AssumptionPride 01 : เจนวิทย์ ธนสารสมบัติ

ผู้เขียน : วัฒภูมิ ทวีกุล
สัมภาษณ์ภายใต้คำถามต่อไปนี้

1.คิดว่าบทบาทของ LGBTQ+ ในโรงเรียนอัสสัมชัญเป็นอย่างไร ?
2.เอกลักษณ์ของ LGBTQ+ ในอัสสัมชัญเป็นอย่างไร ?
3.มีปัญหาอะไรจากโรงเรียนบ้าง ?
4.การเป็น LGBTQ+ ในโรงเรียนชายล้วนเป็นอย่างไร ? แตกต่างจากที่อื่นไหม ?
5.โรงเรียนอัสสัมชัญควรสอนเรื่อง LGBTQ+ ไหม ?
6.อยากฝากอะไรถึงรุ่นพี่ / รุ่นน้อง
7.อยากเล่า/พูดอะไรอีกไหม ?

(โดยให้ผู้สัมภาษณ์สามารถเลือกได้ว่าจะตอบคำถามข้อไหนบ้าง หรือจะตอบทุกข้อก็ได้)
product

🏳️‍🌈AssumptionPride 01🏳️‍🌈
เจนวิทย์ ธนสารสมบัติ 48411 AC133

 



< สะดวกที่จะคุยกับเราไหมครับ >

       ได้เลยครับ, as a queer male

 

< queer male ? ลองอธิบายให้ฟังหน่อยว่าเป็นยังไง >


       ถ้าเป็นภาษาไทยมันคือ “อื่น ๆ” มันถึงเป็นตัวอักษรสุดท้ายใน LGBTQ เพราะว่ามันคือแบบ อื่น 

 

< แล้วเรานิยามของตัวเราว่ายังไง >

       ไม่จำเป็นต้องนิยาม 5555, คือจริง ๆ ไม่รู้จะนิยามเพศตัวเองว่าอะไรอะ, จริง ๆ มันอาจจะไม่ต้องนิยามก็ได้

 

< เยี่ยมครับ, มาพูดถึงเรื่อง LGBTQ+ ในโรงเรียนอัสสัมชัญกันหน่อย >

       คือมันมีสองคำ Sexual identity (sex, เพศวิถี) คือ มีอารมณ์ทางเพศ (จริง ๆ พูดยังงี้ก็ไม่ถูกอีก บางทีก็รวมถึงความรู้สึกอื่น ๆ มีหมด ไม่ใช่คำที่ภาษาปากเรียกว่า “เงี่ยน” น่ะ) รูปแบบไหน เช่น Heterosexual, รักต่างเพศ, ชายรักหญิง, Homosexual, รักร่วมเพศ อย่าง ชายรักชาย (“เกย์”), Bisexual, รักสองเพศ ฯลฯ. ส่วน Gender identity (gender, เพศภาวะ), gender คือ อัตลักษณ์การแสดงออกทางเพศรูปแบบไหน คือ ชาย, หญิง, ข้ามเพศกำเนิด และ อื่น ๆ ถ้าจะให้พูดถึงประเด็นนี้ในโรงเรียน อาจจะต้องแยกสองกรณีนี้ก่อน

       ส่วนตัวคิดว่าสิ่งที่ทำให้การมีชีวิตในโรงเรียน (จะที่ไหนก็ตาม, อาจจะชัดมากในชายล้วน) ต่างกันชัด ๆ คือ เพศภาวะ (Gender) เท่าที่เจอมาในโรงเรียนอัสสัมชัญ เคยเจอแค่มีสองเพศภาวะ คือ ชาย (เกิดเป็นชาย แสดงออกเป็นชาย), และ ข้ามเพศ (เกิดเป็นชาย แสดงออกเป็นหญิง, หรือเรียก “กะเทย” “ตุ๊ด”) ถ้าเป็นแบบแรก, regardless of เพศวิถี, ก็ fit in ในสังคมได้ไม่ยาก เพราะภาวะแสดงออกก็เป็นชายเหมือนกัน มีความรู้สึกร่วมกัน, กิจกรรมร่วมกันมาก แต่ถ้าเป็นอันหลังก็จะเจอชีวิตอีกแบบนึงไปเลย

