ไหว้ครูเก่า ๆ : สุลักษณ์ ศิวรักษ์

ผู้เขียน : ส.ศิวรักษ์
product

ไหว้ครูเก่า ๆ

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ใน อุโฆษสาร 1972 หน้า 187 - 191

 


 

       เมื่อนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้รับรางวัลแมกซายซาย ที่นครมนิลา ในฐานะบุคคลตัวอย่างแห่งเอเชีย ด้วยได้รับใช้รัฐมาอย่างซื่อสัตย์สุจริตและมีความสามารถมาก จนยากที่จะหาผู้เสมอเหมือนได้ ท่านได้กล่าวสุนทรพจน์ตอนหนึ่งว่า การที่ท่านเป็นคนดีขึ้นมาได้เช่นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะท่านได้รับการอบรมสั่งสอนมาจากครูที่ดี ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ความคิดของท่านกลับมายังสถานการศึกษาเดิม ด้วยรู้สึกสำนึกในบุญคุณของท่านเหล่านั้น ที่ท่านพูดเช่นนี้ แสดงว่าท่านพูดอย่างจริงใจ แสดงว่าท่านเป็นคนกตัญญูรู้คุณคน บุคคลเช่นนี้ นับว่าหาได้ยากในโลก แต่แล้วเวลานี้ ท่านก็ลาออกจากราชการไปแล้วแสดงว่าทางราชการนี้ได้มีความกตัญญูรู้คุณคนที่ได้รับใช้ระบบและสถาบันของตนมาด้วยความเสียสละถึงเพียงนี้ จะอย่างไรก็ตาม ในที่นี้ ข้าพเจ้าต้องการพูดถึงครูเก่า ๆ ที่โรงเรียนอัสสัมชัญมากกว่าอะไรอื่น จะพูดถึงท่านที่ล้มหายตายจากไปแล้ว และท่านที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อเป็นการ “ไหว้ครู” เพราะคนเราที่มีอะไรดีขึ้นมาได้บ้างนั้น ครูย่อมเป็นส่วนสำคัญในการสั่งสอนปลูกปั้น แม้แต่บิดามารดา ท่านก็ถือว่าเป็นครูคนแรกของเรา 

 

       พูดถึงคุณป๋วย อัสสัมชนิกรุ่นเก่า ๆ เรียท่านกันว่า “มัสเซ่อป๋วย” แทบทั้งนั้น เพราะท่านเคยเป็นครูอยู่ด้วย ในระหว่างที่เรียนธรรมศาสตร์อยู่เมื่อก่อนสอบชิงทุนได้ไปต่างประเทศ ข้าพเจ้าไม่ทันเป็นลูกศิษย์ท่าน แต่ท่านได้สอนครูของข้าพเจ้า (คือ มาสเตอร์จรรยา เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ซึ่งมีส่วนสำคัญในการจัดทำ อุโฆษสาร สมัยแรก) จึงนับว่าท่านเป็นครูของครูอีกทีหนึ่ง เรื่องเกี่ยวกับท่าน ข้าพเจ้าแรกได้ยินจากปากคำของภราดาหลุยส์ (แตร) ซึ่งเวลามาด่าพวกเรา จะต้องพูดเสมอว่า “พวกแกมันใช้ไม่ได้ สู้นายผวย ลูกศิษย์ของคนนี้ (ชี้ไปที่ตัวท่านเอง) ไม่ได้ นายผวยเขาเก่ง เดี๋ยวนี้ไปสอนหนังสือฝรั่งอยู่ที่เมืองอังกฤษ” (ดังที่เวลานี้ท่านก็ทำหน้าที่เช่นนี้อีกแล้ว) ภายหลังข้าพเจ้ามีโอกาสได้คุ้นกับคุณป๋วย จึงเรียนถามท่านว่าอากัปอาการบริภาษแบบนี้ของท่านเจษฎาจารย์ แต่สมัยท่านเรียนมีบ้างไหม ท่านบอกว่ามี “สมัยผม ก็พวกแกมันใช้ไม่ได้ สู้ซุ่นดิ๊ดเขาไม่ได้ เดี๋ยวนี้เขาไปเรียนอยู่เมืองอังกฤษแล้ว” ส่วนสมัย ฯพณฯ สุกิจ นิมมานเหมินทร์ เป็นนักเรียนนั้น ไม่ปรากฏว่าท่านใช้คำพูดกระทบกระเทียบเปรียบเปรยทำนองนี้ ที่แปลกก็คือ ท่านภราดารูปนี้มักจะพูดอังกฤษกับพวกเรา แต่พอโกรธขึ้นมา ท่านต้องด่าเป็นภาษาไทย เช่นคราวหนึ่ง ห้องเราว่างครู ก็คุยกันสนุก ท่านสอนอยู่ห้องใกล้ ๆ ก็เข้ามาตะโกนว่า “หนังสือไม่เรียน เอาแต่คุยกัน พอสอบตกก็ว่าอ้ายบ้ามันสอนไม่ดี”

