AssumptionPride 06 : จิรภัทร ตรงจิตต์รักษา

AssumptionPride 06
จิรภัทร ตรงจิตต์รักษา 46774 AC131
< ลุยเลย, ระดับเรา พี่ไม่ต้องชงถามให้เกริ่นแนะนำตัวแล้ว >
สวัสดีค่ะ ขอแนะนำตัวก่อนนะคะ, ชมพิ้งค์ หรือ อิ๊นซ์ นะคะ จิรภัทร ตรงจิตต์รักษา ค่ะ อัสสัมชนิกรุ่น 131 รหัสประจำตัว 46774 นะคะ ปัจจุบันศึกษาที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 4 ค่ะ
< มาเริ่มกันที่บทบาทของ LGBTQ+ ในอัสสัมชัญกันก่อนเลยครับ >
สำหรับบทบาท LGBTQ+ ในมุมมองหนู หนูรู้สึกว่าไม่แม้แต่ในโรงเรียนอัสสัมชัญ แต่อาจรวมถึงสังคมอื่น ๆ สังคมบางกลุ่มด้วยเช่นกันที่กลุ่ม LGBTQ+ มักจะต้องเป็นเบื้องหลังในการทำงานเสมอ
แต่ถ้าเทียบในมุมมองอัสสัมชัญให้เห็นภาพมากขึ้น อาจจะเป็นการที่กลุ่ม LGBTQ+ เป็นคนทำพานไหว้ครู ใช้เวลาทั้งวันอย่างเหน็ดเหนื่อยกับการนั่งทำพาน แต่ Finally ครูมักจะเลือกเด็กผู้ชายที่เป็นตัวท็อปไปเพื่อถือพานไหว้ครู ถ่ายรูปลงเว็บไซด์โรงเรียน เพื่อเป็นหน้าเป็นตาให้กับโรงเรียน
ส่วนบทบาทของ LGBTQ+ ก็คือ backstage เพื่อให้งานประสบผลสำเร็จ หรือหาก LGBT+ ได้รับบทบาทให้เป็นเบื้องหน้า ส่วนใหญ่ก็จะได้รับบทบาทให้อยู่แค่ในวงที่สังคมโรงเรียนตีกรอบไว้ เช่น การเต้นในงานกีฬาสี, งานเต้น music contest, งานการละคร, งานดนตรี หรืออื่น ๆ ซึ่งโดยส่วนตัวเราเลยรู้สึกว่า LGBTQ+ส่วนใหญ่ถูกตีกรอบกิจกรรมที่สามารถแสดงตัวตนของตนเองได้
แต่เรายังไม่เห็นคนที่เป็น LGBTQ+ ก้าวกระโดดไปได้มากกว่านั้น ไม่สามารถได้รับบทบาทการเป็นตำแหน่งออกหน้าออกตาในงานสำคัญได้ เช่น เชียร์ลีดเดอร์งานจตุรมิตร หรือประธานเชียร์และอื่น ๆ ที่เป็นตำแหน่งที่ผู้ใหญ่หรือจารีตประเพณีเดิม ๆ มองว่ามันควรจะเป็นแบบนั้น มันควรจะเป็น straight หรือคนที่แสดงออกภายนอกว่าเป็น Masculine men ที่ควรได้รับตำแหน่งนั้น
< เอกลักษณ์ของ LGBTQ+ ในอัสสัมชัญเป็นยังไงบ้าง >
คือเราเหมือนถูกปลูกฝังลึก ๆ อ่ะว่าแบบเราต้องเก่งกว่าคนอื่นเพื่อลบจุดอ่อนในด้านที่เราไม่ใช่ straight ซึ่งแบบจริง ๆ, ถ้าเป็นสังคมปกติเราก็อาจจะรู้สึกว่า การที่เราไม่ใช่ straight เป็นเรื่องปกติ, แต่พอเป็นสังคมชายล้วน ก็อาจจะมีในอีกมุมมองในอีกรูปแบบนึง จึงทำให้เราแอบรู้สึกว่าเราต้องแกร่งขึ้นในมุมหนึ่งเพื่อลบจุดด้อยในอีกมุม เพราะเราไม่เหมือนคนส่วนมาก เราแสดงออกต่างจากคนส่วนมาก
LGBTQ+ ส่วนใหญ่ในอัสสัมชัญเลยต้องเลือกที่จะพิสูจน์คุณค่าของตนเองจากความสามารถ, จากผลการเรียน หรืออีกต่าง ๆ มากมายเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสังคม, ได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน
ซึ่งถ้ามองตัวอย่างง่าย ๆ เลย เวลาการทำการบ้าน หรืองานกลุ่ม ส่วนมาก LGBTQ+ ก็คือจะเป็นหัวเรือหลักในการทำงาน, หัวหลักในการทำการบ้านให้เพื่อน ๆ คอยช่วยเหลือเพื่อนๆเวลาทำงานกลุ่ม คอย solo งานกลุ่ม งานห้องต่าง ๆ นั่นเอง จึงทำให้มันแทบเป็นเอกลักษณ์ของ LGBTQ+ อัสสัมเลยอ่ะ ว่าแบบต้องมาสายไฟต์, เป็นคนจริงจังกับการทำงาน, เป็นคนมีความรับผิดชอบ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเอกลักษณ์ในส่วนอื่น ก็จะมีความแตกต่างกัน เพราะเป็นเอกลักษณ์ส่วนบุคคลที่จะมีความแตกต่างหลากหลายกันเช่นกันค่ะ
< มีปัญหาอะไรกับโรงเรียนบ้างไหมครับ >
จากที่เจอจริง ๆ เลยและแอบรู้สึกว่าเป็นปัญหาจริง ๆ ของหลาย ๆ คนเลย คือ อาจจะมีบางช่วงที่เป็นช่วงค้นหาตนเองของแต่ละบุคคลอ่ะ ที่แบบยังไม่สามารถ specify ตนเองได้ว่า ตนเองอยากเดินไปในทางไหน หรือตัวตนจริง ๆ ของตนเองคืออะไร
แต่เรากลับถูกอาจารย์ประจำชั้น หรืออาจารย์บางคนเรียกพบผู้ปกครองส่วนตัวในวันประชุมผู้ปกครองหรือโอกาสต่าง ๆ เพื่อแจ้งกับผู้ปกครองเราว่าแบบตัวเราเป็นอะไร, ซึ่งเราเชื่อว่าจริง ๆ หลาย ๆ คนที่โดนพบผู้ปกครอง บางทีเค้าอาจจะเป็น straight ก็ได้ แต่เค้าถูก judged ถูกตัดสิน เพราะแค่การทำ การแสดงออกไม่เหมือนเพื่อน ๆ ถูกแยก ถูก categorized ประเภทไปแล้วเพราะแค่การกระทำไม่เหมือนเพื่อน หรือแสดงออกต่างจากเพื่อน
หลาย ๆ ครั้งกลายเป็นปัญหาในหลาย ๆ ครอบครัว อีกทั้งทำให้เด็กต้องมานั่งถูกตัดสิน ถูก judged ทั้ง ๆ ที่เราเองก็ไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วเด็กต้องการอะไร ตัวตนเด็กคนนั้นเป็นอะไร หรือแม้ต่อให้เด็กจะเป็นอะไร จะเป็นเพศไหนก็ตาม เรามองว่าเราไม่ควรตัดสินว่าสิ่งไหนถูกหรือผิด เพราะเราไม่ใช่ตัวเขา ทุกคนมีคุณค่าและการแสดงออกในมุมมองที่แตกต่างกัน
ไม่ใช่ว่าการเป็น LGBTQ+ ไม่มีคุณค่า แต่เป็นคนบางคนที่พยายามลดทอนคุณค่าของ LGBTQ+ เพราะแค่เด็กคนนึงมีทัศนคติไม่ตรงกับตนเอง ซึ่งมันก็ส่งผลเป็นวงกว้างในมุมของเราอ่ะ, เพราะการที่ครูบางคนมองว่าการเป็น LGBTQ+ เป็นเรื่องตลก เรื่องแปลกสำหรับเค้า เลยทำให้เค้าเอาเรื่องเหล่านี้มา make fun เป็น bad joke ซึ่งทำให้เราเห็นผลกระทบหลาย ๆ อย่างเลย คือในเรื่องความเชื่อมั่นในตนเองของคนที่โดนล้อเลียน บางคนก็เป็นแผลในใจไปหลายปี บางคนก็เป็นแผลทั้งชีวิต ซึ่งครูก็อาจไม่รู้ได้เลยว่าสิ่งที่ตัวเองทำลงไปได้สร้างบาดแผลให้เด็กคนนึงลึกมากขนาดไหน
