separate” ข้าพเจ้าก็มองหน้าครู แต่คราวนี้ไม่กล้าถามแล้ว ยังจำประโยคของครูได้อยู่ คือ “(อย่าถาม !) จำเอาไว้ก็แล้ว !!! “ มาคิดดูในตอนสูงอายุอย่างปัจจุบัน ข้าพเจ้าก็เห็นด้วยกับคำตอบของครูว่าถูกต้องแล้ว เพราะจะไปโต้แย้งหาเหตุผลกับเด็กอายุระหว่าง 7 - 10 ขวบได้อย่างไร เรื่องของเด็กในวัยน้อย ๆ ให้จำ แล้วจำ แล้วจำ ก็พอแล้ว จำให้ได้ จำให้ติดตาติดใจ แล้วเมื่อโตขึ้นจะไปหาเหตุผลกันอย่างไรก็เป็นเรื่องของคนจะใฝ่หา

 

       ตลอด 3 ปีในชั้นประถม ข้าพเจ้ายังจำได้อีกเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องนี้ กว่าจะจำใส่ใจจนไม่มีวันลืม ต้องถูกลงโทษ เฆี่ยนตีหลายสิบครั้ง คือต้องปฏิบัติตรงตามเวลา งานที่มอบหมายเป็นการบ้านต้องทำให้เสร็จเรียบร้อย, จะกล่าววาจาใดอย่าได้มุสาพาความ ฯลฯ โรงเรียนอัสสัมชัญใช้การลงโทษเป็นการสอนสั่งเรื่องนี้จนเข้ากระดูก

 

       มาคิดดูในชีวิตที่ผ่านมากว่า 40 ปี เมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว เรื่องตรงต่อเวลาหรือ Punctuality มักจะไม่ค่อยได้พบเพื่อน ๆ ที่เรียนมาจากโรงเรียนอื่น เช่น โรงเรียนหลวง เป็นต้น (คือโรงเรียนสวนฯ, เทพฯ, ปทุมคงคา, บ้านสมเด็จ ฯลฯ) เพื่อนจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนก็เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมโรงเรียน (คือ อัสสัมชัญ) คือพยายามรักษาเวลาตามนัด ไม่ค่อยมาช้า ทำให้คนอื่นต้องรอ

 

มีคำกล่าวในภาษาอังกฤษว่า

 

“Punctuality is the virtue of Kings !” นี่เห็นจะต้องขอเติมต่อไปว่า 

“and the A.C. and the B.C.C. boys !!!!”

(ขอเพื่อนโรงเรียนอื่นอย่าถือสาเลยขอโม้สักทีเท่านั้น)

 

       เมื่อขึ้นชั้น Standard I แล้วก็พอมองเห็นจุดหมายปลายทางคือ Standard VI ! นี่เป็นสิ่งที่พวกเราในสมัยโน้นถือเป็นเป้าหมาย เป็น goal สำหรับเด็กส่วนมากในเวลานั้น

 

       ทั้งนี้เป็นเพราะว่าใครจบ Standard VI ก็มีงานห้างฝรั่งรออยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อร่ำเรียนขึ้นมาถึง Standard V ต่างก็เตรียมตัวเพื่อจะออกไปทำงานเมื่อจบ Standard VI

 

       หลักสูตรใน Standard V จึงเริ่มสอน Book-keeping, shorthand และใครอย่างเรียน type - writing เป็นพิเศษ จะเรียนเสียเลยก็ได้ หรือจะรอจนขึ้น Standard VI ก็ยังมีเวลา ไม่สายเกินไป เมื่อจบ Standard VI แล้ว จะได้เลือกงานได้ตามใจสมัคร

 

       เพื่อนรุ่นเดียวกับข้าพเจ้า มีจำรัส จตุรภัทร, ชัช ชวางกูร ก็ปัดเข้าอยู่ในประเภทนี้ คือเรียนจบ Standard VI ก็ออกไปทำงานห้างฝรั่งเศสสมกับจุดหมายปลายทางที่มีอยู่ร่วมกัน แต่ที่มาเปลี่ยนเป็นนายธนาคาร, นายตำรวจ ในตอนหลัง ก็เป็นเรื่องความผันผวน และโชคชะตาของชีวิตที่อยู่นอกบทความนี้

 

