ประวัติ และผลงานของ ฟ.ฮีแลร์

เมื่อต้นปี 2018 ผู้เขียนได้เข้าไปเห็นบอร์ดนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติ และผลงานของ ฟ.ฮีแลร์ ที่ใต้ตึก ฟ.ฮีแลร์ ทำให้พบว่านักเรียนใช้ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์วิกิพีเดีย เพื่อนำมาจัดทำนิทรรศการ เมื่อผู้เขียนได้เข้าไปสืบค้นต่อ ก็พบว่าเว็บไซต์หลักของโรงเรียนก็นำข้อมูลจากวิกิพีเดียมาใช้เช่นกัน
เมื่อผู้เขียนเข้าไปสืบค้นที่เว็บไซต์วิกิพีเดีย ทำให้พบว่ามีข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากหลักฐานชั้นต้นจำนวนมาก ผู้เขียนได้พยายามแก้ไขข้อมูลในวิกิพีเดียให้ครบถ้วนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น จนพบปัญหาเชิงเทคนิคที่ทำให้ไม่สามารถแก้ไขข้อมูลในวิกิพีเดียได้ เนื่องจากวิกิพีเดียเป็นสารานุกรมเสรีที่เปิดให้ทุกคนสามารถเข้าไปแก้ไขข้อมูลได้ ข้อมูลหลาย ๆ ชุดยังขาดการอ้างอิง
ผู้เขียนจึงเห็นว่า ควรมีช่องทางที่สามารถเผยแพร่ประวัติ และผลงานของ ฟ.ฮีแลร์ได้อย่างถูกต้องทางประวัติศาสตร์ มีหลักฐานอ้างอิงที่ชัดเจน
เมื่อผู้เขียนสำรวจลึกลงไปทำให้พบว่า องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับ ฟ.ฮีแลร์ที่รับรู้กันในปัจจุบัน มีต้นทางของการรวบรวมและเรียบเรียงมาจากงานเขียน 2 ชิ้น คือ
1.เฉลิมวงศ์ ปีตรังสี. (2502). “ประวัติท่านเจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์” ใน อนุสรณ์งานสมโภชรับขวัญเจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์, หน้า 1 – 9.
2.สุลักษณ์ ศิวรักษ์. (2512). “ประวัติเจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์” ใน อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย ฉบับที่ระฤกวันมรณภาพครบ 1 ปี, ไม่ปรากฎเลขหน้า.
ทั้งสองขึ้นเขียนขึ้นจากการค้นคว้า รวบรวมขึ้นจากความทรงจำ และคำบอกเล่าตามประสบการณ์ของตัวผู้เขียนเอง งานเขียนทั้งสองชิ้นดังกล่าวข้างต้น กลายเป็นต้นเค้าของความรู้ ความเข้าใจที่มีต่อ ฟ.ฮีแลร์ แต่ยังขาดการใช้หลักฐานประเภทอื่นเข้ามาประมวลข้อมูล
บทความชิ้นนี้มุ่งหมายที่จะรวบรวมประวัติและผลงาน ของ ฟ.ฮีแลร์ ในครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยศึกษาเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลที่ค้นพบใหม่ภายหลังจากการดำเนินงานของ Assumption Museum เช่น อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย, อุโฆษสาร, เอกสาร, จดหมาย, รวมทั้งงานศึกษาวิจัยในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท นำมาพิจารณาร่วมกับงานเขียน 2 ชิ้นในข้างต้น
โดยหวังว่า บทความชิ้นนี้จะเป็นการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ ฟ.ฮีแลร์ที่ครอบคลุม ครบถ้วนให้ได้มากที่สุด แม้จะยังขาดความสมบูรณ์ไปในบางช่วงเวลา แต่ก็พอจะเป็นประโยชน์แก่สาธารณะในกาลปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
ชีวิตที่ฝรั่งเศส
ฟ.ฮีแลร์ เกิดที่หมู่บ้าน ซังต์ โรแมง (Saint Romain) จังหวัด เวียน (Vienne) [1] ใกล้ตำบล จำโปเมีย (Champniers) เมือง ปัวเตียร์ (Poitiers) ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1881 ในขณะนั้นหมู่บ้านซังต์ โรแมงมีประชากรประมาณ 1,168 คน [2] ท่านเริ่มศึกษาที่โรงเรียนชั้นต้นในแถบบ้านเกิด เมื่ออายุได้ 12 ปี ท่านจึงขออนุญาตบิดามารดาเข้าอบรมในยุวนิสิตสถาน (Novicate) ในคณะเจษฎาจารย์เซนต์คาเบรียล ที่เมือง แซงต์ลอรังค์ ชิว แซฟวร์ มณฑลวังเด เพื่อเรียนวิชาทางศาสนา วิชาครู และวิชาอื่น ๆ จนสำเร็จบริบูรณ์เมื่อปี ค.ศ. 1900 ในต้นปี ค.ศ. 1901 ท่านได้รับศีลบวชเป็นเจษฎาจารย์เมื่ออายุได้ 20 ปี [3] [4]
เอกสารจากหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
แสดงชื่อ / สถานที่เกิด / ปีที่เกิด / ปีที่ได้รับศีลเป็นเจษฎาจารย์ และปีที่เดินทางถึงสยาม
ชื่อ ฟ.ฮีแลร์ ปรากฏในบรรทัดแรก ระบุ Hilarius Marie เกิดที่ St. Romain (Vienne)
(วงกลมสีแดง) หมู่บ้าน St.Romain
(วงกลมสีน้ำเงิน) ตัวเมือง Champniers
สามารถดูพิกัดได้ที่ https://joo.gl/m3zwU
สำนักคณะเจษฎาจารย์เซ็นต์คาเบรียล ที่เมือง แซงต์ลอรังค์ ชิว แซฟวร์ มณฑลวังเด ประเทศฝรั่งเศส
ภาพจาก อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย เล่มที่ 53 ศก 1926, ไม่ปรากฏเลขหน้า
เดินทางสู่สยาม
เมื่อบาทหลวงกอลมเบต์ได้เดินทางกลับมารักษาตัวที่ฝรั่งเศสเมื่อ ปี ค.ศ. 1900 นั้น ท่านได้ติดต่อไปยังคณะภราดาเซนต์คาเบรียล เพื่อเจรจาให้มาช่วยดูแลกิจการด้านการศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ทางเจ้าคณะฯ ตอบตกลงด้วยดี และได้มอบหมายให้ ฟ.ฮีแลร์ร่วมคณะเดินทางมาด้วย ทั้ง ๆ ที่เพิ่งจะรับศีลบวชเป็นเจษฎาจารย์เมื่อต้นปี
เจษฎาจารย์คณะนี้รวมตัวกันที่เมืองเคลร์มงต์ (Clermont) และเริ่มออกเดินทางในวันที่ 18 กันยายน ในเวลา 20:00 น. มาถึงเมืองท่ามาร์กเซย์ (Marseille) เวลา 06:00 น. ของวันที่ 19 กันยายน ใช้เวลาพำนักอำลาฝรั่งเศสอยู่ 3 วัน แล้วจึงลงเรือโดยสารชื่อ Annam ที่เมืองมาร์กเซย์ เดินทางออกจากฝรั่งเศสเมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1901 เวลา 17:00 น.