 

       ว่าโดยสัตย์จริงแล้ว ท่านเจษฎาจารย์หลุยส์ นอบีรอน (ที่พวกเราเรียกท่านกันว่าภราดาหลุยส์แตร) ท่านเป็นคนอารมณ์ดีมาก วิชาความรู้ก็แน่นมาก ทั้งภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และดนตรี ท่านมักจะยิ้มอยู่เสมอ ลูกศิษย์ลูกหา แม้เป็นผู้ใหญ่ไปแล้ว ก็มักกลับมาหาท่าน สมัยข้าพเจ้าเป็นนักเรียน ยังเห็นอาจารย์สุกิจแวะมาสนทนาปราศรัยกับท่านเนือง ๆ และได้อ่านที่ท่านเขียนสรรเสริญครูอาจารย์ของท่านรูปนี้ไว้ในที่หลายแห่ง คุณป๋วยก็เคยบอกข้าพเจ้าว่าท่านผู้นี้น่าเคารพนับถือมาก แต่ที่คุณป๋วยเคารพนับถือมากเป็นพิเศษ เห็นจะได้แก่เจษฎาจารย์ฮูแบร์โต ซึ่งคุณป๋วยบอกว่า แม้ยุงริ้นท่านก็ไม่ตบตี มีเมตตาปรานีตลอดทั่วถึงสรรพสัตว์ ไม่เคยเห็นท่านโกรธใคร ทั้งการสอนก็ตั้งใจเป็นพิเศษ

 

       ท่านทั้งสองนี้ ข้าพเจ้ารู้จักอยู่แต่ห่าง ๆ เพราะข้าพเจ้าเรียนแผนกอังกฤษ ย่อมไม่มีทางสนิทกับภราดาฮูแบร์โต และเรียนเจ็ดแปดทางด้านอักษรศาสตร์ ในขณะที่ภราดาหลุยส์เป็นครูประจำชั้นทางด้านวิทยาศาสตร์ ถึงกระนั้นก็ได้เคยสนทนากับท่าน และเคารพยำเกรงท่านมาแต่สมัยอยู่โรงเรียน ตราบจนเท่าทุกวันนี้ แม้ท่านหนึ่งจะตายจากไปแล้วก็ตาม

 

