AssumptionPride 07 : ณิศนันท์ อาทิตยปัทมวงศ์

AssumptionPride 07
ณิศนันท์ อาทิตยปัทมวงศ์ 51159 AC130
< LGBTQ+ ในโรงเรียนอัสสัมชัญเป็นยังไงครับ >
ถ้าว่ากันตามตรงจากบริบทของสังคมชายล้วนอย่างอัสสัมแล้ว LGBTQ+ (ถ้าจะเอาตรง ๆ ในสังคมโรงเรียนเราส่วนมากก็จะเป็น Gay, Bisexual และบางคนที่พัฒนามาเป็น Trans หลังเรียนจบนะคะ ส่วน Queer ก็มี แต่ไม่เคยรู้จักเป็นการส่วนตัว)
บทบาทมีอยู่ในหลายจุดนะคะ แต่แค่ในยุคที่เราเรียนอยู่ พวกเราแทบไม่เคยได้รับการ recognized อะไรเลย เพราะคนที่จะกล้าแสดงออกมาชัดเจนเลยคือมีแค่คนที่สังคมเรียกว่า "ตุ๊ด" นะ คนเป็นไบกับเกย์ ก็... เขาไม่มาเปิดตัวอะไรอยู่แล้วนะคะ มันเลยกลายเป็นว่าพวกเราที่เป็นตุ๊ดอะ เป็นเป้านิ่งมาโดยตลอด คิดไม่ออกบอกไม่ถูก มาด่า มาบูลลี่อิพวกนี้ไว้ก่อน
แต่สิ่งที่แบบตลกสำหรับเรามากเลยอะ คือโรงเรียนแทบไม่เคยไว้วางใจในความสามารถ ความรู้ ความอ่านของ "ตุ๊ด" เลย ไม่ว่าจะเก่งขนาดไหน มีความสามารถยังไง หลาย ๆ ครั้งคนที่ได้รับโอกาสไปเป็นหน้าเป็นตาให้กับโรงเรียนก็ยังเป็น "เด็กชายปรกติ" หรือ "ดูเหมือนปรกติ" ทั่วไปมากกว่า
< พี่ก็เห็นพวกเราช่วยงานโรงเรียนตลอดนะ >
แต่ถ้ามีคนจะแย้งว่าแต่ตุ๊ดก็ทำงานกิจกรรมนู่นนี่เยอะนะ ใช่ค่ะ ทำเยอะมากกกกกกกกกกกก เราก็เป็น 1 ในนั้นค่ะ แต่ลองนับครั้งดูนะคะว่ากี่ครั้งที่พวกเราได้รับการยอมรับมากกว่าการเป็น "คนเบื้องหลัง"
< คิดว่าเอกลักษณ์ของ LGBTQ+ ในโรงเรียนเป็นอย่างไรครับ >
เอกลักษณ์ของ GBTQ+ (ไม่ได้พิมพ์ตกนะคะ ตัด L ออกเพราะนักเรียนในโรงเรียนนี้ไม่มี L ค่ะ) เป็นอะไรที่แปลกมาก เราแทบจะไม่เคยเห็นคนที่เขาแสดงออกเปิดเผยอะไรเลย นอกจากคนที่ออกสาว ซึ่งในเลเวลการออกสาวของเด็กอัสสัมก็ถือว่าน้อยมาก ไม่ได้มีเทรนด์การเทคฮอร์โมน แต่งหน้ามาโรงเรียน แบบเด็กโรงเรียนอื่น ๆ ไม่ได้ขยันแต่งหญิงอะไรกันขนาดนั้น
ส่วนคนที่เป็นไบและเกย์ เงียบยังไงในวันนั้นก็ยังเงียบแบบนั้นในวันนี้ค่ะ ซึ่งก็โอเคนะ มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในชีวิตของแต่ละคน ใครจะชอบอะไรรักใคร จะได้กับใคร มันเป็นเรื่องของเขาค่ะ
ถึงตุ๊ด คนออกสาว และที่พัฒนามาเป็นทรานส์ในโรงเรียนเราจะน้อย แต่ในสังคมเด็กอัสสัมชัญ มันคือสังคมตัวอย่างของคำว่า Gender Fluid เลยนะ
< เล่าปัญหาที่เจอในโรงเรียนให้ฟังหน่อยครับ >
ปัญหาในโรงเรียนที่เจอเหรอ ? อืมมม เอาตรง ๆ นะ เวลาเราเจอผู้ใหญ่หรือเด็กผู้ชายคนอื่นบูลลี่ เราไม่ได้ตกใจนะ เราคิดว่าเรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องของชุดความคิดที่ถูกปลูกฝังมาเนอะ ซึ่งแต่ละคนไม่เท่ากัน ถามว่ามีไหม มีสิ เยอะแยะ สารพัด มาทั้งปัญหาในรูปแบบความรุนแรงชัดเจน เช่น การบูลลี่ การดูถูก เหยียดหยาม การด่าทอ ต่อว่า ฯลฯ
