Labor Omnia Vincit : ป๋วย อึ๊งภากรณ์

Labor Omnia Vincit
โดย ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ใน อุโฆษสาร 1968 หน้า 39 - 40
อัสสัมชนิกและนักเรียนเก่าใหม่ของโรงเรียนในเครือภราดาจารย์เซ็นต์คาเบรียล คงจะคุ้นกับภาษิตลาตินข้างต้น ซึ่งแปลได้ความว่า
“สิ่งทั้งปวงเอาชนะได้ด้วยอุตสาหะ”
พวกเราโชคดีที่ได้รับการอบรมมาในร่มแห่งอุตสาหและคติดี ๆ อื่น ๆ เราจะต้องขยัน เราจะต้องมีระเบียบ เราจะต้องมีใจเที่ยงธรรม แม้แต่นักเรียนภาคฝรั่งเศสก็ยังรู้จักคำอังกฤษ “Fair Play”
คติประจำใจเป็นของสำคัญ เด็ก ๆ ก็เห็นกันจนชินตาชินใจ โตขึ้นก็หวนระลึกได้แม้เมื่อแก่ก็ปฏิบัติตามคติด้วยความเคยชินเป็นธรรมชาติ
ผมไปเจอ Labor Omnia Vincit อีกที พร้อมกับเพื่อนอัสสัมชนิกบ้าง ไม่อัสสัมชนิกบ้าง เมื่อออกจากโรงเรียนไปร่วมสิบปี ไปเจอในกองทหารอังกฤษที่เรียกว่า Pioneer Corps แปลได้ความว่า กองทหารกรุยทาง หรือ กองกรรมกร ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ใครเป็นชนสัญชาติที่ประกาศเป็นข้าศึกกับอังกฤษ เขารับไว้ในกองทหารกรุยทางนี้ กองทหารนี้ต่อมามีชื่อเสียงในการปฏิบัติงาน ทางราชการอังกฤษยกย่องให้เลื่อนชื่อเป็น Royal Pioneer Corps หรือกองราชกรรมกร
พวกผมเป็นคนไทยอยู่ในอังกฤษ อยากช่วยชาติ เพราะญี่ปุ่นยึดครองไทย ถ้าญี่ปุ่นแพ้สงครามไทยก็จะแพ้ตาม แต่ถ้าคนไทยเป็นทหารอยู่ฝายชนะบ้าง คงจะแพ้ไม่มากนัก พวกผมจึงสมัครเข้าเป็นทหารอังกฤษ เรื่องราวค่อนข้างละเอียด พวกผมจึงสมัครเข้าเป็นทหารอังกฤษ เรื่องราวค่อนข้างละเอียด ได้เขียนไว้เสริมในหนังสืออัสสัมชนิกดิเรก ชัยนาม ชื่อหนังสือ “ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2” ใครสนใจคงหาอ่านได้
ในชั้นแรก ๆ อังกฤษส่งพวกผมเข้า Pioneer Corps แต่งตัวก็เหมือนทหารอังกฤษอื่น ๆ แต่ที่หน้าหมวกมีตรา Labor Omnia Vincit อัสสัมชนิกในพวกเราจำได้อุทานว่า นั่นแน่ะ
ในไม่ช้าพวกผมก็ใช้ Labor พิชิต Omnia เช่น ใช้ความอุตสาหะเอาชนะดินแข็ง ๆ ขุดมันฝรั่ง ใช้แรงงานขัดพื้นโรงทหาร เอาชนะกับความสกปรกในส้วมทหาร และใช้ความอุตสาหะอดหลับอดนอน เฝ้ายามพิทักษ์โรงทหาร เป็นต้น
ต่อมา ความอุตสาหะของเราก็พิชิตน้ำใจของกองบัญชาการทหารอังกฤษได้ อยู่ในกองกรรมกรไม้กี่เดือน เขาก็ส่งมาอินเดีย ให้มาฝึกทำกองโจรบ้าง ฝึกเป็นจารบุรุษบ้าง เป็นผู้กระจายเสียงวิทยุบ้าง เป็นผู้ทำแผนที่เมืองไทยบ้าง ซึ่งนับว่าเป็นการเลื่อนฐานะของกองทหารเสรีไทยจากอังกฤษ แล้วต่างก็ได้เลื่อนยศจากพลทหารเป็นนายร้อย นายพัน หรืออย่างเลวก็เป็นสิบเอก Labor Omnia Vincit เห็นทันตา