       เมื่อข้าพเจ้า Standard V ร่วมกับจำรัสและชัชจะขึ้นชั้น Standard VI โรงเรียนก็เปลี่ยนเข็ม เปลี่ยนการจัดชั้นเรียน ตลอดจนยุบเลิกการเรียน Standard I, II, III, … มาเรียกเสียใหม่ว่า มัธยม 1,2,3, … นั่นเป็นเหตุการณ์เมื่อพวกเราจะขึ้นชั้น Standard VI เมื่อปลาย ค.ศ. 1928

 

       ทำไมโรงเรียนอัสสัมชัญอันเป็นโรงเรียนราษฎร์ หรือ Private School เบนเข็มให้คล้อยตามโรงเรียนหลวงหรือ Goverment School ในครั้งนั้น ข้าพเจ้าไม่ได้ติดใจเสาะหาเหตุผล เห็นจะเป็นเพราะว่า ต้องสาละวนเปลี่ยนเข็มชีวิตของตนเองให้คล้อยตามเข็มของโรงเรียนที่เปลี่ยนไปกระมัง ?

 

       จำได้ว่า เมื่อขึ้น Stanard VI ใน ค.ศ. 1929 และโรงเรียนเรียกเสียใหม่ว่า มัธยมปีที่เจ็ด โรงเรียนเปิดเดือนมกราคม 1929 ไปปิดเอาเดือนมีนาคม ค.ศ. 1930 คือ 15 เดือน เป็น 15 เดือนอันยาวเหยียดที่ต้องทุ่มเทความเพียรพยายามเป็นครั้งแรก หลังจากใช้ชีวิต “เจ้าสำราญ” มาแปดปี คือตั้งแต่ ค.ศ.1920

 

       Standard VI ในปีนั้นมีอยู่ 2 ชั้น แบ่งเป็น A และ B ห้อง A นั้น A สมชื่อ ประกอบไปด้วยผู้มีสติปัญญาเป็นเลิศในรุ่นมี มาสเซอร์บุนหย่วน, ถนัด พุกกะมาน เป็นจ่าฝูง ส่วนพวกห้อง B สติปัญญาเป็นรองเขา แต่มากด้วยความเพียรพยายาม มี จำรัส จตุรภัทร, ชัช ชวางกูร, จิตดี ตีระแพทย์ และรวมทั้งข้าพเจ้าด้วย

 

       ห้อง A นั้น บราเดอร์ซีเมออนเป็นครูประจำชั้น ส่วนห้อง B บราเดอร์ยอนเป็นครูประจำชั้น บราเดอร์ทั้งสองเปลี่ยนห้องกันสอนบางวิชา พวกเราจึงคุ้นเคยกับท่านทั้งสองพอสมควร แต่มีบราเดอร์อีกท่านหนึ่งมาสอนวิชาพิเศษคือ แปลไทยเป็นอังกฤษและแปลอังกฤษเป็นไทย บราเดอร์ท่านนี้คือ ฟ.ฮีแลร์ ชาวต่างประเทศที่จะรู้ทั้งสองภาษาดีจนเป็นครูเด็กชั้น ม.7 ได้ เห็นจะต้องยก ฟ.ฮีแลร์ว่า มีความรู้ความสามารถในการเป็นครูวิชานี้ได้เป็นอย่างดี

 

       ในการเรียนวิชาแปล ต่อมาอีก 10 กว่าปี ข้าพเจ้าได้เป็นลูกศิษย์อาจารย์ผู้หนึ่งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ ดร.วิทย์ ศิวะศริยานนท์ ข้าพเจ้าขอบันทึกไว้ในที่นี้ว่าข้าพเจ้าเป็นลูกศิษย์ ฟ.ฮีแลร์ และ ดร.วิทย์ ศิวะศริยานนท์ ซึ่งข้าพเจ้าถือว่าเป็นโชคดีของข้าพเจ้า

 

       ในส่วนวิชาที่พวกเราเตรียมตัวออกทำงาน คือวิชาการบัญชี, ชวเลขอังกฤษ, พิมพ์ดีดอังกฤษ พวกเราเรียนกันทุกคน เพราะเป็นวิชาบังคับ (ยกเว้นวิชาพิมพ์ดีด ซึ่งไม่บังคับ) วิชาที่ไม่บังคับต้องเรียนทุกวันก่อน 8 น. หรือหลัง 16 น. จำได้ว่า ในวิชาชวเลขอังกฤษพวกเราหลายคนสอบผ่านการเขียนนาทีละ 60 คำ อย่างไม่สบายใจนัก แต่มีอยู่คนหนึ่ง จะสอบได้ในปีนั้นหรืออีกปีหนึ่งถัดมา คือ 80 คำต่อนาที คือ มาสเตอร์บุนหย่วน ซึ่งต้องนับว่าเป็นเยี่ยมในรุ่นทั้งห้อง และ