การเหยียดเพศมันไม่เคยรุนแรงขึ้นหรือเบาลงนะ แต่ละคนเจอมาในรูปแบบที่แตกต่างกันอะ แล้วต้องยอมรับด้วยว่า mindset คนไม่เหมือนกันมาก ๆ บางคนมองว่าการหยอกล้อเล่น ๆ ตามประสาเพื่อนไม่ผิดอะไร แต่คนโดนบางทีก็ไม่ได้คิดแบบนั้นนะ
< เราอาจจะวัดความรุนแรง/เบา จากความรู้สึกที่มีอยู่ในปัจจบุัน แต่ที่เราจะสื่อคือมันมีการเหยียดเพศอยู่ แค่มีอยู่ ไม่ได้หนัก/เบา >
แล้วก็จะมีมาในรูปแบบของ... เรียกว่าไรอะ อารมณ์แบบ "ถ้าเป็นตุ๊ดแล้วไม่เก่ง อย่าเป็นเลย" หรือแม้แต่ "คิดจะเลียนแบบผู้หญิง ก็ต้องเป็นผู้หญิงดีดี ไม่ใช่พวกหากินกลางคืน แหกปากไปวัน ๆ" ซึ่งมันคนละเรื่องกันอะ ไม่มีใครมีความจำเป็นที่จะต้องดีเด่น เลิศเลอกว่าใครเพียงเพราะแค่อัตลักษณ์ทางเพศของเขาอะ
แล้วมันก็จะมีเหตุการณ์หนึ่งที่จำได้ขึ้นใจจนทุกวันนี้ก็คือ ตอนเราอยู่ ม.ต้น เราเคยไปออกรายการแฟนพันธุ์แท้ แล้วคือคนหลายคนก็ได้ดูได้เห็น reception ส่วนมากก็โอเคนะ แต่มันก็จะมีบางคนที่เขามาด่าเราด้วยคำพูดแบบ "เสียชาติเกิด", "สงสารพ่อแม่มึงจังมีลูกเป็นตุ๊ด"
เราไม่รู้นะว่าอาจจะเพราะตอนนั้น ด้วยวัยยังเด็กและขาดวุฒิภาวะ ทำให้สามารถพูดประโยคแบบนี้ออกมาจากปากได้ แต่ถามว่าเรื่องนี้มันรับได้ไหม จริง ๆ มันรับไม่ได้นะ ถ้าเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่เรา คำพูดแบบนี้มันสร้างปมให้ชีวิตเขาได้เลยนะ แล้วคืองงมาก ว่าคนเรานี่เอามาตรฐานตรงไหนมากล้าตัดสินชีวิตคนอื่นว่าเขาเสียชาติเกิดหรือใจดีขนาดที่ไปสงสารแทนพ่อแทนแม่เขา
อีกสิ่งที่ตกใจมากคือคนที่ยังไม่ได้ come out แล้วแสดงท่าทีรังเกียจต่อต้านคนที่ออกสาวมาก แบบ เห้ยย นี่ตลกแล้วอะ คือจริง ๆ เราก็เข้าใจในบริบทของเขานะ แต่เราคิดว่าการที่คุณทำตัวว่าเกลียดหรือรังเกียจตุ๊ด มันไม่ได้ทำให้คุณดูเป็นผู้ชายมากขึ้นอะ ถ้าว่ากันตามตรงก็คือ คนที่โอเค เป็นเพื่อนกับตุ๊ดได้ มันก็ไม่เท่ากับว่าต้องเป็นตุ๊ดหรือ "ผัวตุ๊ด" อะ
(หลายคนที่เคยกระทำแบบนั้นใน ตอนนี้ came out แล้ว ก็ขอแสดงความยินดีด้วยและเป็นกำลังใจให้นะคะ)
< บางคนบอกว่า โรงเรียนไม่ได้ผิดอะไร แต่ปัญหามันเกิดจาก Personality ของตัวเด็กเองต่างหาก >
เหมือนจะมาบอกว่า ประเทศที่มีการฆาตกรรม ผิดที่คนเดินไปให้เขาฆ่าทำไม
โรงเรียนไม่ได้ปิดตาข้างเดียวนะ ปิดหูปิดตาสองข้างมาโดยตลอดเลย ต่อให้ใครจะด่า จะล้อใครเรื่องอะไรก็ตาม พวกพระคุณที่สามงดงามแจ่มใสเนี่ย ก็ต้องดูแลไหม ไม่ใช่ปล่อยให้มันเป็น Hunting Ground