       ส่วนตัวเป็นเพศวิถีแบบชาย เลยคิดว่าไม่ได้มีปัญหาอะไรในการ fit in หรืออยู่ร่วมกับประชากรส่วนใหญ่ของโรงเรียน (ผู้ชาย) เลย และเข้าใจว่าหลาย ๆ คนที่รู้จักที่มีเพศภาวะชาย ส่วนเพศวิถีอื่น ก็มีประสบการณ์แบบเดียวกัน คือแทบไม่ต่างกันกับผู้ชาย (“straigth male”) อื่น ๆ ในโรงเรียนหรอก

       อ้างอิงเรื่องเพศบลา ๆ จาก: การปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อสุขภาวะของเพศและเพศวิถี. สุชาดา ทวีสิทธิ์. Pg 127-131 ใน อยู่ดี กินดี มีสุข : มิติทางสังคมและวัฒนธรรมของสุขภาพ : รวมบทความจากการประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 12 พ.ศ. 2560. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

 

< แล้วเพื่อนที่ไม่ได้มีเพศภาวะแบบชายหล่ะ มีปัญหาอะไรไหม >

       เขาก็จะเจอและสร้างวัฒนธรรมย่อยอีกรูปแบบหนึ่ง (เท่าที่ฟังมาจากทั้งเพื่อนกะเทยในอัสสัมและ ซค) กะเทยเป็นเป้าหมายการแกล้งของผู้ชายอยู่แล้ว

 

< มันแกล้งมากกว่า หรือ แกล้งแตกต่างกันกับ ที่เพื่อนผู้ชายแกล้งเพื่อนผู้ชายด้วยกันเองยังไง >

       ปกติเวลาแกล้งคนอื่น ผู้แกล้งย่อมต้องคาดหวังการตอบกลับจากคนที่ถูกแกล้งอยู่แล้ว (เช่น รู้สึกด้อยกว่า, โกรธ, ร้องไห้) ส่วนเวลาเด็กผู้ชายมันแกล้งพวกกะเทยอะ เขาก็จะ expect การกรี๊ด โวยวาย อะไรพวกนี้ปะ นี่คือความเข้าใจตัวเองนะ เพราะไม่เคยอยู่ในประเภทที่แกล้งและถูกแกล้ง 5555

 

< แล้วในสายตาครูหล่ะ คิดว่าเขามองยังไง >

       มันดูปกตินะ ว่าครูเพศภาวะผู้หญิงเข้ากับกะเทยได้ดี คงเป็นเพราะเขาสบายใจที่จะคุยด้วยกว่าพวกผู้ชายที่เป็นเพศตรงข้ามเขา และมี trait ไม่ตรงกัน นี่ก็เป็นประเด็นเดียวกันกับว่าทำไมกะเทยชอบอยู่กันเป็นกลุ่ม

 

< มีกะเทยที่เข้ากับผู้ชาย อยู่รวมกลุ่มกับผู้ชายด้วยรึเปล่า >

       ที่เห็นก็มีนะ

 

< อาจจะเป็นบุคลิก นิสัยด้วยรึเปล่า เพราะหลาย ๆ ครั้ง กะเทยก็มีความเข้าใจที่ตรงกันมากกว่า >

       เอาจริง ๆ เพศภาวะก็ไม่ใช่ทุกอย่างหรอก กะเทยเตะบอลก็มี กะเทยทำสิ่งที่เป็นชาย (masculine) มาก ๆ ก็มี กิจกรรมหรือประเด็นร่วมพวกนี้ก็พาให้พวกเธออยู่ร่วมกับพวก “ชายแท้” (straight male) ที่เป็นประชากรหลักของอัสสัมชัญได้เป็นปกติและบางทีก็สนิทกัน

       อีกอย่างหนึ่ง ก็เป็น “ความสบายใจ” ด้วย เพราะอย่าลืมว่า กะเทยก็มีวัฒนธรรมร่วมบางประการที่คนนอกไม่เข้าใจ เช่น ภาษา การแสดงออก หรือแม้แต่ comedy แบบกะเทย ที่มันมักจะเข้าใจในกะเทยกับผู้หญิง แล้วผู้ชายไม่เข้าใจ เช่น ภาษาลู, วัฒนธรรมการพูดเลียนแบบหนูรัตน์หรือนางงาม, ภาษาที่ฟังดูงง ๆ (ดูตัวอย่าวที่เพจ น้องง), การคลั่ง “ผู้ชาย”, ฯลฯ แต่ตอนอยู่โรงเรียนไม่รู้สึกว่าพวกนี้ชัดนะ พออยู่มหาวิทยาลัยมันชัดมาก