ต่อไปนี้คือเวลาและสถานที่ต่าง ๆ ที่คณะภราดาได้เดินทางผ่าน [5]
วันจันทร์ที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1901 เดินทางมาถึงชายฝั่งของเกาะคอร์ซิกา (Corsica)
วันพุธที่ 25 กันยายน ค.ศ. 1901 เดินทางผ่านช่องแคบเมสซินา (Strait of Messina) ปลายคาบสมุทรอิตาลี
วันศุกร์ที่ 26 กันยายน ค.ศ. 1901 เดินทางเลียบชายฝั่งเกาะครีต (Crete)
วันเสาร์ที่ 27 กันายายน ค.ศ. 1901 เดินทางมาถึงเมืองพอร์ต ซาอิด (Port Said) ปากทางเข้าคลองสุเอซ ฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เจ้าหน้าที่เดินเรือได้แจ้งว่า มีโรคระบาดอยู่ในอียิปต์ ห้ามผู้โดยสารขึ้นฝั่งเพื่อพักผ่อนเด็ดขาด
วันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1901 เดินทางออกจากคลองสุเอซ (Suez Canal) เข้าสู่ทะเลแดง (Red Sea)
วันอังคารที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1901 เดินทางถึงเมืองท่าจิบูตี (Djibouti) คณะภราดาพักที่นี่ 2 วัน ก่อนออกเดินทางต่อในวันที่ 3 ตุลาคม
วันพุธที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 1901 เดินทางถึงเมืองโคลัมโบ (Columbo) ศรีลังกา
วันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 1901 สามารถมองเห็นชายฝั่งของเกาะสุมาตรา (Sumatra)
วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 1901 เดินทางเข้าสู่ช่องแคบมะละกา (Strait of Malacca)
วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1901 เดินทางถึงเมืองสิงคโปร์ (Singapore)
วันพุธที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1901 ลงเรือสตรีมเมอร์สัญชาติเยอรมัน ชื่อ Kudat ขนาด 590 ตัน ออกเดินทางเวลา 10:00 น. มุ่งหน้าสู่อ่าวไทย
วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 1901 เดินทางถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา ต้องรอเวลาน้ำขึ้นพรุ่งนี้เช้าจึงเดินทางต่อไปตามลำน้ำได้
ในที่สุด คณะภราดาเดินทางถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 1901 เวลา 13:00 น. รวมใช้เวลาเดินทาง 29 วัน ระยะทางเดินทางประมาณ 15,000 กิโลเมตร คณะภราดาก้าวเท้าเข้ามาที่โรงเรียนอัสสัมชัญเป็นครั้งแรกเวลา 14:00 น. มีบาทหลวงหลุยส์ รอมิเออ, บาทหลวงแฟร์เลย์, นักเรียนอัสสัมชัญให้การต้อนรับ พร้อมกับวงดนตรีของโรงเรียนบรรเลงเพลงต้อนรับด้วย น่าเสียดายว่า พระสังฆราชเวย์ ประมุขแห่งมิสซังสยามยังคงป่วยไข้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจึงไม่ได้มาต้อนรับด้วย [6]
คณะภราดาเริ่มเรียนภาษาไทยเป็นครั้งแรกในวันพุธที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1901 จากการสอนของบรรดาบาทหลวงของมิซซัง สถานการณ์ของโรงเรียนอัสสัมชัญดูจะหยุดชะงักอยู่บ้าง เมื่อคุณพ่อกอลมเบต์ไม่อยู่ ปรากฏนักเรียนเพียงประมาณ 300 คน จากรายชื่อที่ลงทะเบียนเป็นนักเรียนไว้ 360 คน หลักฐานยังระบุด้วยว่า ลูกชายของเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการได้เรียนอยู่ที่อัสสัมชัญด้วย [7]
อาหารการกินในช่วงแรกคงเป็นเรื่องใหญ่ที่คณะภราดาต้องปรับตัว มีการเขียนรายละเอียดของวัตถุดิบต่าง ๆ ดังนี้ [8]
"อาหารยุโรปมีราคาแพงกว่าในฝรั่งเศสมาก และมีรสชาติแย่กว่า, ส่วนอาหารทั่วไป มีปลาอย่างดี, มีเนื้อควายอย่างเลว, ไม่มีเนื้อลูกวัว (veal) และเนื้อแกะ (mutton), สามารถหาไข่มากินได้ง่าย แต่ไก่มีราคาแพง และผักต่าง ๆ ตามตลาดที่นี่ ส่งลงเรือมาจากประเทศจีน, หมูเป็นเนื้อสัตว์ที่ดีที่สุด"
ส่วนพวกผลไม้ก็มีกล้วย, ส้มสีเขียว (green oranges), ส้มป่า (wild mandarins) คณะภราดาดูจะชอบดื่มไวน์เป็นชีวิตจิตใจ มีการระบุด้วยว่า ค่าส่งไวน์หนึ่งถังจากเมืองท่ามาร์กเซย ประเทศฝรั่งเศส ราคาประมาณ 10 - 20 ฟรังค์ [9]
ศึกษาภาษาไทย
ปัญหาในช่วงแรกของการปฏิบัติหน้าที่ในอัสสัมชัญ คือ ภาษา เพราะว่าคุณพ่อกอลมเบต์ยังคงพักรักษาตัวต่อไปที่ฝรั่งเศส ภาษาไทยก็ไม่ได้หัดเรียน หัดเขียน - อ่านมาตั้งแต่ก่อนมากรุงเทพฯ ในคณะภราดาทั้ง 5 ท่าน ไม่มีใครมีความรู้ด้านภาษาไทยติดตัวมาด้วยเลย ส่วนพวกนักเรียนเองก็ยังมีน้อยคนนักที่จะพูดฝรั่งเศสได้ บวกกับความที่ท่านอายุยังน้อยอยู่ นักเรียนบางชั้นที่สอนก็มีอายุมากกว่าท่านก็มี [10] เกิดเป็นความจำเป็นที่ทำให้ท่านต้องเรียนรู้ภาษาไทย
อาจารย์ภาษาไทยคนแรกของ ฟ.ฮีแลร์ก็คือ มหาทิม [11] ซึ่งเป็นครูสอนอยู่ที่โรงเรียนอัสสัมชัญอยู่ก่อนแล้ว ท่านมหาทิมยังให้ความรู้ทางด้านขนบธรรมเนียมไทยต่าง ๆ ด้วย (เรื่องนี้ดูจะขัดแย้งกับจดหมายของภราดามาร์ติน เดอ ตูร์ส ด้านบน - ผู้เขียน)
นอกจากมหาทิมแล้ว ยังมีครูวัน (พระยาวารสิริ (อัสสัมชนิกเลขที่ 4), มหาศุภ ศุภศิริ, ครูฟุ้ง เจริญวิทย์ที่คอยช่วยกันสอน ฟ.ฮีแลร์ให้ท่านสามารถเข้าใจภาษาไทยได้ [12]
อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย (Echo de L'Assomption)
ฟ.ฮีแลร์ต่อยอดการใช้ภาษาไทยด้วยการเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการทำหนังสือวารสารของชาวอัสสัมชัญ ในชื่อ อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย (Echo de L'Assomption) ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1913 มีสังฆราชเรอเน แปร์โรสเป็นบรรณาธิการ ในเล่มมี 3 ภาษา คือ ฝรั่งเศส อังกฤษ ไทย ตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์อัสสัมชัญ ในระยะแรกจัดพิมพ์ปีละ 4 เล่ม ก่อนปรับลดลงเหลือ 3 และ 2 เล่ม จนยุติไปเมื่อปี ค.ศ 1941 เนื่องจากไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมจำนวนพิมพ์ทั้งหมด 98 เล่ม เป็นระยะเวลากว่า 28 ปี
ฟ.ฮีแลร์มุ่งหวังให้อัสสัมชัญ อุโฆษสมัยเป็นสื่อกลางของชาวอัสสัมชัญในการติดตามความเป็นไปต่าง ๆ ของโรงเรียน, บทความสนุก ๆ สอนใจสำหรับนักเรียน, เป็นเวทีให้นักเรียนได้แสดงออกทางโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน, และยังได้ชักชวนให้ศิษย์เก่าที่จบออกไปทำงานต่าง ๆ แล้ว เขียนเรื่องราวมาเพื่อเอาประสบการณ์มาให้นักเรียนปัจจุบันได้อ่านกัน ตามคำชักชวนว่า [13]