 

       มาคิดดูในวัย 60 การเล่าเรียนของนักเรียนอัสสัมชัญในสมัยนั้น เขาจัดไว้ในประเภทเตรียมตัวจะออกไปเป็นเสมียนฝรั่ง คิดดูไม่น่าชื่นชมเลย แต่จะทำอย่างไรได้เสมียนฝรั่งที่สามารถพูดจากับนายฝรั่งได้ ทำบัญชีเป็นภาษาฝรั่งได้ พิมพ์จดหมายโต้ตอบเป็นภาษาฝรั่งได้ และบางคนยังสามารถจดชวเลขเป็นภาษาฝรั่งได้ก็ยังมี ความสามารถเช่นนี้ถ้านักเรียนโรงเรียนหวงทำได้ เราก็ต้องขอยกย่องเป็นพิเศษ แต่พวกเราอัสสัมชนิกทำงานนี้ได้มากหน้าหลายตา ไม่วิเศษอะไร เงินเดือนที่ห้างฝรั่งจ่ายในเวลานั้นอย่างต่ำก็ 40 บาท บางคนได้ 60 - 70 - 80 ก็ยังมี

 

       เมื่อเตรียมตัวออกทำงาน หลังจากจบ Standard VI ก็เพียงเป็นการเตรียมตัวออกเป็นเสมียนฝรั่งเช่นนี้ ข้าพเจ้าคงรู้สึกไม่จุใจ จึงยังไม่ลาออกตามเพื่อนบางคน แต่สมัครเรียน Standard VII หรือ มัธยมแปดให้จบบริบูรณ์อีก 1 ปีใน ค.ศ. 1930

 

       เมื่อจบแปดในเดือนมีนาคม พ.ศ 2473 (ค.ศ. 1930) ข้าพเจ้าก็ยังไม่สมัครไปทำงานเป็นเสมียนฝรั่ง (ทั้ง ๆ ที่ได้ offer 80 บาทที่บริษัทไฟฟ้าสยาม) ข้าพเจ้าสมัครเป็นครูหรือมาสเตอร์ต่อที่โรงเรียนอัสสัมชัญ

 

       สำหรับเพื่อนฝูงที่เรียนกันมาหลายปี ส่วนใหญ่ออกไปทำงานเป็นเสมียนฝรั่งแล้ว มีบางคนสมัครเรียนกฎหมายที่โรงเรียนกฎหมาย เช่น จิตติ ตีระแพทย์ และบุคคลพิเศษที่สอบชิงทุนป่าไม้ได้ใน พ.ศ. 2473 - 4 คือ ม.ล. ดำริ อิศรางกูร ณ อยุธยา ได้ไปเรียนเมืองนอก (ซึ่งในวิชาป่าไม้คือประเทศพม่า มีอีกท่านหนึ่งเรียน ม.8 ด้วยกัน สอบชิงทุนไปเรียนป่าไม้ในปีถัด ๆ มา คือ คุณดุสิต พานิชพัฒน์

 

       การ “เตรียมตัวออกทำงาน” ของเพื่อนส่วนใหญ่ปิดฉากได้แล้ว แต่ของข้าพเจ้าและเพื่อนอีกบางคนยังไม่จบ เรายังเตรียมตัวออกทำงานต่อไปอีก งานของเราคืองานอะไร งานชนิดไหนจึงจะจุใจเรา มีแต่อนาคตเท่านั้นที่จะบอกได้

 

       ข้าพเจ้าขอจบบทความนี้แต่เพียง พ.ศ. 2473 อีก 2 ปี ก็เกิดการปฏิวัติ มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองของประเทศ และก็มีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของพวกเราด้วย ในตอนนี้ต้องปล่อยในจำรัส จตุรภัทร, ชัช ชวางกูร เป็นเสมียนฝรั่งต่อไปก่อน สำหรับมาสเตอร์บุนหย่วน และข้าพเจ้า ทราบแต่เพียงว่าเข้าเป็นครูในโรงเรียนอัสสัมชัญ ตั้งแต่ พ.ศ. 2474 ขณะที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ยังเรียนอยู่มัธยมปีที่ 7 โรงเรียนอัสสัมชัญในปีนั้นเอง.

 


Author: ขจร สุขพานิช