       อาจจะเป็นเพราะส่วนตัวไม่ได้ expose กับวัฒนธรรมนี้มากสมัยเรียนอัสสัมชัญก็ได้ เพราะไม่มีใครร่วม expose ด้วย คือห้องมันเล็กอะ ละทั้งห้องไม่มีเพศภาวะอื่นเลย แต่เพศวิถีอื่น ๆ มีบ้าง

       ปัญหาที่เจอ ส่วนใหญ่คิดว่าเรื่องเพศมันวุ่นวายอะ มันดูเข้าใจยาก

 

< แล้วมันส่งผลอะไรกับการใช้ชีวิตในโรงเรียนไหม >

       ส่วนตัวรู้สึกจะเปิดตัวจริง ๆ จัง ๆ (ว่าไม่เป็น heterosexual) ก็ ม.6 เลยนะ แต่ก่อนหน้านี้คนก็สงสัยอยู่แล้ว 5555 มันไม่ส่งผลเลยอะ เพราะอย่างที่บอก ที่จะส่งผลมันน่าจะเป็นเพศภาวะมากกว่านะ

       มีเพื่อนคนนึงที่มีเพศวิถีที่นอกกรอบเพศ คือไม่ได้ชอบเพศหญิงหรือชาย เขาเป็น fetishist (เกิดอารมณ์ทางเพศจาก “สิ่งอื่น ๆ”) ที่เปิดเผยมาก ก็โดนล้อเรื่องนี้อยู่บ่อยนะ, เคยมีครูไม่เข้าใจแล้วก็มองว่าไร้สาระด้วย

       ตอนเค้าเปิดเผยก็แอบดีใจนะ โห โรงเรียนเราแม่งสเปกตรัมสีรุ้งดีเว้ย แต่เขาก็โดนล้อนะ เพราะมันแปลก + เขาไม่สู้คน โดนแกล้งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

 

< ความสงสัยของคนรอบข้างทำให้เราอึดอัดใจบ้างไหม >

       ก่อนหน้านั้นก็ไม่เคยนิยามเพศตัวเองอยู่แล้ว เชื่อว่าตัวเองอยู่นอกกรอบเพศมาตลอด ใครถามก็จะตอบว่า “เพศเจนวิทย์” ก็เป็นยังงี้อะ ให้อธิบายยังไงวะ ตัวเองยังงงเองเลย 5555

       ยังจำได้ว่าเคยมีเพื่อนคนนึงที่เพศวิถีเป็นเกย์ (homosexual) แต่เพศภาวะเขาเป็นชาย ตอนคนอื่น ๆ ในรุ่นรู้เรื่องนี้ มีหลายคนเหมือนกันนะที่เข้าใจว่า เกย์ = ออกตุ๊ด (เพศภาวะข้ามเพศ) แล้วก็สับสนกับสิ่งที่เกิดขึ้น 5555 คิดว่ามันต้องออกสาวกัน แต่มันก็ดูเป็นชายนี่นาแล้วมันจะเป็นเกย์ได้ยังไง

 

< เหมือนว่าในสังคมโรงเรียนเองก็ค่อย ๆ พัฒนาความคิดทางสังคมเรื่องเพศสภาวะ ไปพร้อม ๆ กันกับที่นักเรียนนิยาม ค้นเจอ ? >

       จริง ๆ เพื่อนมีส่วนเยอะด้วยแหละ เคยมีเพื่อนที่ดูรับไม่ค่อยได้กับเรื่องพวกนี้นะ แต่สุดท้ายเพื่อนรอบ ๆ ตัวคนอื่นก็บอก เป็นไรก็เป็น เรื่องของเขา มันก็จบ

 