       ในบรรดาเจษฎาจารย์รุ่นเก่า ๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่จนถึงบัดนี้ นอกจากภราดาฮูแบร์โตแล้ว เจษฎาธิการฮิวเบิร์ตอีกท่านหนึ่ง ซึ่งพวกเราเคารพยำเกรงท่าน รุ่นข้าพเจ้าไม่ทันเรียนกับท่านเสียแล้ว แต่ท่านก็เป็นตัวตั้งตัวตีที่สำคัญในการนำคณะเซนต์คาเบรียลกลับมาจากอินเดีย เพื่อเปิดการสอนตอนสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่แล้ว ท่านเป็นทั้งอธิการที่โรงเรียนอัสสัมชัญ เป็นทั้งหัวหน้าคณะภราดาเซนต์คาเบรียลในประเทศไทย แล้วภายหลังยังไปเป็นอธิการที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียลอีกด้วย นับว่าท่านมีส่วนช่วยสร้างความเจริญให้แก่วงการศึกษาอย่างสำคัญ รู้สึกว่าท่านจะเป็นบุคคลที่น่าเกรงขามมาก ท่าทางดุแต่ซ่อนเร้นไว้ซึ่งความใจดี สมัยที่ท่านกลับมาเป็นอธิการโรงเรียนอัสสัมชัญใหม่ ๆ ยังไม่มีห้องประชุม ท่านต้องเดินตามห้องทุกบ่ายวันเสาร์ เพื่อให้ Bad Notes เวลาท่านเรียกชื่อคนเหล่านั้น ท่านมองอย่างน่ากลัวมาก ทุก ๆ วันท่านก็ขยันเดินตรวจการเรียนการสอนตามห้องต่าง ๆ เคราะห์ดีที่ท่านมีหมาตัวหนึ่งชื่อเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “พระอาทิตย์” เจ้านี่มักนำหน้าท่านมาเสมอ พวกเราเลยมีโอกาสได้รู้ตัวล่วงหน้าคราวละสองสามนาที มีเวลาให้ทั้งครูและนักเรียนตั้งตัวติด ทั้ง ๆ ที่ท่านอธิการ ท่านก็นั่งทำงานในห้องเล็กนิดเดียว ปล่อยให้ท่านอาจารย์ผู้ปกครองนั่งในห้องใหญ่ เพราะนั่นท่านต้องรับแขกมาก

 

       เจษฎาจารย์ไมเกิล ข้าพเจ้าได้พบก็ตอนที่ท่านมาจากอินเดีย เนื่องในงานฉลอง 50 ปี แห่งการมาประเทศไทยของภราดาเซนต์คาเบรียล เวลานั้นท่านเป็นเจ้าสำนักอบรมสั่งสอนผู้ที่จะถวายตัวบวชเป็นภราดาอยู่ที่อินเดีย ก่อนหน้านั้น ได้ทราบว่าท่านเป็นครูและนักบริหารที่มีชื่อเสียงมาก หลังจากนั้น ก็นัยว่าท่านอยากจะมาฝากผีฝากไข้ไว้ที่ในประเทศนี้ แต่ตายเสียก่อนจะได้เดินทางออกจากชมพูทวีป แม้พบท่านในระยะเวลาอันสั้น ข้าพเจ้าก็เห็นว่า ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพและดูศิษย์เก่า เขาจะเป็นกันเองกับท่านมาก ฯพณฯ ควง อภัยวงศ์ ออกจะหยอกล้อกับท่านเป็นการพิเศษ แต่เวลาท่านพูดให้โอวาทพวกเราเป็นภาษาอังกฤษ ข้าพเจ้าต้องยอมรับว่าเวลานั้นฟังไม่กระดิกหูเอาเลย เพราะตามปกติ เวลาท่านอธิการพูดเป็นฝรั่งเศสและอังกฤษแล้ว ครูฮีแลร์ท่านแปลเป็นไทยควบไปด้วยเสมอ

 

เจษฎาจารย์เฟรเดอริกก็เป็นอีกท่านหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าเคยพบเห็น หากไม่เคยพูดด้วย ด้วยเวลานั้นท่านชรามากแล้ว ที่จำหน้าท่านได้จะเพราะจากการพบกันหรือจะจากหนังสือ ก็ไม่รู้แน่ เคยแต่ได้ยินครูฮีแลร์พูดสรรเสริญให้ฟังว่าลายมือท่านงามนัก ทำงานเป็ฯระเบียบนัก ที่ท่านพูดเช่นนั้น ก็เพราะตอนนั้น ท่านกำลังเอาบัญชีเก่า ๆ มาดูแล้วเจอะลายมือท่านอธิการเก่าเข้า และนักเรียนเก่าเขาคุยกันว่าท่านดุมากนักด้วยเหมือนกัน แต่ดูหน้าตาท่านไม่น่าจะดุเลย

 