อีกข้อที่เรามองเลยคือการตอกย้ำโครงสร้างความคิดที่เชื่อว่าการเป็น LGBTQ+ เป็นสิ่งที่แปลก เป็นสิ่งประหลาด ซึ่งทำให้ไม่ว่าจะเป็นกี่ปีผ่านไปโครงสร้างนี้ก็ไม่ถูกแก้ไข LGBTQ+ ก็ยังคงเป็น bad joke ยังเป็นสิ่งที่นำมา make fun กันเพราะครูผู้ทำหน้าที่ในการถ่ายทอดยังถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้แก่เด็ก ๆ แล้วก็ถูกส่งต่อเป็นรุ่นสู่รุ่นไปเรื่อย ๆ
ถ้าพูดให้เห็นภาพง่ายขึ้น ครูบางคนมักจะชอบ make fun ว่าเนี่ยถ้าเจอพวกตุ๊ดเนี่ยต้องระวังหลัง ซึ่งแบบมันก็ยังเป็นความเข้าใจผิด ๆ หรือแม้กระทั่งแบบการ specify ผิด ๆ ว่าผู้ชายที่เรียบร้อย, ผู้ชายที่ไม่พูดหยาบคือกะเทย, เกย์ต้องออกสาว ซึ่งทำให้เมื่อครู judge ครูก็จะปลูกฝังให้นักเรียน judge เหมือนครู ซึ่งสิ่งที่ครูคิดก็อาจไม่ถูกเสมอไป
< เวลาเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น มีเพื่อนที่เป็น straight มาช่วยปกป้องเราไหม >
มีค่ะพี่ เพื่อนหนูเคยบอก ม. ท่านนึง, ที่พูดแบบนี้, ว่า ม.พูดแรงไป, ม.ก็บอกว่า มึงชอบมันหรอ หรือมึงอยากลองมันหรออะไรประมาณนี้
แต่ก็ต้องออกตัวเช่นกันว่าก็มีเพื่อนที่เป็น straight และครูอีกหลายท่านมากที่น่ารัก เปิดกว้างและเข้าใจเด็กเข้าใจเพื่อนด้วยกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันนะคะ เพียงแต่ว่าในหัวข้อนี้เราพูดในส่วนที่เป็นปัญหาที่เราพบมาค่ะ
ตอนหนูไป รด, โดนทหารลวนลามก็มี ม.แก้วเนี่ยแหล่ะที่มาช่วยหนู ขณะที่อีกคนหนูไม่ค่อยอยากพูดถึงเท่าไร เค้ามาคุยกับแม่หนู ว่า หนูเดินยั่วเองรึเปล่า หนูแรด เลยจะทำให้โดนผู้ชายอีกโรงเรียนนึงจะบุกเต็นท์ แต่ก็มี ม.แก้ว กับ ม.ณรงค์อะค่ะ ที่มาช่วยหนู จัดการให้หมดเลย
บางคนอ่ะพี่ หนูว่าเขาไม่มีเจตนา แต่เขาไม่มีความรู้ความเข้าใจ อายุก็มากแล้ว จะให้ปรับก็คงยาก
< สุดท้ายกลายเป็นเราต้องมากลับมาปลงเองว่าทำอะไรไม่ได้ >
< เวลาเราพูดถึงเพศศึกษา เรามักจะนึกถึงแต่เซ็กส์ (การร่วมเพศ) มันไม่ได้พูดถึงความหลากหลายทางเพศ ในระดับโรงเรียนเราอาจจะต้องแยกอีกระหว่างตัวเนื้อหาวิชาที่จะสอน กับตัวบุคคล (ครู) ที่จะมี Personal ในการสร้างตัวอย่างให้กับนักเรียน >
ครูนี่แหล่ะค่ะพี่ ที่จะเป็นต้นแบบให้การให้เกียรติ เนื้อหาในหลักสูตรมันมีบรรจุแล้วนะพี่ เรื่องความหลากหลายอ่ะ แต่ครูเนี่ย ตำราเดิม
ถ้าถามหนูจริง ๆ หนูว่าสำคัญที่สุดคือครูที่จะถ่ายทอดอ่ะ ว่าการวางตัวต่อเพื่อนที่มีความหลากหลายควรทำยังไง เพราะต่อให้เนื้อหาดี แต่ครูเอามา make fun เด็กก็ไม่เก็ต ถ้าครูเปรียบเทียบ ยกตัวอย่างให้เด็ก Touch ได้ก็จบ
< การเป็น LGBTQ+ ในโรงเรียนชายล้วนเป็นอย่างไร คิดว่าแตกต่างจากที่อื่นไหม >