< โรงเรียนเคยพูดเรื่อง LGBTQ+ มั๊ย >

       นึกไม่ออกเลย ความรู้พวกนี้หาเองทั้งนั้น คือเรื่องนี้ในการศึกษาขั้นพื้นฐาน เข้าใจว่ายังไม่หลุดกรอบตุ๊ด แต๋ว กะเทย เกย์ ซึ่งเป็นแค่ส่วนหนึ่งของชุมชนเท่านั้น แต่อย่างที่บอกแหละ เรื่องพวกนี้มันวุ่นวายเหลือเกิน

       เช่น เพศภาวะชาย ชอบ เพศสภาวะข้ามเพศ คนนี้ถือเป็นเกย์ หรือเป็น heterosexual ปวดหัว อะไรก็ไม่รู้ 555555

       จริง ๆ มีวัฒนธรรมอีกกลุ่มที่เคยเจอทั้งในอัสสัมชัญกับชายล้วนอื่น (ซึ่งคือ ซค น่ะแหละ) คือกลุ่มนี้นะ เพศสภาวะชาย แต่ชอบเพื่อนร่วมโรงเรียนที่ออกสาว

       กลุ่มนี้ก็จะมีวัฒนธรรมอีกแบบนึงแหละ แต่จำได้ว่าตอนแรก ๆ ที่เรื่องนี้มันแพร่กระจายก็มีคนงงนะว่า เอ๊ะ เกย์ (ชายรักชาย) มันต้องออกสาวไม่ใช่เรอะ ซึ่ง เอ่อ ไม่เกี่ยว

       ยิ่งย้ำว่ามันยังมีคนที่ไม่เข้าใจพวกนี้จริง ๆ และโรงเรียนก็ไม่เคยสอน

 

< อยากให้โรงเรียนสอนเรื่อง LGBTQ+ ไหม ? >

       อยากสิ อยากให้เป็นประเด็นใหญ่เลยด้วย เพราะการสับสนเรื่องเพศนี่เป็นปัญหาใหญ่ในวัยรุ่นหลายคนเลยนะ แต่ยิ่งเป็นโรงเรียนคาทอลิก & อนุรักษนิยมขนาดนี้ คนในระดับบริหารคงกลัวพระเจ้าพิพากษากันตายพอดี

       จริง ๆ แค่อยากให้นักเรียนได้รู้ว่า โลกไม่ได้มีแค่ชาย หญิง ชายรักชาย หญิงรักหญิง รักสองเพศ มันมีอะไรอีกหลายอย่าง เหมือนที่ธงของชุมชนเลยเป็นธงสีรุ้งที่แสนความหลากหลายบนสเปกตรัมนี่แหละ

       ครูสอนได้ก็ดีมากเลย แต่จะสอนตอนไหนฟะ ไม่มีในหลักสูตร

       สอนในหลักสูตรให้ทันก็ยากแล้ว 55555

       คือเข้าใจนะ เพราะตัวเองก็เคยสับสนมาก่อนเหมือนกัน จะได้คำตอบก็ต้องไปพึ่งเน็ตทั้งนั้น

 

< คิดว่ามันมีเอกลักษณ์อะไรที่เป็นของอัสสัมชัญไหม กับเรื่องที่เล่ามาทั้งหมดเนี่ย เอาแบบที่ปล่อยงง ๆ ไปก่อนว่า เอกลักษณ์ อัตลักษณ์คืออะไร >

       มันคืออัตลักษณ์ชุดเดียวกับเด็กอัสสัม (และคาทอลิกชายล้วน) ในอุดมคติเลยอะ รวย แต่งตัวดี รวย

       พูดให้ดูแรงหน่อยก็ “มีคลาส” อ่ะ ดูเหยียดอีก จริง ๆ ไอเรื่องเครื่องแบบชายล้วนกางเกงน้ำเงินไปขายได้ในฐานะ sex object นี่ก็น่าสนใจนะ ทั้งขายให้ homo & heterosexual

 

-------------------


ขอขอบคุณ เจนวิทย์ ธนสารสมบัติ 48411 AC133
สัมภาษณ์ : 1 มิถุนายน 2021
เผยแพร่ครั้งแรก : 1 มิถุนายน 2021 ในเพจเฟซบุ๊ค Assumption Museum
Art Work : กฤตภาส บัวเสริมสวรรค์ AC130


Author: วัฒภูมิ ทวีกุล

อัสสัมชนิกเลขที่ 47985 รุ่น 126