       เจษฎาจารย์เก่า ๆ ที่ข้าพเจ้าทันรู้จักอีกสองท่านก็คือภราดาหลุยส์ดังชู และภราดาอัลเดอแบรต์ ท่านแรกดูเหมือนซุ่มตัว รวบรวมพจนานุกรมไทยอังกฤษอยู่ ไม่ทราบว่าเสร็จหรือไม่ สมัยข้าพเจ้าเป็นนักเรียน ท่านคุมห้องขายของอยู่ชั้นล่างของตึกเก่า พวกเราต้องไปซื้อสมุดหนังสืออะไรกันที่นั่น ก่อนหน้านั้น ภราดาอัลแบรต์ทำหน้าที่นี้เพราะท่านเป็นสัญชาติอิตาลี จึงไม่ต้องหนีออกนอกประเทศตอนสงครามโลกครั้งที่สอง จำได้ว่าเมื่อมุสโสลินีถูกจับ ญี่ปุ่นมาที่โรงเรียน จะควบคุมตัวท่านไปหรือเปล่า จำไม่ได้ ในระหว่างสงคราม ที่โรงเรียนอัสสัมชัญมีเจษฎาจารย์ฝรั่งอีกสองคน คือ ภราดาหลุยส์ ฉายาคางแพะ และ เจษฎาธิการมงฟอร์ต ฉายานกฮูก สองท่านนี้ข้าพเจ้าไม่คุ้น ยิ่งตอนหลังภราดามงฟอร์ตไปเป็นอธิการอยู่เซนต์คาเบรียล ตอนนั้นพวกเรามีอะไรต่ออะไรปีนเกลียวกันอยู่กับเด็กเซนต์คาเบรียล เลยพลอยไม่ชอบหน้าอธิการเก่าไปสมัยหนึ่งด้วย ส่วนภราดาหลุยส์นั้น ท่านเป็นคนสอบความรู้ภาษาอังกฤษของข้าพเจ้า เมื่อตอนแรกเข้าประถมสี่ ที่เรือนไม้หลังเดิม ต่อเมื่อข้าพเจ้าอยู่มัธยมปีที่ 7 แล้ว มาพบกันอีกที ตอนงานสุวรรณสมโภชคณะภราดา มาเห็นข้าพเจ้าเขียนอักษรขอมติดไว้ในห้องที่จัดประกวดว่า สุจิปุลิ ท่านอ่านออก ชอบใจมาก พลางชำเลืองดูเลขประจำตัว ก็ยิ่งพอใจ ที่รู้ว่าข้าพเจ้าแรกเข้าโรงเรียนสมัยท่านยังประจำอยู่ที่อัสสัมชัญ

 

       กับภราดาอัลเดอแบรต์ นักเรียนรุ่น ๆ ข้าพเจ้าคุ้นเคยด้วยมาก เพราะท่านไม่ดุ และดูไม่มีอำนาจอะไรด้วย ทั้งตอนกลางวัน ท่านมักเดินตามลานเล่น คุยกับพวกเราเด็ก ๆ ไม่ว่าจะไปฝึกซ้อมภาษาอังกฤษ หรือคุยกับท่านเป็นภาษาไทย ท่านก็ไม่ว่า ยิ่งเราอยู่ชั้นมัธยมปลายแล้ว ท่านควบคุมอยู่เพียงชั้นมัธยมต้น เลยไม่มีอะไรให้ต้องกลัวเกรง ก็เลยคุยกับท่านได้อย่างเต็มที่ ข้างท่านก็ไม่ถือตัว ตอนหลังท่านเป็นสมุห์บัญชี เวลาชำระค่าเล่าเรียนยังต้องไพบท่านอีกด้วย งานศพท่านพวกเราจึงไปกันมาก ทั้งที่โบสถ์อัสสัมชัญและที่ป่าช้าสีลม เดินขบวนกันไปยาวยืด งานเจษฎาธิการเฟรเดอริก ข้าพเจ้าก็ไป และยังได้ไปงานศพบาทหลวงคังตองด้วย ท่านผู้นี้เป็นผู้ช่วยเริ่มงานมากับท่านบาทหลวงกอลมเบต์ ข้าพเจ้านับย้อนไปถึงสมัยแรกของโรงเรียนได้ก็เพียงแค่ที่งานศพของท่านผู้นี้เท่านั้นเอง

 