ทีนี้จะหวนกลับมาเล่าถึงเมื่อผมเป็นนักเรียนอัสสัมชัญ ครูที่สอนภาษาไทยแก้พวกเราก็มีความมานะอุตสาหะค้นคว้าเอาคติของไทย หรือคำบาลีมาสั่งสอนเราหมือนกัน นัยว่าเกรงจะเฟื่องภาษาลาตินเสียหมด ต้องเอาภาษาไทยเข้ากล้ำ เช่น “อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ” “คนนั่นแหล่ะเป็นที่พึ่งแก่ตน” หรือ “ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ” “ธรรมนั่นแหล่ะโว้ยรักษาผู้ประพฤติธรรม” เป็นต้น ผมกับเพื่อน ๆ เขียนเรียงความกันเสียเมื่อยมือ ครูก็ตรวจเรียงความเสียจนท่านเมื่อยใจและอ่อนใจ เคี่ยวเข็ญพวกผมมาจนได้ดีบ้าง ไม่ได้ดีบ้าง แต่คติติดใจอยู่แทบทุกคน
ภาษิตบาลีที่ใกล้กับ Labor Omnia Vincit เห็นจะเป็น “วายเมเถว ปุริโส ยาว อุตฺถสฺส นิปฺปทา” ซึ่งแปลได้ความว่า “เป็นบุรุษพึ่งพยายามไปจนกว่าจะสำเร็จประโยชน์” พิเคราะห์ดูซื่อ ๆ ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไรนัก เพราะ Labor มันก็ต้อง Vincit ทุกอย่างไปนั่นแหล่ะ แต่มีเรื่องเล่ากันว่า อัสสัมชนิกบางคนสนใจคำว่า “ปุริโส” เป็นพิเศษ ทำไมคติบาลีจึงมุ่งแต่ปุริโส เขาก็ไขปัญหาได้โดยไม่ยากนัก หมายความว่า ถ้าเป็นผู้ชายหวังประโยชน์ในผู้หญิง ก็ต้องพยายามเทียวไป เทียวมาหน้าโรงเรียนคอนแวนต์จนกว่าจะสำเร็จประโยชน์ เรียงความฉบับนั้นนัยว่าเขียนได้ยืดยาวผิดปกติ แต่คะแนนติดลบเท่าใดไม่ปรากฏ
ทีนี้ เมื่อเราโตขึ้นสักหน่อย เกิดตั้งปัญหาถามตัวว่า พยายามน่ะเห็นไม่ยาก แต่จะพยายามไปหาแก้วอะไร มีจุดหมายปลายทางที่ไหน นอกจากหน้าโรงเรียนคอนแวนต์ในฐานที่เป็นปุริโส คำตอบเรื่องจุดหมายปลายทางสำหรับผม ปรากฏขึ้นที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งลอนดอน ซึ่งผมเข้าเป็นนักศึกษาเมื่อก่อนสงครามโลกเล็กน้อยที่วิทยาลัยนี้ เขาเชื่อแล้วว่านักศึกษาที่เข้ามาจะพยายาม เขาจึงวางคติไว้ว่า นักศึกษาที่เข้ามาจะพยายาม เขาจึงวางคติไว้ว่าพยายามเพื่ออะไร คตินั้นคือ “Rerum cognocere causas” แปลพอได้ความว่า “พึงรู้ถึงเหตุแห่งสิ่งต่าง ๆ”
ถ้าท่านผู้อ่านเอาแพะ “Labor ฯลฯ” มาชนกับแกะ “ฯลฯ causas” คงได้ความว่า พยายามเถิดอุตส่าห์เถิด เพื่อให้รู้ซึ่งในเหตุแห่งสิ่งต่าง ๆ ดูติดตาไว้จำติดใจไว้ ปฏิบัติให้ได้ตามคติ แล้วท่านเป็นนักปราชญ์ไม่ได้ ก็ไม่ใช่ความบกพร่องของสุภาษิต
สิงหาคม 2511