เราว่าคำตอบข้อนี้ทุกคนก็น่าจะมองแตกต่างกันออกไป เหมือนเป็นฟีลแบบถ้าเทียบตัวเราเป็นคนที่ความ feminine ชัดเจน พอเราไปอยู่ในสังคมผู้ชายล้วนมันก็จะเป็นสิ่งที่ค่อนข้างชัดเจนมากว่าเราแตกต่าง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในสังคมชายล้วนเองก็มีสังคมที่แตกต่างหลากหลาย บางคนยอมรับได้, บางคนยอมรับไม่ได้ บางคนโอเค, บางคนแอนตี้ ซึ่งก็ต้องแล้วแต่ประสบการณ์ที่แต่ละคนเคยพบมา ซึ่งจริง ๆ แล้วก็อาจไม่ได้แตกต่างจากสังคมภายนอกมากนัก
สิ่งที่อาจจะแตกต่างอาจเป็นไปด้วยบทบาทหน้าที่ของการเรียนในโรงเรียนชายล้วน การถูกกดทับด้วยคำว่าเราต้องเป็นสุภาพบุรุษอัสสัมชัญทำให้การแสดงออกหรือสิ่งต่าง ๆ ของเราถูกครอบไว้ด้วยกรอบความคิดของความเป็นสุภาพบุรุษอัสสัมชัญ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็เจอเพื่อนที่ดีที่ยอมรับในตัวตนของเรา ยอมรับสิ่งที่เราเป็น ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งเลยที่เป็นท่อน้ำเลี้ยงให้เรามีความอยากไปโรงเรียน มีความกระตือรือร้นเพราะอยากไปเจอเพื่อน และสามารถใช้ชีวิตในโรงเรียนได้อย่างมีความสุข
< อยากฝากอะไรถึงรุ่นพี่ / รุ่นน้อง บ้างไหมครับ >
แอบอยากบอกว่าดีใจด้วยกับน้อง ๆ รุ่นหลังมาก ๆ เพราะรู้สึกว่าทิศทางการเปลี่ยนแปลงในสังคมยุคปัจจุบันค่อนข้างพัฒนาขึ้นมาก ไม่ว่าจะแง่ในด้านสังคมโรงเรียน หรือสังคมภายนอกที่ค่อนข้างเปิดกว้างมากขึ้นในระดับนึง
พี่ไม่อยากให้ทุกคนต้องมา force ว่าเราต้องพิสูจน์ตัวเองให้เก่งเพื่อให้ได้การยอมรับ ทุกคนมีสิทธิได้รับการยอมรับเท่าๆกัน การที่พวกหนูเป็นพวกหนู นั่นคือการพิสูจน์ตัวเองที่สำคัญที่สุด เราไม่สามารถได้รับการยอมรับจากทุกคน นั่นเป็นเหตุให้น้องควรแคร์แค่คนที่เราควรแคร์, รักคนที่เค้ารักเรา คือสิ่งที่สำคัญที่สุด เราไม่สามารถบังคับความคิดทุกคนให้มารักเราได้ แต่เราเลือกที่จะมองเห็นความรักของคนที่รักเราได้
น้อง ๆ มีสิทธิ์ที่จะเติบโตได้อย่างที่น้องอยากจะเป็น และพี่เชื่อว่าทุกอย่างจะงดงามเสมอ แม้ระหว่างทางอาจจะมีทุกข์บ้างมีอุปสรรคบ้าง แต่พี่เชื่อว่าทุกคนจะผ่านไปได้ เพราะวันนึงมันก็จะผ่านไป ยังไงพี่ก็เป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ทุกคนเสมอค่ะ
ส่วนถ้าจะฝากถึงคนที่เห็นต่าง คงจะเป็นว่าโอเคทุกคนมีพื้นเพ มี background มีภูมิหลัง มีประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งอื่นสิ่งใดคือเราควรเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน อย่าใช้ความเห็นต่างเป็นอาวุธในการทำร้าย หรือตัดสินคน ๆ หนึ่งโดยที่ตัวเราอาจไม่ได้รู้จักเค้ามากพอ
< อยากพูดอะไรพูด อยากเล่าอะไรเล่าเลย >