ประเด็นมันถูกซุกอยู่ในพรมและภาพอันสวยงามของ “สุภาพบุรุษอัสสัมชัญ” มาตลอด
อยากให้ไปถามพวกคนที่หากินกับซีรี่ส์วาย แต่ไม่เคยออกมา Call Out, Support อะไรเลย ดาราวายบางคนตอนเรียนอยู่ก็ Homophobia ขั้นสุดด้วยค่ะ แสดงออกชัดเจน แต่จบออกมา เล่นวายเฉย งงค่ะ
< อยากฝากอะไรถึงรุ่นน้องบ้างมั๊ยครับ >
ไม่อยากให้โฟกัสกันที่การแสดงออกทางด้านอัตลักษณ์ทางเพศค่ะ ไม่อยากให้มันมาเป็นตัวปิดกั้นหรือส่งเสริมบอกว่าใครดี ใครด้อยกว่ากัน อยากให้ทุกคนมองกันเป็นปัจเจก เพราะทุกคนมีดี มีไม่ดี มีเรื่องราวในชีวิตที่ต่างกัน คนในสังคมโรงเรียนเดียวกัน รักและเข้าใจกันไว้เถอะ
อยากให้น้อง ๆ รวมถึงมิส มาสเตอร์ที่เคารพรักทุกท่าน ให้โอกาสรุ่นน้องที่เป็น GBTQ ให้มากขึ้น โดยเฉพาะคนที่แสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศตัวเองชัดเจน (เพราะคนที่ไม่แสดงก็ค่อนข้างกลืนไปกับเด็กผู้ชายอยู่แล้ว)
อยากให้ลองคิดดูง่าย ๆ ว่าในโลกที่กำลังเปลี่ยนไปในทุก ๆ วันนี้ ถ้าโรงเรียนอย่างอัสสัมชัญ ที่แค่พูดชื่อ ทุกคนก็รู้ได้เกียรติประวัติแล้ว เป็นโรงเรียนที่สนับสนุนนักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะแสดงออกทางเพศยังไง เพราะในความจริง มันไม่ได้ต่างอะไรกันเลยอะ
ไม่มีเด็กออกสาวคนไหนจะไปยืนกรี๊ดในงานประกวดทางวิชาการที่โรงเรียนส่งไปเป็นตัวแทนหรอก ที่ผ่านมามันเป็นความกลัวและอคติที่ผู้ใหญ่บางท่านหลอนไปเองและทำให้เด็กที่มีความสามารถหลาย ๆ คนไม่ได้รับโอกาสอย่างที่เขาควรจะได้รับอะ
< มีอะไรอยากบอกอีกไหม อะไรก็ได้ >
ถ้าพี่ ๆ น้อง ๆ เพื่อน ๆ คนไหนมีแอค onlyfans ก็ทักมาบอกกันได้นะคะ ยินดีสนับสนุนค่ะ
< ... >
ล้อเล่นค่ะ ที่อยากพูดทิ้งท้ายไว้ก็คือ เด็กนักเรียนทุกคนอะ ล้วนมีฝัน ที่บางคนไม่กล้าฝัน แต่ก็ยังแอบฝัน ว่าจะได้รับการยอมรับสนับสนุนในสังคมที่ตัวเองใช้เวลาใน 1 วันมากที่สุดก็คือ "โรงเรียน" ซึ่งการที่คนเราจะแสดงออกถึงความเป็นมิตร ความรัก ความโอบอ้อมอารีกันอะ มันง่ายกว่าการมาด่าทอ บูลลี่ ต่อต้านกันไหม ก็อยากจะให้ทุกคนทั้งน้อง ๆ รวมถึงมิส มาสเตอร์ที่เคารพรักทุกท่าน ช่วย "สานฝัน" อันนี้ให้กับนักเรียนทุกคนค่ะ
แล้วก็อยากจะให้พี่ ๆ น้อง ๆ อัสสัมชนิกทุกท่านร่วมกันสร้างความตระหนักในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศกันในทุก ๆ รูปแบบเนื่องในโอกาสของเดือน Pride Month นี้ค่ะ #sharewithpride
-------------------
ขอขอบคุณ ณิศนันท์ อาทิตยปัทมวงศ์ 51159 AC130
สัมภาษณ์ : 5 มิถุนายน 2021
เผยแพร่ครั้งแรก : 7 มิถุนายน 2021 ในเพจเฟซบุ๊ค Assumption Museum
Art Work : กฤตภาส บัวเสริมสวรรค์ AC130