"ความ รู้ สิ่งใด ข้อใด ไม่ เปน ข้อ ลี้ ลับ ใน ราชการ หรือ ใน กบวน วิธี ทำ มา หา กิน แต่ ว่า เป็น วิชา ความ รู้ ประกอบ ไป ด้วย สาธารณะ ประโยชน์ ทั่วไป ขอ บรรดา ท่าน นักเรียน เดิม เหล่านั้น ได้ โปรด เมตตา บรรดา นักเรียน ชั้น หลัง ๆ เถิด นำ เอา ผล แห่ง ความ ชำนิ ชำนาญ ของ ตน แสดง ให้ เขา รู้ บ้าง เขา จะ ได้ ทราบ ว่า ความ เปน จริง ของ โลก เปน อย่าง ไร"
เหนืออื่นใด ความมุ่งหวังสูงสุดของฟ.ฮีแลร์ในการจัดทำอัสสัมชัญ อุโฆษสมัย ได้รับการอธิบายไว้อย่างตรงไปตรงมา ความว่า [14]
"แท้ ที่ จริง อัสสัมชัญอุโฆษสมัย มี ประสงค์ อยู่ ก็ แต่ เพียง จะ เอื้อ เฟื้อ การศึกษา วิชา ความรู้ ความ สามัคคี พร้อมเพรียง กัน ความ ยุติธรรม ความ สัตย์ซื่อ ต่อ พระ สาสนา อ่อนน้อม สุภาพ ต่อ กฏหมาย บ้าน เมือง และ การ ระเบียบ เรียบร้อย ใน ระหว่าง สานุศิษย์ สำนัก นี้ เท่า นั้น จะ ได้ มุ่งหมาย อะไร ให้ ใหญ่ โต นอก กว่า นี้ ก็ หา ไม่"
แต่งแบบเรียนอัสสัมชัญ ดรุณศึกษา
เมื่อท่านสามารถอ่านออกเขียนภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่วแล้ว ท่านจึงทราบว่า แบบเรียน “มูลบทบรรพกิจ” ที่นักเรียนขณะนั้นใช้เรียนกันอยู่ มีเนื้อหาและหลักวิชาที่ไม่ตรงกับความคิดของท่าน ท่านจึงต้องการที่จะแต่งตำราขึ้นมาใหม่ แต่ความรู้ในทางภาษาไทยของท่านยังคงไม่เพียงพอ รวมทั้งยังไม่แน่ใจกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่ท่านนำลงมาเขียนเป็นแบบสอนอ่านด้วย ท่านจึงส่งแบบร่างต้นฉบับไปให้ผู้รู้ในวงการการศึกษาไทย ณ ขณะนั้น ช่วยกันตรวจพิจารณา เช่น สมเด็จฯ กรมพระดำรงราชานุภาพ โปรเฟสเซอร์ยอร์ช เซเดส์ และบรรดาครูไทยในโรงเรียนอัสสัมชัญ [15] เดิมทีท่านตั้งใจจะแต่งแบบเรียนทั้งหมด 2 เล่ม เล่มแรกสำเร็จตีพิมพ์ออกมาในปี ค.ศ. 1910 ชื่อว่า “อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ” [16] ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ถวายเป็นที่ระลึกในงานพระบรมศพของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี ค.ศ. 1911 ด้วย [17]
หน้าปกอัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ปี 1910
เอกสารจาก หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
คำนำในอัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ฉบับพิมพ์ถวายเป็นพระราชกุศลในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต
(เป็นคนละเล่มกับเล่มด้านบน)
เอกสารจาก ห้องเอกสาร มูลนิธิคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย
ส่วนแบบเรียนเล่มที่ 2 นั้นล่าช้าออกไปอีกหลายปี ด้วยติดสงครามโลกครั้งที่ 1 ภายหลังสิ้นสุดสงคราม ฟ.ฮีแลร์ก็กลับมาสานต่องานแต่งแบบเรียน “อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา” ต่อ ฟ.ฮีแลร์สังเกตว่า เนื้อหาที่รวบรวมมาได้นั้น มีค่อนข้างเยอะ ทำให้ตัวหนังสือค่อนข้างหนา กว่าที่นักเรียนจะใช้เรียนได้จนจบเล่ม ก็จะชำรุดเสียก่อน หนำซ้ำยังต้องแบกหนังสือเล่มหนา ๆ เทียวไปเทียวมา ไม่สู้สะดวกนัก [18] ท่านจึงดำริให้แบ่ง “อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา” เล่มที่ 2 นี้ เป็นอีก 2 เล่ม เมื่อรวมกับ “อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ” แล้ว เท่ากับว่า แบบเรียนชุด “อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา” นี้ จะมี 3 เล่มสมบูรณ์ด้วยกัน
เมื่อเรียบเรียง ตรวจทาน เนื้อหาได้พอสมควรแล้ว ฟ.ฮีแลร์จึงติดต่อขอให้สมเด็จฯ กรมพระดำรงราชานุภาพทรงช่วยเหลือในการตรวจทาน “อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา” เล่มที่สองนี้ ซึ่งพระองค์ก็ทรงรับไว้เป็นพระธุระ ทรงช่วยเหลือ ฟ.ฮีแลร์ตรวจทานโดยละเอียดดังจะเห็นได้จากในจดหมายฉบับต่าง ๆ ที่ทรงโต้ตอบกับ ฟ.ฮีแลร์ [19] สำหรับวิธีการตรวจนั้น ได้มีการติดต่อกันทางจดหมาย ส่งหนังสือต้นฉบับต่อกัน โดยมียอร์ช เซเดส์เป็นคนกลางในการรับส่งเรื่อง เนื่องจากในบางครั้งสมเด็จฯ กรมพระดำรงราชานุภาพทรงประทับอยู่ที่หัวหิน [20] พระองค์ทรงประทานความคิดเห็น ข้อแก้ไข ต่าง ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการพัฒนา “อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา” ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่การติดต่อกันผ่านทางจดหมายเพียงอย่างเดียวยังมีข้อจำกัดอยู่ ที่ไม่อาจชี้แจงข้อแก้ไขบางประการให้กระจ่างได้ จึงได้มีการนัดพบกันของทั้งสองท่าน เพื่อตรวจแก้ไขก่อนที่จะมีการตีพิมพ์เป็น “อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กลาง” ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1921 [21]
ภายหลังการตีพิมพ์ “อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กลาง” กระทรวงศึกษาธิการได้มีการประกาศใช้ปทานุกรมขึ้นแทนพจนานุกรมเก่า บทอ่านที่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ จึงต้องแก้ไขคำต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามปทานุกรมนั้น เมื่อแก้ไขเสร็จเรียบร้อยดีแล้ว จึงได้ตีพิมพ์ “อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน ปลาย” ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1922 [22] เป็นการสิ้นสุดภารกิจของ ฟ.ฮีแลร์ในการแต่งแบบเรียน
หน้าปกอัสสัมชัญ ดรุณศึกษา เล่ม 4 ตีพิมพ์เมื่อปี 1921
เอกสารจาก หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