       ในบรรดาครูคนไทย ที่มายกย่องกันว่าเป็นครูอาวุโสนั้น สมัยข้าพเจ้าเป็นนักเรียน ท่านเพิ่งเข้าสอนก็มี อย่างเก่งก็สอนกันมาคนละยี่สิบสามสิบปี เพราะเมื่อข้าพเจ้าแรกเข้าโรงเรียนอัสสัมชัญ ก็นับได้ถึง 30 ปี เข้านี่แล้ว สมัยนั้น ที่ยอมรับกันว่าอาวุโสสูงสุดและเป็นที่เคารพนับถือจากทุกฝ่าย รวมทั้งฝ่ายเจษฎาจารย์ด้วย ก็ท่านมหาสุข ศุภศิริ เพราะแม้มาสเตอร์เจือ ฉั่วประยูร ก็เป็นลูกศิษย์ของโรงเรียนมาก่อน ภราดาบางท่านเป็นครูของท่านมาก่อนแล้ว ย่อมเห็นว่าท่านยังคงเป็นลูกศิษย์อยู่นั้นเอง ส่วนท่านมหานั้น สูงทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ ทั้งมีความสะอาดบริสุทธิ์ เป็นที่สรรเสริญอยู่ทั่วไป ทั้ง ๆ ที่ท่านใจดีมีท่าทางอ่อนน้อมถ่อมตัว แต่ก็หาได้ลดสง่าราศีของท่านลงไปไม้ รุ่นข้าพเจ้าไม่มีโอกาสเรียนกับท่านดอก เพราะเมื่อแรกเข้าอยู่ชั้นเล็ก ท่านสอนแต่ชั้นโต พอขึ้นถึงชั้นโต ท่านก็ปลดเกษียณไปเสียแล้ว จึงได้แต่เห็นท่านอยู่ห่าง ๆ ได้คุ้นกับท่านจัง ๆ ก็แต่สองครั้ง ครั้งแรกเมื่อข้าพเจ้าอยู่มัธยมห้าหรือหกก็จำไม่ได้ ทางคณะคาทอลิกประกาศให้นักเรียนแต่งเรียงความประกวดเพื่อชี้ให้เห็นภัยของคอมมูนิสต์ ท่านอธิการฮิวเบิร์ตสนับสนุนให้นักเรียนอัสสัมชัญแต่งสู้เขา โดยเขาแจกเอกสารให้ได้อ่านก่อนล่วงหน้าด้วย ข้าพเจ้าก็แต่งกับเขาด้วยคนหนึ่ง และได้แต่งกลอนประกอบร้อยแก้วด้วยบทหนึ่ง ปรากฏว่าท่านมหาศุขเป็นกรรมการตรวจสำนวน ท่านเรียกข้าพเจ้าไปพบ ว่าอยากรู้จักหน้า ด้วยเห็นว่าแต่งหนังสือคารมดี มีโวหารกล้า แต่กลอนสักวานั้นขาดสัมผัสใน ซึ่งความจริงเวลานั้นข้าพเจ้าเลิกเล่นสัมผัสในเสียแล้วโดยมาก แต่ด้วยความเกรงใจท่าน ข้าพเจ้าก็ต้องเติมสัมผัสในเข้าไปอีกสองสามแห่ง ท่านว่านี่ไม่ใช่กรรมการลำเอียงดอกนะ แต่เห็นว่าที่เขียน ๆ มานี้ มีดีอยู่แต่ของเธอเท่านั้น ถ้าถูกติเรื่องกลอน ทำให้อ่อนไป จะน่าเสียดาย เพราะเหตุผลคำอธิบาย ก็ฟังดูหมดจดดีแล้ว แต่แล้วก็ไม่ปรากฏว่ามีการตัดสินให้รางวัลการประกวดครั้งนั้นแต่อย่างไร

 