คงเป็นอยากบอกว่าสิ่งที่เล่ามา คือ ปัญหาที่ตัวพี่เองเคยเจอ หรือเป็นสมัยพี่เคยเจอ เป็น opinion เป็นความคิดเห็นและประสบการณ์ส่วนตัวของตนเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกอย่างไม่ได้แย่ไปทั้งหมด พี่ยังเจอสิ่งดี ๆ เจอคนดี ๆ พี่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสังคมอัสสัมชัญเป็นสังคมที่หล่อหลอมให้พี่เป็นพี่ในทุกวันนี้ เป็นสังคมที่ทำให้พี่ได้พบเจอทั้งความสุข ความทุกข์ ความสมหวัง ความเสียใจ เป็นสังคมที่ทำให้พี่ได้พบกับเพื่อนคนแรก รักครั้งแรก การแอบชอบครั้งแรก การอกหักครั้งแรก และสิ่งต่าง ๆ อีกมากมายที่เป็นครั้งแรก
พี่ต้องขอบคุณอัสสัมชัญ ขอบคุณมิสมาสเตอร์ทุกท่าน ขอบคุณเพื่อนๆรุ่นพี่รุ่นน้อง ที่เป็นกำลังใจ เป็นพลังบวกให้พี่ที่ทำให้ตลอดเส้นทางการเดินทางนี้ เปี่ยมไปด้วยมิตรภาพที่ดี
แต่ทั้งที่ทั้งนั้นก็อาจจะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบโครงสร้างที่มากขึ้น การนำเรื่องเพศไม่ว่าจะในด้านไหน ๆ ขึ้นมาคุยกันบนโต๊ะ เพื่อปรับโครงสร้างให้มันถูกต้องมากขึ้น มีการยอมรับที่มันมากขึ้นโดยปราศจากอคติ ไม่ว่าจะเป็นทั้งจาก ผู้บริหาร ครูอาจารย์ และตัวเพื่อนนักเรียน
พี่เองก็หวังว่ากลุ่ม LGBTQ+ จะไม่ต้องกลายมาเป็นเหยื่อของ bad joke เป็นเหยื่อของการ bully ในชั้นเรียน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะให้ปรับที่คนใดคนหนึ่งก็ไม่ได้ คงจะต้องปรับในรูปแบบของโครงสร้างที่จะหยิบและยกระดับของปัญหาให้มีความสำคัญมากยิ่งขึ้นและให้ความสำคัญที่จะแก้ไขกับสิ่งเหล่านั้น
ทั้งหมดนี้ก็ต้องมาจากความช่วยเหลือของทุกคนของทุกภาคฝ่าย ยังไงพี่ก็ฝากด้วยนะคะ หวังว่าการสัมภาษณ์ครั้งนี้จะเกิดประโยชน์ให้กับหลายๆคน และหวังอีกเช่นกันว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นสำหรับการสัมภาษณ์ในครั้งนี้
สุดท้ายก็ขอบคุณทางเพจ Assumption Museum ที่เล็งเห็นความสำคัญของเดือนนี้ซึ่งเป็น pride month และต้องการที่จะปรับมุมมองความคิดให้คนทั่วไปได้เห็นมุมมองอื่นมากขึ้น และต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น รวมถึงการขออภัยล่วงหน้าหากให้สัมภาษณ์ผิดพลาดประการใด หรือไม่ถูกใจไม่ถูกต้องส่วนไหนก็ตามค่ะ แต่ก็ยังอยากย้ำอีกทีว่านี่เป็นเพียงความคิดเห็นและประสบการณ์ส่วนบุคคลที่เกิดขึ้นกับตัวเราเองค่ะ ขอบคุณค่ะ
-------------------
ขอขอบคุณ จิรภัทร ตรงจิตต์รักษา 46774 AC131
สัมภาษณ์ : 4 มิถุนายน 2021
เผยแพร่ครั้งแรก : 6 มิถุนายน 2021 ในเพจเฟซบุ๊ค Assumption Museum
Art Work : กฤตภาส บัวเสริมสวรรค์ AC130