ฟ.ฮีแลร์ยังได้กลับมาพิจารณา "อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ" ใหม่ ด้วยแนวคิดเดียวกัน คือ ยังเห็นว่า "อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ" มีรูปเล่มที่หนาเกินไปสำหรับเด็กเล็ก การพิมพ์ครั้งที่ 4 เมื่อปี 1921 จึงได้แบ่ง "อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ" ออกเป็นอีก 2 เล่ม คือ "อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ" และ "อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน ต้น" เพราะฉะนั้นตั้งแต่ปี 1922 เป็นต้นมา นักเรียนอัสสัมชัญจึงมีแบบเรียน "อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา" ใช้ครบชุดทั้งหมด 4 เล่มด้วยกัน
สงครามโลกครั้งที่ 1
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ฟ.ฮีแลร์ถูกเรียกเกณฑ์จากรัฐบาลฝรั่งเศสให้กลับไปช่วยการสงครามในด้านการพยาบาล ฟ.ฮีแลร์ได้ลงเรือโดยสาร โปรดิวซ์ ออกจากกรุงเทพเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1914 [23] ระหว่างเดินทาง ฟ.ฮีแลร์ได้เขียนจดหมายส่งกลับมาตีพิมพ์ใน “อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย” บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ตามเมืองที่เรือได้แวะจอด เมื่อถึงฝรั่งเศสที่ท่าเมืองมาร์กเซย์แล้ว ท่านก็เดินทางไปประจำการที่เมืองชาโตรู เริ่มต้นหน้าที่ในการสงครามด้วยการ ไม่มีธุระอะไรสำคัญ ช่วยนายทหารบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ และอบรมวิธีการปฐมพยาบาล การอุดเลือด การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ฯลฯ เมื่ออยู่ประจำการได้ 1 เดือน ท่านจึงลงชื่อขอสมัครไปทำหน้าที่พยาบาลตามสนามรบ แต่นายแพทย์ผู้ตรวจร่างกายไม่อนุญาต ด้วยเหตุว่าท่านอาศัยอยู่ในเมืองร้อน ไม่เหมาะจะไปสนามรบซึ่งมีอากาศหนาว ท่านมักจะถูกชาวฝรั่งเศสถามเรื่องของสยามอยู่บ่อยครั้ง ท่านยังระบุว่า ท่านใส่หมวกสีขาวซึ่งนำมาจากกรุงเทพฯ อยู่ตลอดเวลา [24]
จดหมายตอบของ ฟ.ฮีแลร์ ลงวันที่ 21 มกราคม 1915
เนื้อความ ถามข่าวคราวเกี่ยวกับกรุงเทพฯ อังกฤษ และเด็กสยามในอังกฤษ
เอกสารจาก พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ
ฟ.ฮีแลร์ลงชื่อหาทางย้ายตัวเองมาประจำการให้ใกล้กับเมืองบ้านเกิดของท่าน ท่านเข้าประจำการที่โรงพยาบาล "ซูร์มือเอ" ในเมืองปัวเตียร์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ เมื่อถึงเวลานี้แล้ว ไม่มีใครเรียก ฟ.ฮีแลร์ ตามชื่อของท่านอีกต่อไป เพราะมีแต่คนเรียกท่านว่า มองซิเออร์บางกอก ท่านยังนึกเสียดายที่ไม่ได้พกหนังสือภาษาไทยมาอ่านด้วย เพราะท่านเกรงจะลืมภาษาไทย และอยากอ่านเรื่องราวสนุก ๆ อย่าง พระอภัยมณี และลักษณวงศ์ [25] ฟ.ฮีแลร์ปลดประจำการเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 1915 [26] แต่ยังไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ทันที เนื่องจากติดขัดเรื่องใบอนุญาตเดินทาง ทำให้ท่านต้องเดินทางไปกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก่อนที่จะมารอโอกาสหาเรือโดยสารกลับมากรุงเทพฯ ที่ประเทศสเปน
ภาพถ่ายทางอากาศโรงพยาบาลชาโตรู ซึ่งเป็น Base Hospital no.9 ที่ ฟ.ฮีแลร์ไปประจำการเป็นที่แรก
ภาพจาก U.S. National Library of Medicine (https://collections.nlm.nih.gov/catalog/nlm:nlmuid-101396379-img)
ฟ.ฮีแลร์ในเครื่องแบบบุรุษพยาบาลเข้าประจำการในชั้นแรกที่ชาโตรู ซึ่งเป็นที่ตั้งของ Base Hospital No.9 หรือ โรงพยาบาลสนามหมายเลข 9
ซึ่งเป็นหมายเลขที่ปรากฎบนหมวกของ ฟ.ฮีแลร์ พร้อมกับปลอกแขน Red Cross ขณะนั้นท่านมีอายุ 33 ปี
ภาพจาก พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ
นาย อาจ (C.Orr) ฟ.ฮีแลร์ และนาย ย.ล.กวงเสง (J. L. Kuangseng
ถ่ายภาพที่สำนักเจษฎาจารย์เซ็นต์คาเบรียล ลอนดอน ปี 1915
ภาพจาก พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย เล่ม 11 ปี 1916
แปลโกษาปานไปฝรั่งเศส
หน้าปกหนังสือ โกษาปานไปฝรั่งเศส สำนักพิมพ์ศรีปัญญา ตีพิมพ์เมื่อปี 2017
รูปจาก https://m.se-ed.com/Detail/จดหมายเหตุโกษาปานไปฝรั่งเศส-ปกแข็ง/9786164370012
ในอัสสัมชัญ อุโฆษสมัย เล่ม 18 ปี 1918 ปรากฎข้อเขียนชื่อ "ออกขุนชำนาญ" ซึ่งได้เริ่มกล่าวถึงเรื่องราวของบาทหลวตาชาร์ด และคณะทูตไทยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (ครองราชย์ ปี 1656 - 1688) ที่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ดังได้ปรารภไว้ว่า [27]
"...ข้าพเจ้า เห็น ว่า เปน เรื่อง ที่ น่า อ่าน น่า รู้ และ น่า สงสาร อยู่ บ้าง จึง ได้ แปล ลง ไว้ ให้ นัก อ่าน อุโฆษ สมัย อ่าน บ้าง ดัง ต่อ ไป นี้"
ลงชื่อ
(นายตรี ศ. ภ. รัตน์)
แม้ยังไม่แน่ใจว่า นายตรี ศ. ภ. รัตน์ คือใคร แต่หลังจากนั้น ก็ปรากฏการตีพิมพ์เรื่อง "ราชทูตไทยไปฝรั่งเศส" ตั้งแต่อัสสัมชัญอุโฆษสมัย เล่ม 21 ปี 1918 เป็นต้นมา ในอัสสัมชัญ อุโฆษสมัยได้ชี้แจงแรงบันดาลใจในการหยิบเรื่องราชทูตไทยไปฝรั่งเศสนี้มาใจความว่า [28]
"เมื่อการเป็นเช่นนี้แล้ว อุโฆษสมัยจึงได้ตั้งใจค้นคว้าหาเรื่องโบราณ คราวสมัยเดียวกันกับเรื่อง "ออกขุนชำนาญ" นั้นนั่นเองโดยหมายจะพิมพ์ต่อ พะเอิญได้โชคดีวันหนึ่ง ได้ไปเที่ยวชมหอสมุดพระวชิรญาณ ได้พบท่านโปรเฟเซอร์เซแดส ผู้เปนบรรณารักษ์ของหอนั้น และท่านได้แนะนำให้อ่านรายงานฝรั่งเศศว่าด้วยราชทูตสยามได้ไปกรุงปารีสครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ว่า
เชิญอ่านเถิด !
รายงานเล่มนี้ค่อนข้างแปลกและหายากอยู่ด้วย !
แล้วซ้ำพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระดำรงราชนุภาพ สภานายกหอสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ซึ่งประทับอยู่ที่นั้นด้วย ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดอนุญาตให้คัดลอกได้ตามชอบใจ ทั้งทรงรับสั่งตักเตือนให้แปลออกเปนไทยด้วย ก็ได้เปนโอกาศอันเหมาะ อุโฆษสมัยจึงได้ลองแปลเรื่องรายงานราชทูตสยามนั้นมาพิมพ์ให้นักอ่านของอุโฆษสมัย ที่อยากรู้เรื่องโบราณคดีขอคนไทยในกาลก่อนอ่านดูบ้าง เพื่อเปนที่ประดับสติปัญญา."