       อีกคราวที่พบท่านมหา ก็เมื่อมาอยู่ ม.7 ตอนจัดห้องประกวดกันในงานสุวรรณสมโภชคณะภราดา ข้าพเจ้าเอาโต๊ะหมู่ที่บูชามาตั้ง จัดห้องอย่างไทยแท้ ท่านเห็นแปลกท่านว่าที่โรงเรียนยังไม่เคยมีใครใช้เครื่องโต๊ะทองอย่างนี้เลย พอเห็นหน้าข้าพเจ้าก็จำได้ แล้วเลยตามขึ้นมาดูที่ห้อง ข้าพเจ้าแต่งฉันท์สดุดีคณะภราดาติดไว้ที่ข้างห้องด้วย ท่านเห็นเข้า ก็ทักตรงที่สองแห่ง ซึ่งเป็นจุดอ่อนของฉันท์บทนั้นจริง ๆ แห่งหนึ่งความไม่กระชับ อีกแห่งหนึ่งเสียงสูงไป ข้าพเจ้าก็ได้รับยอมรับโดยดุษฎี หลังจากนั้นอีกไม่นาน ท่านมหาก็ตายจากพวกเราไป เมื่อตั้งศพและเผาที่วัดหัวลำโพง พวกเด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยจะมีใครรู้จักท่านกันเสียแล้ว สมัยนั้นพวกภราดาก็ยังถือกฎอย่างโบราณอยู่ คือไปงานศพนอกศาสนาไม่ได้ แต่พวกที่เป็นศิษย์ซึ่งใกล้ชิดมากับท่าน ก็ช่วยกันพนมศพพนมเมรุอย่างสมเกียรติ และหาทางช่วยเหลือครอบครัวท่านให้ตลอดรอดฝั่งไปด้วย ด้วยท่านมหาก็ไม่แตกต่างไปจากพวกภราดาเท่าไรนัก ในด้านความเป็นนักเสียสละ ฉะนั้นเมื่อละโลกนี้ไป จึงแทบไม่มีอะไรเหลือไว้เลย นอกจากคุณงามความดี

 

       ศิษยานุศิษย์นี่ได้ครูดี ๆ เช่นนี้ จะขาดความกตัญญูกตเวทีเห็นจะเป็นไปได้ยาก ที่อยากจะถามก็คือครูในสมัยต่อ ๆ มา ยังคงรักษาคุณภาพไว้ได้เช่นนี้มีเท่าไร และมีทางอย่างไรบ้างไหม ที่จะช่วยกันรักษาสถานะของครูไว้ให้เป็นปูชนียบุคคลอยู่ต่อไปชั่วกาลนาน แม้ท่านที่เป็นบิดามารดา ก็น่าจะถามตัวเองด้วยเช่นกันว่าเราเป็นครูคนแรกของบุตรธิดาด้วยหรือเปล่า ทางฝ่ายผู้เยาว์นั้นเล่า แทนที่จะคอยจับผิดผู้ใหญ่ พยายามเฟ้นหาคุณงามความดีของท่านด้วยหรือเปล่า มองเห็นบ้างไหมว่าผู้ใหญ่ก็ย่อมต้องมีข้อบกพร่อง ดังเราเองก็มีข้อผิดพลาด เราควรให้อภัยกันและกัน และเรียนจากกันและกัน พร้อมกันนั้นก็ควรหาคุณงามความดี แม้จนความผิด เพื่อให้มาเป็นครูของเรา




Author: ส.ศิวรักษ์

จบชั้นเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 2 แผนกอักษรศาสตร์ จากโรงเรียนอัสสัมชัญ ศึกษาต่อวิชาปรัชญา วรรณคดี ประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแลมปีเตอร์ที่เวลส์ ศึกษาวิชากฎหมายจากเนติบัณฑิตสภาอังกฤษ

 

เคยประจำที่สถานีวิทยุ บีบีซี ประเทศอังกฤษ และเป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยลอนดอน อดีตบรรณาธิการสำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์ และ นิตยสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ เคยสอนภาษาอังกฤษ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี (จุฬา) เคยสอนปรัชญาทั่วไป ที่คณะสังคมสงเคราะห์ (ธรรมศาสตร์) และสถาปัตยกรรมศาสตร์ (จุฬา) และสอนแปลขั้นปริญญาโท ที่บัณฑิตวิทยาลัย (จุฬา)

 

บรรณาธิการฝ่ายสำนักพิมพ์ และหัวหน้าฝ่ายวิชาการห้างไทยวัฒนาพานิช กรรมการในคณะบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์ และวารสารของสยามสมาคม (Journal of the Siam Society)