เรื่อง "ราชทูตไทยไปฝรั่งเศส" ถูกทยอยตีพิมพ์มาเรื่อยจนจบบริบูรณ์ในอัสสัมชัญ อุโฆษสมัย เล่ม 41 ปี 1923 [29] รวมจำนวนพิมพ์ 20 ฉบับ ระยะเวลานานกว่า 6 ปี ถือเป็นผลงานการแปลชิ้นเอกของ ฟ.ฮีแลร์
ภาพประกอบเรื่อง "ราชทูตไทยไปฝรั่งเศส"
ตีพิมพ์ในอัสสัมชัญ อุโฆษสมัย เล่ม 32 ปี 1921
ภายหลังการตีพิมพ์ลงอัสสัมชัญ อุโฆษสมัย และถวายสมเด็จกรมพระดำรงราชานุภาพไปแล้ว ทางราชบัณฑิตยสถานก็ได้นำเรื่อง "ราชทูตไทยไปฝรั่งเศส" ไปตีพิมพ์ลงในประชุมพงศาวดารภาคที่ 57, 58, 59, 60 เมื่อปี 1932 ในชื่อเรื่อง "โกษาปานไปฝรั่งเศส" โดยที่ ฟ.ฮีแลร์ไม่ได้รับทราบด้วยว่าทางราชบัณฑิตยสถานนำผลงานของท่านไปตีพิมพ์ ฟ.ฮีแลร์ได้เล่าให้กับสุกิจ นิมมานเหมินทร์ฟังไว้ว่า [30]
"หนังสือนี้ อั๊วแปลถวายในกรมดำรงไป เพราะรักใคร่ชอบพอกัน แต่ว่ามาตอนหลังทางหอพระสมุดเก็บเอาไปพิมพ์ออกจำหน่าย คำเดียวเขาก็ไม่บอกให้อั๊วะจะปรึกษาหารือ จะขออลิขสิทธิ์หรืออะไร เขาก็ไม่ทำสักอย่าง จู่ ๆ เขาก็พิมพ์ออกมาขาย แต่อั๊วะก็ไม่ว่าอะไรเพราะเป็นการเผยแพร่ความรู้"
กลับฝรั่งเศสระดมทุนสร้างตึกกอลมเบต์
ภายหลังการมรณภาพของบาทหลวงเอมิล ออกุสต์ กอลมเบต์ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1933 บรรดาศิษย์เก่าได้ประชุมกันมีวาระให้ดำเนินการสร้างอนุสรณ์สถานบาทหลวงกอลมเบต์ เพื่อเป็นอนุสาวรีย์ที่ระลึก และใช้งานด้านการศึกษาตามเจตนารมณ์ของท่านผู้ก่อตั้งโรงเรียน [31] ประกอบกับ ฟ.ฮีแลร์มีภารกิจส่วนตัวที่ต้องเดินทางกลับฝรั่งเศส ทำให้มีดำริว่า ฟ.ฮีแลร์จะหาทางระดมทุนหาเงินมาสร้างอนุสรณสถานนี้จากยุโรป ในขณะที่บรรดาอัสสัมชนิกระดมทุนจากในประเทศไทย
พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ในพิธีปลงศพบาทหลวงกอลมเบต์
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 1933 ณ อาสนวิหารอัสสัมชัญ
ฟ.ฮีแลร์ ในชุดหล่อสีดำ ยืนข้างหลัง
ห้องเอกสาร มูลนิธิคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย
การจากไปฝรั่งเศสในครั้งนี้ของท่าน นับเป็นที่โศกเศร้าของบรรดาอัสสัมชนิกจำนวนมาก ได้มีการจัดงานเลี้ยงน้ำชาอำลาที่สมาคมอัสสัมชัญ ในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1934 มีผู้มาร่วมงานประมาณ 200 คนเศษ [32] พอถึงวันที่ 2 มิถุนายน โรงเรียนได้หยุดเป็นกรณีพิเศษ อัสสัมชนิกทั้งเก่า ใหม่ ใหญ่ เล็ก ก็รวมตัวกันไปส่งท่านที่ชานชาลาสถานีรถไฟหัวลำโพง ครั้นเวลาประมาณ 16:00 น. รถไฟก็เคลื่อนขบวนออกจากสถานี อัสสัมชนิกทั้งหลายก็ส่งเสียงให้พรท่านเดินทางโดยสวัสดิภาพ ฟ.ฮีแลร์ยืนโบกผ้าเช็ดหน้าอำลา แม้รถไฟแล่นห่างออกไปดูลับตา แต่ยังคงเห็นผ้าเช็ดหน้าผืนน้อยโบกไหว ๆ อยู่อย่างนั้น [33]
ฟ.ฮีแลร์ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกับอัสสัมชนิกที่ตามไปส่งท่านที่สถานีรถไฟทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ภาพถ่ายปี 1934 จาก อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย เล่ม 83 ปี 1934
ฟ.ฮีแลร์โดยสารรถไฟไปยังสถานีทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีศิษย์เก่าที่พำนักอยู่ทางภาคใต้ไปรับ เพื่อส่งท่านลงเรือกลับฝรั่งเศสต่อไป ในการนั้นบรรดาอัสสัมชนิกได้จัดทำของที่ระลึกเป็นเครื่องถมให้ท่านเป็นกรณีพิเศษอีกด้วย
เครื่องถมที่ระลึกส่ง ฟ.ฮีแลร์กลับฝรั่งเศส จัดทำในปี 1934
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3iqqBlS
ฟ.ฮีแลร์ไปเปลี่ยนเรือโดยสารที่สิงคโปร์ โดยลงเรือชื่อ อารามิส เดินทางออกจากสิงคโปร์ในวันที่ 12 มิถุนายน 1934 มุ่งหน้าสู่ประเทศฝรั่งเศส [อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย เล่ม 82 หน้า 171]
เมื่อเดินทางถึงฝรั่งเศส แล้ว ท่านได้พำนักอยู่ที่ Missions Etrangères de Paris [34] สถานที่เดียวกับต้นสังกัดของคุณพ่อกอลมเบต์ ฟ.ฮีแลร์เขียนจดหมายเรี่ยไรเงินไปหาองค์กรการกุศลต่าง ๆ ทั่วยุโรป ซึ่งปรากฏว่าเงินที่ท่านเรี่ยไรได้จากต่างประเทศนั้น มากกว่าเงินที่เรี่ยไรได้จากในประเทศไทยเสียอีก ท่านเดินทางกลับถึงประเทศไทยในวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ. 1936 ซึ่งเมื่อถึงอัสสัมชัญแล้ว ท่านก็รับธุระในการดูแลจัดการด้านจดหมาย และดำเนินการสร้างอนุสรณสถานบาทหลวงกอลมเบต์ต่อไปจนเสร็จเรียบร้อยในปี ค.ศ. 1938
การเดินทางไปฝรั่งเศสครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 ที่ท่านได้กลับไปยังบ้านเกิดของท่าน และเป็นการจากบ้านเกิดของท่านเป็นครั้งสุดท้าย เพราะหลังจากนี้ ท่านก็มิได้กลับไปฝรั่งเศสอีกเลย
จดหมายขอบคุณหม่อมเจ้าหญิงกนกนารี ทองแถมที่ได้ช่วยบริจาคเงินสร้างอนุสรณสถานบาทหลวงกอลมเบต์
จดหมายลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2481 (1938)
เอกสารจาก ห้องเอกสาร มูลนิธิคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย
ฟ.ฮีแลร์ กับ ภ.ฮูเบิร์ต บนระเบียงชั้น 3 อนุสรณสถานบาทหลวงกอลมเบต์ ขณะยังไม่ได้ติดตั้งระฆัง
ภาพถ่ายปี 1938 จาก ห้องเอกสาร มูลนิธิคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย
สงครามโลกครั้งที่ 2
เมื่อไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยอยู่ฝ่ายอักษะร่วมกับเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ทำให้ภราดาทั้งหลายซึ่งถือว่าเป็นชนชาติศัตรูกับไทย ต้องเดินทางออกนอกประเทศไทย ฟ.ฮีแลร์ ชาวฝรั่งเศสได้เดินทางไปถึงอินเดียในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1941 เมื่อแรกได้ไปอยู่กับกงศุลที่เมืองปอนดิเชอรรี่ (Pondicherry) รับหน้าที่ในการแปลจดหมายภาษาไทย ต่อมาในเดือนกันยายนท่านได้ย้ายมาพำนักที่เมืองซาเล็ม (Salem) ในรัฐทมิฬนาฑู และได้ย้ายไปประจำการที่เมืองอุทกมณฑล (Ootacamund) [35]
การ์ดเชิญ ฟ.ฮีแลร์ไปร่วมงานเลี้ยงค๊อกเทลของเสรีไทยในเดลฮี
เอกสารจาก ห้องเอกสาร มูลนิธิคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย
จดหมายที่ ฟ.ฮีแลร์รับผิดชอบแปลให้กับหน่วยข่าวกรองของอินเดียมีตั้งแต่จดหมายจากผู้แทนไทยในต่างประเทศ, พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งที่อยู่ในไทย และพลัดถิ่น รวมทั้งจดหมายจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีซึ่งพำนักอยู่ในอังกฤษ งานของ ฟ.ฮีแลร์บางครั้งมีน้อยจนต้องเขียนจดหมายไปของานเพิ่มเติมจากหัวหน้าหน่วยที่เดลฮี (ปัจจุบันเรียกว่า เดลลี) [36] บางครั้งก็มีงานด่วนที่เรียกตัว ฟ.ฮีแลร์เข้าไปจัดการธุระ นอกจากนี้ยังแปล และเขียนแผ่นพับสำหรับเครื่องบินสัมพันธมิตรที่เข้ามาโปรยเอกสารสงครามในไทย
เอกสารแนะนำตัวของ ฟ.ฮีแลร์ ต่อหัวหน้าหน่วยข่าวกรองที่เดลฮี ลงวันที่ 22 มกราคม 1943
อธิบายความสามารถของ ฟ.ฮีแลร์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำสงคราม
เอกสารจาก ห้องเอกสาร มูลนิธิคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย
อันที่จริง ฟ.ฮีแลร์ได้รับใช้ชาติของท่านในสงครามโลกครั้งที่ 1 และได้ปลดประจำการแล้ว ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ใด ๆ อีก [37] แต่การที่ท่านอาสาตัวเองในสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ ดูจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรับใช้ชาติบ้านเกิดของท่าน เพราะหัวหน้าหน่วยของท่านเป็นชาวอังกฤษ อีกทั้งภารกิจของท่านก็เกี่ยวข้องกับเมืองไทยทั้งสิ้น นี่เป็นเพราะท่านรักใคร่ในเมืองไทยจำเพาะแต่หัวใจของท่านเอง
การปฏิบัติหน้าที่ของท่านในสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ ถือว่าท่านเป็นสมาชิก “เสรีไทย” ซึ่งได้รับการยอมรับฐานะนี้อย่างเป็นทางการ สังเกตได้จากบัตรเชิญร่วมงานเลี้ยงเสรีไทยซึ่งระบุชื่อของท่านอย่างชัดเจน [38]
ภาพถ่าย ฟ.ฮีแลร์ กับเสรีไทยที่นิลคีรี ประเทศอินเดีย
ฟ.ฮีแลร์ใส่ชุดหล่อสีขาวนั่งรองขวาสุด ติดกับ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (ขวาสุด)
รูปจาก หนังสือ ตำนานเสรีไทย หน้า 1,045
ระดมทุนสร้างตึกสุวรรณสมโภช
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ท่านเดินทางกลับมาประเทศไทยใน เดือนเมษายน ค.ศ 1946 โดยสารเรือมาขึ้นที่ท่าเรือบีไอ ถนนตก [39] ท่านพบว่าอัสสัมชัญที่เคยสวยงามด้วยตึกใหม่ อย่างตึกกอลมเบต์ ที่ท่านเดินทางไปเรี่ยไรเงินมาเป็นค่าก่อสร้างถึงฝรั่งเศส ต้องเผชิญกับลูกระเบิด พังเสียหายไปแถบหนึ่ง สำรวจแล้วราคาค่าซ่อมนั้น ประเมินออกมาได้สองแสนบาทเศษ แพงกว่าค่าก่อสร้างเสียอีก [40] ทั้งอาคารไม้ชั่วคราว 3 ชั้น อีกหนึ่งในผลงานของท่าน ก็ถูกรื้อย้ายไปเป็นอาคารเรียนที่ศรีราชา
ภารกิจใหม่ของ ฟ.ฮีแลร์ในวาระนี้ จึงเสมือนเป็นการสร้างโรงเรียนใหม่ คือต้องหาเงินมาซ่อมตึกกอลมเบต์ และหาอาคารใหม่สำหรับรองรับนักเรียน สำหรับอาคารใหม่ที่ว่านี้ ต่อมาคือ หอประชุมสุวรรณสมโภช ซึ่ง ฟ.ฮีแลร์เขียนจดหมายไปขอเรี่ยไรไม้สักมาก่อสร้างจากนายกสมาคมโรงเลื่อยจักร์แห่งประเทศไทย [41] นอกจากนี้ท่านยังเขียนจดหมายไปขอเรี่ยไรเงินจากบรรดาอัสสัมชนิก และจากองค์กรการกุศลต่างประเทศเหมือนเคย
จดหมายขอเรี่ยไรไม้สักจากสมาคมโรงเลื่อยจักร์แห่งประเทศไทย ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2493 (1950)
เอกสารจาก ห้องเอกสาร มูลนิธิคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย
ฟ.ฮีแลร์ยังมีส่วนร่วมในการตรวจงานการก่อสร้างอาคารหอประชุมสุวรรณสมโภชเป็นระยะ ๆ จนหอประชุมแล้วเสร็จ เปิดใช้งานในปี ค.ศ. 1951
ฟ.ฮีแลร์ ถือกล้องยาสูบ ขณะกำลังตรวจการสร้างหอประชุมสุวรรณสมโภช ภราดาฮูเบิร์ต (หันหลัง) และสุนัขตัวหนึ่ง
ภาพถ่ายราวปี 1949 - 1950
ภาพจาก ห้องเอกสาร มูลนิธิคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย
ฟ.ฮีแลร์ขณะกล่าวรายงานถวายพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร
ในพิธีเปิดหอประชุมสุวรรณสมโภช เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 1951
ภาพจาก ห้องเอกสาร มูลนิธิคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย
บั้นปลาย
เมื่อกาลเวลาย่างเข้าทศวรรษที่ 1950 บัดนี้ ฟ.ฮีแลร์ในวัยราว 70 ปี ก็เริ่มป่วยด้วยโรคเบาหวาน ต้องเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์อยู่บ่อยครั้ง [42] แต่อาการก็มิได้ทุเลาลง จนกระทั่งสายตาของท่านเกือบบอดสนิท แต่คุณความดีที่ท่านกระทำมาตลอดชีวิตของท่าน ก็ได้ยินไปถึงรัฐบาลฝรั่งเศส ทางรัฐบาลฯ จึงได้มอบเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ (Ordre National de la Légion D'honneur) ให้ท่านในวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1952 ที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์
ท่านเอกอัครราชทูตทำพิธีมอบเหรียญ Ordre National de la Légion D'honneur ให้แก่ ฟ.ฮีแลร์
ณ โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 1952
ภาพจาก ห้องเอกสาร มูลนิธิคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย
ต่อมาอาการเบาหวานของท่านเริ่มทุเลาลงบ้าง ท่านจึงกลับมาพำนักที่โรงเรียนอัสสัมชัญ คราวนี้ท่านไม่มีหน้าที่การงานประจำแล้ว แต่ยังคงเป็นเสมือนที่ปรึกษากลาย ๆ ให้กับท่านอธิการ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1958 มีอัสสัมชนิกได้มาแนะนำให้ท่านไปรักษาดวงตาของท่านกับนายแพทย์ชุด อยู่สวัสดิ์ ซึ่งเป็นจักษุแพทย์ที่มีชื่อเสียง การผ่าตัดกระทำในวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1959 [43] ทำให้ท่านกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง เป็นที่ยินดีของอัสสัมชนิกเป็นอย่างมาก จึงได้มีการจัดงานสมโภชรับขวัญท่านเป็นงานใหญ่ในวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1959
ปกหนังสือ อนุสรณ์สมโภชรับขวัญเจาฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ 14 มีนาคม 1959
เอกสารจาก พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ
ท่านเจษฎาธิการยอห์น แมรีได้แนะนำให้ ฟ.ฮีแลร์ย้ายไปพำนักที่บ้านพักภราดาปลดเกษียณที่ซอยทองหล่อ แต่ท่านก็ไม่ยอมไป ยังขออยู่อาศัยที่โรงเรียนอัสสัมชัญต่อไป [44] ในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตท่าน ท่านมักจะมีอาการหลง ๆ ลืม ๆ จำชื่อลูกศิษย์ไม่ได้ แม้จะขานชื่อให้ฟังแล้วก็ตาม ทั้ง ๆ ที่ท่านเคยมีความจำเป็นเลิศ อันเป็นธรรมดาของโรคชรา
ในคืนวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1968 ท่านนอนไม่หลับ จึงลุกขึ้นมาเดินที่ระเบียงตึกกอลมเบต์ แล้วล้มลง ได้รับการส่งตัวไปโรงพยาบาลคามิลเลียน แพทย์ลงความเห็นว่าเส้นเลือดในสมองแตก จะต้องรักษาตัวอีกนาน จึงได้ย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน แต่แล้วอาการก็มีแต่ทรงกับทรุด ท้ายที่สุด ท่านก็ไปอยู่กับพระเจ้าในวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1968 สิริรวมอายุ 87 ปี
คอลัมน์ช่าวอาการป่วยของ ฟ.ฮีแลร์จากหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตท่าน
ภาพจาก ห้องเอกสาร มูลนิธิคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย
ข่าวสรรเสริญเกียรติประวัติ ฟ.ฮีแลร์ ภายหลังมรณกรรมของท่าน
หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม 1968
รูปจาก พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ
ทางโรงเรียนเชิญศพท่านมาตั้งไปที่หอประชุมสุวรรณสมโภช ทำพิธีมหาบูชามิสซา และเปิดโอกาสให้อัสสัมชนิกและบุคคลทั่วไปเข้ามาแสดงความเคารพท่านเป็นครั้งสุดท้าย วันที่ 9 ตุลาคม พระยาอนุมานราชธนเป็นประธานในพิธี ป๋วย อึ๊งภากรณ์กล่าวสดุดีท่านเป็นภาษาฝรั่งเศส และเขตร ศรียาภัย กล่าวสดุดีท่านเป็นภาษาไทย บรรดาครู ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน ผลัดกันเชิญหีบศพท่าน เดินเวียนรอบโรงเรียน ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปฝังที่สุสาน อำเภอศรีราชา ขณะที่รถแล่นผ่านถนนสีลมนั้น บรรดานักเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยได้มาเข้าแถวเคารพต่อศพท่านด้วยความอาลัย หนังสือพิมพ์ต่าง ๆ พากันลงข่าวสดุดีท่านแทบทุกฉบับ [45]
พวงหรีดต่าง ๆ ที่ประดับบนเวทีหอประชุมสุวรรณสมโภช เมื่อคราวที่ตั้งศพของ ฟ.ฮีแลร์ ให้นักเรียน ศิษย์เก่า และประชาชนมาทำความเคารพท่าน
ภาพถ่ายปี 1968 ดูแลโดย งานประชาสัมพันธ์ โรงเรียนอัสสัมชัญ
แปลงเป็นดิจิตอลโดยทีมงาน Assumption Museum
Brotherhood Film Lab เอื้อเฟื้อเครื่องสแกนภาพ
นักเรียนอัสสัมชัญแห่โลงศพ ฟ.ฮีแลร์ รอบโรงเรียน ก่อนจะเชิญท่านขึ้นรถไปฝังที่สุสาน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
ภาพถ่ายปี 1968 ดูแลโดย งานประชาสัมพันธ์ โรงเรียนอัสสัมชัญ
แปลงเป็นดิจิตอลโดยทีมงาน Assumption Museum
Brotherhood Film Lab เอื้อเฟื้อเครื่องสแกนภาพ
ครู และนักเรียนอัสสัมชัญ ขณะทำพิธีฝังศพ ฟ.ฮีแลร์ ที่สุสาน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
ภาพถ่ายปี 1968 ดูแลโดย งานประชาสัมพันธ์ โรงเรียนอัสสัมชัญ
แปลงเป็นดิจิตอลโดยทีมงาน Assumption Museum
Brotherhood Film Lab เอื้อเฟื้อเครื่องสแกนภาพ
อนุสาวรีย์
ภาพถ่ายปี 2018 จาก พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ
ออกแบบและปั้นโดย อาจารย์สนั่น ศิลากร ลูกศิษย์ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งจบการศึกษาจากโรงเรียนประณีตศิลปกรรม ภายหลังได้รับการยกฐานะให้เป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาประติมากรรมคนแรกของประเทศไทย
งบประมาณในการสร้างได้รับเงินบริจาคจาก นายมงคล วังตาล อัสสัมชนิกเลขที่ 2968 เป็นเงินจำนวน 85,000 บาท โดยปั้นเสร็จสมบูรณ์ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1976 ก่อนที่จะนำมาประดิษฐานหน้าตึก ฟ. ฮีแลร์ และประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ในปีเดียวกัน โดย ฯพณฯ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธี
บัตรเชิญร่วมงานพิธีเปิดอนุสาวรีย์ ฟ.ฮีแลร์
เอกสารจาก พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ
ในความทรงจำ
สิ่งที่อัสสัมชนิกมักจะกล่าวขานถึงท่าน แท้จริงแล้ว ไม่ได้มากมายเท่ากับผลงานตลอดชีวิตของท่าน และแน่นอนว่าหนีไม่พ้นเรื่องของ ความเป็นครู ที่ท่านมีให้กับศิษย์ ความเป็นครูของท่านนี้เรียกว่า เป็นสุดยอดของครูเลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากสามารถกำราบบรรดานักเรียนจอมทะโมนทั้งหลายแล้ว ยังมีพระคุณที่สามารถผูกใจให้นักเรียนมีทั้งความรัก และความเกรงกลัวต่อตัวท่าน ควรค่าแก่การเคารพต่อศิษย์ทั้งหลาย [46] สามารถชักจูง กล่อมเกลาศิษย์ให้เอาใจใส่ต่อการศึกษา และมีคุณธรรม จริยธรรมอย่างขันแข็ง มีจิตวิทยาอย่างยอดเยี่ยม
อีกด้านที่ทั้งอัสสัมชนิกและสังคมทั่วไปรับรู้ คือ ความสามารถด้านภาษาไทย ของท่าน หลักฐานลำพังเฉพาะการแต่งแบบเรียนอัสสัมชัญ ดรุณศึกษานั้นก็แทบจะเพียงพอแล้ว เพราะได้รับการยอมรับไปทั่ว ทั้งโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนรัฐบาล รวมไปถึงผลงานการแปลเรื่อง "ราชทูตไทยไปฝรั่งเศส" ยังไม่ได้นับเรื่องเบ็ดเตล็ดยิบย่อยที่ ฟ.ฮีแลร์เขียนเป็นเกร็ดมาเล่าไว้ในอัสสัมชัญ อุโฆษสมัย, การได้รับเชิญให้เข้าร่วมวรรณคดีสโมสรในปี ค.ศ. 1932 ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ยืนยันว่าแม้แต่ชนชั้นนำของประเทศก็ให้การยอมรับ
นอกจากนั้นท่านยังเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างต้นแบบของเครือข่ายอัสสัมชนิก ต่อจากคุณพ่อกอลมเบต์ คือคอยให้ความช่วยเหลือ ประสานงาน นำพาศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน หลายรุ่น หลายยุคสมัยมารู้จักกัน ท่านยังรับหน้าที่เป็นโรงเรียนให้ในหลายวาระโอกาส เพราะอัสสัมชัญก็คือท่าน ท่านก็คืออัสสัมชัญ
เอกสารอ้างอิง
[1] เอกสารจากหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
[2] วิกิพีเดีย. Saint-Romain_(Vienne) สืบค้นเมื่อ 2 ตุลาคม 2563 จาก https://fr.wikipedia.org/wiki/Saint-Romain_(Vienne)
[3] เฉลิมวงศ์ ปีตรังสี. (2502). “ประวัติท่านเจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์” ใน อนุสรณ์งานสมโภชรับขวัญเจษฏาจารย์ ฟ.ฮีแลร์, หน้า 1 – 9.
[4] สุลักษณ์ ศิวรักษ์. (2512). “ประวัติเจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์” ใน อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย ฉบับที่ระฤกวันมรณภาพครบ 1 ปี, ไม่ปรากฎเลขหน้า.
[5] บันทึกส่วนตัวกาเบรียล เฟอเรตตี. Siam Misson. ต้นฉบับเอกสารจัดเก็บอยู่ที่ ห้องเอกสาร มูลนิธิคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย
[6] มาร์ติน เดอ ตูรส์. จดหมายลงวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1901. ต้นฉบับเอกสารจัดเก็บอยู่ที่ ห้องเอกสาร มูลนิธิคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย
[7] มาร์ติน เดอ ตูรส์. จดหมายลงวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1901. ต้นฉบับเอกสารจัดเก็บอยู่ที่ ห้องเอกสาร มูลนิธิคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย
[8] มาร์ติน เดอ ตูรส์. จดหมายลงวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1901. ต้นฉบับเอกสารจัดเก็บอยู่ที่ ห้องเอกสาร มูลนิธิคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย
[9] มาร์ติน เดอ ตูรส์. จดหมายลงวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1901. ต้นฉบับเอกสารจัดเก็บอยู่ที่ ห้องเอกสาร มูลนิธิคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย
[10] เฉลิมวงศ์ ปีตรังสี. (2502). “ประวัติท่านเจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์” ใน อนุสรณ์งานสมโภชรับขวัญเจษฏาจารย์ ฟ.ฮีแลร์, หน้า 1 – 9.
[11] สุลักษณ์ ศิวรักษ์. (2512). “ประวัติเจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์” ใน อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย ฉบับที่ระฤกวันมรณภาพครบ 1 ปี, ไม่ปรากฎเลขหน้า.
[12] สุลักษณ์ ศิวรักษ์. (2512). “ประวัติเจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์” ใน อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย ฉบับที่ระฤกวันมรณภาพครบ 1 ปี, ไม่ปรากฎเลขหน้า.
[13] อัสสัมชัญ,โรงเรียน. "คำนำ อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย”" ใน อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย เล่มที่ 1 ปี 1913. หน้า 3 - 8.
[14] อัสสัมชัญ,โรงเรียน. "คำนำ อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย”" ใน อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย เล่มที่ 1 ปี 1913. หน้า 3 - 8.
[15] วัฒภูมิ ทวีกุล.(2558). ความเป็นมา และประวัติการแต่งอัสสัมชัญ ดรุณศึกษา. ประวัติศาสตร์นิพนธ์ ศศ.บ.มหาวิทยาลัยบูรพา.หน้า 43.
[16] ฟ.ฮีแลร์. (2462). อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ, คำนำ.
[17] อเนก นาวิกมูล. (2538). “หนังสืองานพระบรมศพ ร.5 มีกี่เล่ม ? ” ใน ศิลปวัฒนธรรม 16(12) หน้า 194 - 202.
[18] อัสสัมชัญ. โรงเรียน. (2541). อัสสัมชัญประวัติ, หน้า 129.
[19] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สบ.2.50/616 เอฟ ฮิลแลร์(F.Hilaire) (21 กุมภาพันธ์ 2461 – 6 ตุลาคม 2473)
[20] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สบ.2.50/616 เอฟ ฮิลแลร์(F.Hilaire) (21 กุมภาพันธ์ 2461 – 6 ตุลาคม 2473)
[21] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สบ.2.50/616 เอฟ ฮิลแลร์ (F.Hilaire) (21 กุมภาพันธ์ 2461 – 6 ตุลาคม 2473)
[22] ฟ.ฮีแลร์. (2464). อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน ปลาย, คำนำ.
[23] อัสสัมชัญ,โรงเรียน. "ข่าวเบ็ดเตล็ด" ใน อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย เล่มที่ 4 ปี 1914. หน้า 266
[24] อัสสัมชัญ,โรงเรียน. "เมืองบัวเยียร์ ที่โรงพยาบาล "ซูมือเอร์" ใน อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย เล่มที่ 8 ปี 1915. หน้า 162 - 170.
[25] อัสสัมชัญ,โรงเรียน. "เมืองบัวเยียร์ ที่โรงพยาบาล "ซูมือเอร์" ใน อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย เล่มที่ 8 ปี 1915. หน้า 162 - 170.
[26] Bro.Hilaire. "NEWS FROM HOME." The Assumption Echo No.10 March 1916. p. 32
[27] อัสสัมชัญ,โรงเรียน. "ออกขุนชำนาญ" ใน อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย เล่มที่ 18 ปี 1918. หน้า 27 - 40.
[28] อัสสัมชัญ,โรงเรียน. "ปรารภถึงเรื่องออกขุนชำนาญ และเรื่องทูตไทย" ใน อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย เล่มที่ 21 ปี 1918. หน้า 258 - 260.
[29] อัสสัมชัญ,โรงเรียน. "ประวัติ ของ ออก พระ วิสุทสุนทร (โกศาปาน)" ใน อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย เล่มที่ 41 ปี 1923. หน้า 252 - 280.
[30] สุกิจ นิมมานเหมินทร์. "ชีวประวัติของข้าพเจ้า" ใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ เสวกโท พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) พ.ศ. 2512. ไม่ปรากฏเลขหน้า.
[31] อัสสัมชัญ,โรงเรียน. "อนุสสาวรีย์ “คุณพ่อ กอลมเบท์”" ใน อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย เล่มที่ 79 ปี 1933. หน้า 224 - 228.
[32] อัสสัมชัญ,โรงเรียน. "อำลา อาลัย" ใน อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย เล่มที่ 82 ปี 1934. หน้า 161 - 166.
[33] อัสสัมชัญ,โรงเรียน. "อำลา อาลัย" ใน อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย เล่มที่ 82 ปี 1934. หน้า 161 - 166.
[34] เอกสารจากห้องเอกสาร มูลนิธิคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย
[35] ฟ.ฮีแลร์. จดหมายลงวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1943. ต้นฉบับเอกสารจัดเก็บอยู่ที่ ห้องเอกสาร มูลนิธิคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย
[36] ฟ.ฮีแลร์. จดหมายลงวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1943. ต้นฉบับเอกสารจัดเก็บอยู่ที่ ห้องเอกสาร มูลนิธิคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย
[37] ฟ.ฮีแลร์. จดหมายลงวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1943. ต้นฉบับเอกสารจัดเก็บอยู่ที่ ห้องเอกสาร มูลนิธิคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย
[38] เอกสารจากห้องเอกสาร มูลนิธิคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย
[39] เฉลิมวงศ์ ปีตรังสี. (2502). “ประวัติท่านเจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์” ใน อนุสรณ์งานสมโภชรับขวัญเจษฏาจารย์ ฟ.ฮีแลร์, หน้า 1 – 9.
[40] อัสสัมชัญ, โรงเรียน.”ข่าวโรงเรียน” ใน แดง - ขาว ฉบับปฐมฤกษ์ 20 ธันวาคม 2489. หน้า 40 - 42.
[41] ฟ.ฮีแลร์. จดหมายลงวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2493. ต้นฉบับเอกสารจัดเก็บอยู่ที่ ห้องเอกสาร มูลนิธิคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย
[42] เฉลิมวงศ์ ปีตรังสี. (2502). “ประวัติท่านเจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์” ใน อนุสรณ์งานสมโภชรับขวัญเจษฏาจารย์ ฟ.ฮีแลร์, หน้า 1 – 9.
[43] นายแพทย์ชุด อยู่สวัสดิ์. (2502). “แก้วตาครูในหมู่ศิษย์” ใน อนุสรณ์งานสมโภชรับขวัญเจษฏาจารย์ ฟ.ฮีแลร์, หน้า 1 – 9.
[44] สุลักษณ์ ศิวรักษ์. (2512). “ประวัติเจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์” ใน อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย ฉบับที่ระฤกวันมรณภาพครบ 1 ปี, ไม่ปรากฎเลขหน้า.
[45] สุลักษณ์ ศิวรักษ์. (2512). “ประวัติเจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์” ใน อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย ฉบับที่ระฤกวันมรณภาพครบ 1 ปี, ไม่ปรากฎเลขหน้า.
[46] สุลักษณ์ ศิวรักษ์. (2512). “ประวัติเจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์” ใน อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย ฉบับที่ระฤกวันมรณภาพครบ 1 ปี, ไม่ปรากฎเลขหน้า.